Salmon

ปรากฏการณ์ ‘แซลมอนฟีเวอร์’ หนุนไทยเป็นเป้าหมายหลักของเอเชีย

ปลาแซลมอน หรือ ที่ไทยเรามักจะเรียกสั้น ๆ แบบติดหู ว่า ปลาส้ม ซึ่งบ้านเรานิยมบริโภคปลาแซลมอนเป็นจำนวนมาก สังเกตได้จากธุรกิจร้านอาหารต่าง ๆ จะมีเมนูปลาแซลมอนประกอบอยู่ด้วยเสมอ โดยเมนูยอดนิยมที่พบได้บ่อย ๆ ได้แก่ แซลมอนซาซิมิ, แซลมอนดองซีอิ๊ว เป็นต้น ทั้งนี้อ้างอิงจากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ระบุว่า ในเดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 ไทยนำเข้าปลาแซลมอนจากนอร์เวย์มากถึง 16,100 ตัน เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน คิดเป็นมูลค่ารวม 5.4 พันล้านบาท

โดยแหล่งนำเข้าปลาแซลมอนหลักของไทย คือ นอร์เวย์ ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกปลาแซลมอนรายใหญ่ที่สุด และการส่งออกมาไทยก็ใช้เวลาเพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น โดยไทยถือเป็นตลาดหนึ่งในตลาดสำคัญของเอเชียซึ่งจะมีอัตราการเติบโตที่สูงในอนาคต

สอดคล้องกับผลการสำรวจข้อมูลของ ‘grandviewresearch’ ที่ระบุว่า ตลาดปลาแซลมอนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาดจะขยายตัวเฉลี่ย (CAGR) ในช่วงระหว่างปี 2565-2573 ที่ 13% โดย ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และไทยยังคงเป็นผู้บริโภคชั้นนำและเป็นผู้นำเข้าที่มีแนวโน้มเติบโตสูง

ทั้งนี้หากพูดถึงผู้เล่นชั้นนำวงการตลาดปลาแซลมอน ในมุมมองของ ‘Business+’ คงหนีไม่พ้น ‘Mowi ASA’ ฟาร์มปลาแซลมอนใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเรารู้จักกันในนาม Marine Harvest จากนอร์เวย์ ผู้ถือครองส่วนแบ่งตลาดอาหารทะเลเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยครองส่วนแบ่งตลาดราว 25-30% ของปลาแซลมอนและปลาเทราต์ทั่วโลก ทั้งนี้การที่บริษัทสามารถเป็นผู้นำตลาดได้นั้น เนื่องจากบริษัทมีกำลังผลิตปลาแซลมอนมากกว่า 500,000 ตันต่อปี

โดยฐานผู้บริโภคของ ‘Mowi ASA’ มีการกระจายไปทั่วยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย ส่วนในแง่ของการจัดจำหน่ายทาง ‘Mowi ASA’ ก็มีเครือข่ายที่แข็งแกร่ง ซึ่งมีทั้งช่องทางการค้าปลีกและบริการอาหาร โดยบริษัทจัดส่งผลิตภัณฑ์ไปยังร้านค้าปลีกและร้านอาหารรายใหญ่ทั่วโลก รวมถึง Walmart, Costco และ McDonald’s ด้วย

ส่วนผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี ของ ‘Mowi ASA’ พบว่า

ปี 2561 รายได้รวม 3,749.80 ล้านยูโร กำไรจากการดำเนินงาน 925.40 ล้านยูโร

ปี 2562 รายได้รวม 4,074.20 ล้านยูโร กำไรจากการดำเนินงาน 617 ล้านยูโร

ปี 2563 รายได้รวม 3,760.20 ล้านยูโร กำไรจากการดำเนินงาน 183.50 ล้านยูโร

ปี 2564 รายได้รวม 4,202.20 ล้านยูโร กำไรจากการดำเนินงาน 633.20 ล้านยูโร

ปี 2565 รายได้รวม 4,940.80 ล้านยูโร กำไรจากการดำเนินงาน 1,053.80 ล้านยูโร

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าผลประกอบการในปี 2563 ปรับตัวลงอย่างหนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจบริการอาหารอื่น ๆ ชะลอการให้บริการ เกิดการจำกัดการเดินทางและปิดพรมแดน ทำให้การขนส่งเกิดการติดขัด ส่งผลให้สูญเสียรายได้

อย่างไรก็ดีอ้างอิงข้อมูลจาก ‘globenewswire’ ระบุว่า มูลค่าตลาดปลาแซลมอนทั่วโลกจะอยู่ที่ 32,118.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2574 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 21,747.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ในช่วงระหว่างปี 2566-2574 ที่ 4.6%

สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโต มาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีการรับรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของปลาแซลมอนที่มีต่อสุขภาพ อีกทั้งยังถือเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเทศเกิดใหม่ที่ความต้องการอาหารเปลี่ยนไปเน้นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ และตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่า แล้วบ้านเรามีการส่งออกปลาไปขายยังต่างประเทศมากน้อยเพียงใด และปลาชนิดใดคือตัวสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่ง ‘Business+’ ก็ได้ทำการสำรวจข้อมูลแล้วพบว่า ปลาทูน่าถือเป็นปลาที่ส่งออกมากที่สุด โดยในปี 2561 ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าปลาทูน่าทั้งแบบสด แช่แข็ง และแปรรูป มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดในโลก ซึ่งในปี 2569 คาดอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลกจะมีมูลค่า 1.46 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ปัจจุบันปลาไทยที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ คือ ปลาสวยงาม อาทิ ปลากัด ปลาหางนกยูง ปลาทอง ปลาหมอสี เป็นต้น โดยเป็นปลาที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงของเกษตรกร มีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 700 ล้านบาทต่อปี สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าแม้ไทยจะไม่ได้มีส่วนร่วมในวงการตลาดปลาแซลมอนที่ทุกคนทั่วโลกนิยมบริโภค เนื่องจากสภาพแวดล้อมบ้านเราไม่อำนวยกับการเพาะเลี้ยงปลาแซลมอน แต่ไทยก็ถือเป็นผู้ที่ส่งออกปลาทูน่าระดับโลกแค่คนละชนิดกันเท่านั้นเอง โดยอุตสาหกรรมอาหารทะเลยังมีแนวโน้มเติบโตอีกมากในอนาคต หลังพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทุกคนเริ่มให้ความสนใจ

.

ที่มา : globenewswire, jgourmet, grandviewresearch, hl, seekingalpha, thaibicusa

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

.
#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ปลาแซลมอน #แซลมอน #มูลค่าตลาดปลาแซลมอน