Bangkok Business Challenge @ Sasin เป็นการแข่งขันประกวดแผนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีภาคภาษาอังกฤษระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ของนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาโท และเป็นเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาระดับ ปริญญาโททั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แสดงศักยภาพและนำเสนอผลงานการวิจัยของตนเอง เพื่อสนับสนุนแนวคิดความ เป็นผู้ประกอบการ มุ่งหวังที่จะให้นิสิตนักศึกษาได้นำความรู้วิชาการด้านการบริหารธุรกิจ มาประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติเสมือนจริง และสามารถนำไปพัฒนาด้านการลงทุนได้อย่างแท้จริงและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
สำหรับการแข่งขัน Bangkok Business Challenge @ Sasin ในปีนี้ได้รับการสนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการจาก SCG โดยมี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย Houston Technology Center Asia กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิคเตอร์ และ Money Channel เป็นผู้ร่วมให้การสนับสนุน โดยงานนี้จะขึ้นภายใต้ชื่อ SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018 – Deep Tech Innovation
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา SCG ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม ผ่านความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) กับทุกภาคส่วน รวมถึงแสวงหาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจร่วมกับเครือข่ายสตาร์ทอัพจากทั่วโลก สู่การตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคด้วยสินค้าและบริการให้ดีขึ้น เร็วขึ้น และคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น เราจึงมองเห็นโอกาสในการร่วมขับเคลื่อนพลังความคิด และไอเดียแผนธุรกิจ ด้านนวัตกรรม Deep Tech ในการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018 ในครั้งนี้ ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจของคนรุ่นใหม่สามารถเติบโต และต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต รวมทั้งเป็นการตอบเป้าหมายของบริษัทฯ ในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของสตาร์ทอัพอีโคซิสเท็มทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียนในระยะยาวอีกด้วย และ SCG เชื่อมั่นว่าศักยภาพของคนรุ่นใหม่และความร่วมมือกับสตาร์ทอัพจะสามารถทลายข้อจำกัด และสร้างมิติใหม่ของวงการนวัตกรรมแห่งอนาคตให้เกิดขึ้นได้จริงการแข่งขันในครั้งนี้ และหวังว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าร่วมกันในอนาคต ” ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ R&D Director and Emerging Businesses Director เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าว
ซึ่งการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018 – Deep Tech Innovation ในปีนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก จากสถาบันการศึกษาชั้นนำที่เข้าร่วมแข่งขันในรอบคัดเลือกถึง 112 ทีม จาก 52 สถาบันการศึกษา ใน 16 ประเทศ จาก 4 ทวีปทั่วโลก โดยมีทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าไปสู่รอบรองชนะเลิศจำนวน 15 ทีม ประกอบด้วยสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลก จาก 9 ประเทศ ได้แก่
- Cambridge Judge Business School
- University of Cambridge สหราชอาณาจักร Middlebury Institute of International Studies at Monterey
- University of Oregon สหรัฐอเมริกา
- University of Toronto ประเทศแคนาดา
- Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์
- National Chengchi University
- National Chiao Tung University ประเทศไต้หวัน
- Queensland University of Technology ประเทศออสเตรเลีย
- S.P. Jain Institute of Management and Research ประเทศอินเดีย
- Universiti Teknologi Malaysia จากประเทศมาเลเซีย
ส่วนประเทศไทยในการแข่งขันรอบ Thailand Track Round มีทีมที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 7 ทีมจาก 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่
- สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์
โดยผู้ชนะเลิศในรอบนี้จะได้รับเงินรางวัล 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ และได้รับสิทธิ์เข้าไปแข่งขันกับ 15 ทีมในรอบรองชนะเลิศ
ด้านรางวัลการแข่งขันปี 2561 นี้ ผู้ชนะเลิศการแข่งขันจะได้รับรางวัลเกียรติคุณพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร นอกจากนี้ยังมีรางวัล H.R.H. Princess Maha Chakri Sirindhorn’s Sustainability Award จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งมอบให้กับทีมที่ชนะเลิศในการแข่งขันแผนธุรกิจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ยืนยันความสำเร็จ จากสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์
ปีตาชัย เดชไกรศักดิ์ ศิษย์เก่าสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สยามออร์แกนิค จำกัด ผู้ผลิตข้าวแจสเบอร์รี่ กล่าว “ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ Bangkok Business Challenge ในปี 2011 และยิ่งสร้างความภาคภูมิใจยิ่งขึ้นไปอีก คือตอนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศด้าน “การจุดประกายความคิด” ในการแข่งขัน The Global Entrepreneurship Summit 2016 (GES) ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นงานประชุมประจำปีของการรวมตัวผู้ประกอบธุรกิจทั่วโลก จัดโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจเพียง 150 ราย ที่ได้รับคัดเลือกจากผู้เข้าแข่งขันในปีนั้นถึง 5,000 ราย รวมผู้ก่อตั้งเฟสบุ๊ค อูเบอร์ แอร์บีแอนด์บี กูเกิ้ล รวมทั้งนักลงทุน และองค์กรภาครัฐ โดยในปีนั้นได้รับเกียรติจากประธานาธิบดี บารัค โอบามา มาเป็นประธานในงาน นอกจากรางวัลแล้วผมยังได้รับคำแนะนำการขยายธุรกิจทั่วโลกจากผู้เชี่ยวชาญซิลิคอนวัลเล่ย์ อีกทั้งได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับ KIVA ซึ่งเป็นองค์กรจัดหาเงินทุนขนาดใหญ่เพื่อช่วยด้านการลงทุนในการผลิตฟาร์มเกษตรอินทรีย์สำหรับเกษตรกรรายย่อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่วนตัวผมเชื่อว่าหัวใจสู่ความสำเร็จ – คือการมีจุดยืนและเป้าหมายที่ชัดเจน เข้าใจความต้องการของตนเองและมุ่งมั่นทำสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ สร้างเอกลักษณ์ของตนเองและไม่ลอกเลียนแบบผู้อื่น ที่สำคัญคือการดำเนินธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและประเทศชาติ”
ทั้งนี้ งาน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018 – Deep Tech Innovation จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8–10 กุมภาพันธ์ 2561 นี้ ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมงาน สามารถลงทะเบียนหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://bbc.sasin.edu หรือ bbc@sasin.edu
ประวัติความเป็นมาของการแข่งขัน
โครงการ Bangkok Business Challenge (BBC) เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2545 หรือ ค.ศ. 2002 โดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จัดการประกวดแผนธุรกิจภาคภาษาอังกฤษระดับบัณฑิต ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 20 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันฯ และครบรอบ 15 ปี แห่งการก่อตั้งหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันจะเป็นนิสิตนักศึกษาระดับมหาบัณฑิต สาขาการบริหารธุรกิจ จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในประเทศไทย โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อมุ่งหวังให้การประกวดนี้เป็นเวทีประลองความสามารถของนิสิตนักศึกษาของประเทศไทย ที่จะได้นำความรู้วิชาการด้านการบริหารธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติเสมือนจริง และสามารถนำไปพัฒนาด้านการลงทุนอย่างแท้จริงได้ในอนาคต
โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับ “รางวัลเกียรติคุณพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9” เพื่อเป็นเกียรติยศและความภาคภูมิใจให้แก่นิสิตนักศึกษาเหล่านั้น และใช้ชื่อการแข่งขันว่า Bangkok Business Challenge ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จากความมุ่งหวังเพียงเพื่อให้การประกวดนี้เป็นเวทีที่นิสิตนักศึกษาของสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ได้แสดงศักยภาพและแสดงนำผลงานการวิจัยของตนเอง
ซึ่งต่อมาผลงานเหล่านี้มีนักธุรกิจ นักลงทุนได้นำไปพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจได้จริง จึงทำให้ Bangkok Business Challenge @ Sasin ได้รับความสนใจ มีตัวแทนนิสิตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมประกวดมากขึ้น จากเวทีระดับประเทศไปสู่การแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชียและก้าวสู่การแข่งขันระดับโลกภายในปี พ.ศ. 2551 ด้วยระยะเวลาเพียง 7 ปี และได้จัดการแข่งขันขึ้น อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2550 ได้รับการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai–market for Alternative Investment) แทนหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จึงได้เปลี่ยนชื่องานเป็น “The mai Bangkok Business Challenge @ Sasin” และในปี พ.ศ. 2560 ทาง SCG ได้เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการในการจัดการประกวดแทนเอ็มเอไอเราจึงใช้ ชื่องานว่า “SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018” นอกจากนี้ เรายังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารเกียรตินาคิน (ซึ่งปัจจุบันคือกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร) Houston Technology Center Asia วิคเตอร์ และ Money Channel ที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอดนับตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของโครงการและยังคงต่อเนื่องมาถึงในปีปัจจุบัน”
รางวัลแห่งเกียรติยศและความภาคภูมิใจ
“ถือเป็นเกียรติอันสูงส่งที่การแข่งขัน Bangkok Business Challenge @ Sasin ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลเกียรติคุณเป็นการถาวร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา และในปีนี้ สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลเกียรติคุณ H.M. The King’s Award สำหรับผู้ชนะเลิศการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2008 ในปีนี้ จากเริ่มต้นโครงการที่เราจัดการแข่งขันกันระดับภายในประเทศและภูมิภาคเอเชีย ต่อมานิสิตของเราได้คว้ารางวัลชนะเลิศสร้างผลงานจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปจนสู่ระดับโลก สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ในฐานะผู้จัดงานการแข่งขันแผนธุรกิจภาคภาษาอังกฤษ Bangkok Business Challenge จึงถือเป็นความสำเร็จรวมทั้งเป็นความภาคภูมิใจ ที่ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ผลงานการวิจัยของนิสิตนักศึกษาปริญญาโทของไทยก้าวสู่ เวทีระดับนานาชาติ”