Salary_400

วิเคราะห์นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศจะมาพร้อมผลกระทบอะไรบ้าง?

ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลไทยกำลังผลักดันการเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยตั้งเป้าหมายต้องขึ้นค่าจ้างให้ได้ 400 บาทต่อวัน ทั่วประเทศภายในปีนี้ ซึ่งถูกประกาศใช้ไปแล้วกับ 10 จังหวัดท่องเที่ยว ช่วงวันที่ 13 เมษายน 2567 และในปี 2570 จะปรับขึ้นไปให้ถึงในอัตรา 600 บาท ซึ่งจะเป็นการทยอยปรับขึ้นเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้

ซึ่งการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำนั้น จริง ๆ แล้วจะต้องถูกกำหนดจากความเสมอภาค เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ และลูกจ้างมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังต้องช่วยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศเพื่อให้เกิดการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP)

ดังนั้น การปรับค่าแรงขั้นต่ำจึงต้องพิจารณาด้วยหลายปัจจัย ทั้งดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละท้องถิ่น และสภาพการณ์โดยทั่วไปของประเทศในขณะนั้น

และยังต้องผ่านการพิจารณากับ 3 ฝ่ายที่เป็นตัวแทน คือ

– ฝั่งฝ่ายนายจ้าง : ซึ่งจะพิจารณาความสามารถในการจ่าย เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ

– ฝ่ายลูกจ้าง : ซึ่งจะพิจารณาปัจจัยด้านค่าครองชีพและค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อเพียงพอต่อการดำรงชีวิต

– ฝ่ายรัฐ : ซึ่งจะร่วมพิจารณาและกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างอยู่รอดได้ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น

ซึ่งสูตรการคำนวณการปรับค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละครั้ง คือ ค่าแรงขั้นต่ำ = ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน + (ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน X (อัตราเงินเฟ้อ + % GDP ที่ขึ้นระหว่างปี)

โดยเมื่อต้นปี 2567 ไทยมีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในอัตรา 330–370 บาทต่อวัน และเมื่อมองไปส่วนเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัวลง และ GDP ที่เติบโตช้า ผลลัพธ์ออกมาก็จะยังห่างไกลกับ 400 อยู่พอสมควร แม้เป็นจังหวัดภูเก็ตที่มีฐานค่าแรงเดิมสูงสุดที่ 370

นอกจากนี้ เมื่อเรามาวิเคราะห์ว่า ค่าแรงของไทยหากนำไปเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกันจะเป็นอย่างไร? ซึ่งจากข้อมูลเราจะเห็นได้ว่าค่าแรงไทยค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานใกล้เคียงกับเรา

โดยค่าแรงของไทยในปัจจุบันเฉลี่ยราว (330-370 บาท) อยู่ในลำดับที่ 5 ของอาเซียน แต่หากปรับขึ้นเป็น 400 บาท ค่าแรงของไทยจะขึ้นไปสู่ลำดับที่ 3 แซงอินโดนีเซียและมาเลเซีย เป็นรองแค่เพียงสิงคโปร์ และบรูไน

ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งมาก ๆ และยังเป็นประเทศที่ให้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ กับนักลงทุนเพื่อให้ต้นทุนส่วนอื่นต่ำมาก ๆ ทดแทนกับต้นทุนค่าแรงงานที่สูงได้ (สิงคโปร์มีโครงสร้างพื้นฐานที่โดดเด่นมาก ๆ จนเคยถูกจัดอันดับเป็นประเทศน่าลงทุนมากที่สุดในโลก ส่วนบรูไนมีทรัพยากรที่สำคัญมาก ๆ อย่างน้ำมัน)

แต่สำหรับประเทศไทยแล้วนั้น เป็นประเทศที่เทคโนโลยีการผลิตยังค่อนข้างต่ำ โครงสร้างพื้นฐานยังแพ้สิงคโปร์ ดังนั้น หากเราต้องการปรับให้ค่าแรงสูงก็ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือมีสิทธิ์ประโยชน์อื่น ๆ ให้สมดุลกันผู้ผลิตจึงจะอยู่ได้

ดังนั้น ‘Business+’ มองว่า การเพิ่มค่าแรงเป็น 400 บาททั่วประเทศนั้น อาจยังไม่สอดคล้องกับภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่เผชิญกับเศรษฐกิจชะลอตัว แต่อาจเหมาะกับเพียงจังหวัดที่เป็นเมืองเศรษฐกิจเท่านั้น

เพราะค่าแรงเพิ่มขึ้นก็จะเริ่มกระทบกับกลุ่มธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นเป็นอันดับแรก เช่น ภาคการเกษตรและภาคบริการ และเมื่อต้นทุนค่าแรงสูงขึ้นก็จะทำให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ลดจำนวนแรงงานลง หรือเกิดการชะลอการลงทุนในระยะสั้น นำไปสู่การเลิกจ้างงานคน

นอกจากนี้ ผลกระทบอีกด้านคือ เมื่อต้นทุนค่าแรงของไทยสูงกว่าเพื่อนบ้านก็จะยิ่งทำให้การลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยิ่งชะลอตัวลง และกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ถึงแม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อแรงงานไทยมากนัก เพราะภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้แรงงานจากต่างด้าว แต่หากค่าแรงของต่างด้าวสูงขึ้นก็จะทำให้เกิดการเรียกร้องค่าแรงที่สูงขึ้นในที่สุด

ประเด็นสุดท้ายนี้ ‘Business+’ มองว่า ประเทศไทยสามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้เพื่อช่วยเหลือแรงงานในภาวะเงินเฟ้อ เพียงแต่ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ รัฐบาลต้องมีการออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่่าแรงขั้นต่ำในส่วนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการโดยเร็วที่สุด และจริง ๆ แล้ว การเพิ่มทักษะแรงงานก็สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เช่นกัน

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : กระทรวงแรงงาน
ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
#thebusinessplus #BusinessPlus #SET #ค่าแรง #ค่าแรงขั้นต่ำ