sabuy

‘สบาย เทคโนโลยีฯ’ Tech company ของไทยยังไปได้อยู่ไหม? วิเคราะห์สภาพคล่องผ่านงบการเงิน 3 ส่วน

เมื่อต้นเดือน มิ.ย. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ออกแจ้งเตือนนักลงทุนเกี่ยวกับข้อมูลงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2567 ของ บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) ที่ขาดทุนในไตรมาส 1 เกือบ 2 พันล้านบาท (ขาดทุนสุทธิ -1,960.72 ล้านบาท) ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่น่าตกใจ เพราะในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ แห่งนี้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มาจนกระทั่งถึงปี 2566 เริ่มเห็นการขาดทุน แต่ในปีนั้นก็ขาดทุนเพียงแค่ 189 ล้านบาทเท่านั้น

โดยในงบการเงินของไตรมาส 1/67 ที่พลิกขาดทุนมากขนาดนั้น ทาง ‘Business+’ พบข้อมูลว่า SABUY ได้บันทึกขาดทุนจากการขายเงินลงทุน บริษัท ดับเบิ้ลเซเว่น (DOU7) มากถึงเกือบ 1 พันล้านบาท (ตัดขายขาดทุน) หลังจากเข้าลงทุนได้เพียงแค่ 2 ปี ซึ่ง DOU7 เป็นบริษัทที่ SABUY ได้เข้าไปลงทุนในปี 2565 โดยบริษัทแห่งนี้ทำธุรกิจบริหารจัดการพื้นที่การพาณิชย์ ที่คุ้นหูก็คือ TRUE Shop ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ เช่น Big C, Tesco Lotus, Robinson)

และยังมีเรื่องของความกังวลในกรณีที่ SABUY อาจสูญเสียอำนาจควบคุมใน สบาย คอนเน็กซ์ เทค SBNEXT บริษัทย่อยที่ SABUY ถือหุ้นอยู่ 24.92% ซึ่งอยู่ในตลาดหุ้นเหมือนกัน จากการละเมิดข้อตกลงตามสัญญา ซึ่ง สบาย คอนเน็กซ์ เทค เองในไตรมาส 1/67 ก็ขาดทุนสุทธิไปมากถึง 93.15 ล้านบาทเช่นกัน โดยในเรื่องนี้เรายังคงต้องติดตามกันต่อว่าจะออกมาชี้แจงกับ ตลท.อย่างไร เพราะการเสียอำนาจควบคุมนั้นจะส่งผลกระทบต่อการบริหารและการบันทึกบัญชีต่อ SABUY

แต่ก่อนอื่นเรามารู้จักบริษัท สบาย กันก่อนที่จะลงลึกในแง่ของฐานะการเงินปัจจุบัน โดย SABUY เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่สร้างระบบแพลตฟอร์มมากมายอย่างเป็น Ecosystem พูดง่าย ๆ ก็คือเป็น Tech Company ที่ขาย Solution ด้าน IT ให้กับธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบที่ใช้ในฟู้ดคอร์ต ระบบ Payments & Wallet หรือระบบบริหารทรัพยากรบุคคล รวมถึงบัญชี ซึ่งบริษัทแห่งนี้เดิมทีมีจุดเริ่มต้นจากการทำ “ตู้เติมเงินหยอดเหรียญ” โดยใช้ชื่อแบรนด์ตอนนั้นว่า “เอเจเติมสบาย” และต่อยอดไปสู่ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติในชื่อ“เวนดิ้ง พลัส” จนปัจจุบันมีธุรกิจด้าน IT มากมาย และยังเข้าลงทุนในหลายๆบริษัทอีกด้วย

ทีนี้มาวิเคราะห์สภาพคล่องของ SABUY ผ่านงบการเงิน 3 ส่วน เริ่มต้นที่งบกำไรขาดทุน

SABUY

จะเห็นได้ว่าจริงๆแล้วตั้งแต่ปี 62 บริษัทสร้างกำไรได้สูงขึ้นเกือบเท่าตัวในทุก ๆ ปี โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ปี  2562-2565 โดยเฉพาะปี 2564 ที่เริ่มเติบโตเป็นเท่าตัว โดยมีธุรกิจที่โดดเด่นคือเติมเงินผ่านตู้เติมเงิน และขายบริการระบบฟู้ดคอร์ตที่มีลูกค้ามากขึ้น ขณะที่ยังรับรู้รายได้จากการเข้าลงทุนให้บริษัทอื่น ๆ

ส่วนในปี 2565 เป็นปีที่เราได้เห็นการเติบโตก้าวกระโดดอีกครั้ง จนกำไรสุทธิแตะระดับ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งเกิดจากการที่รายได้จากการขายเพิ่มสูงขึ้นจากการเข้าลงทุนในหลาย ๆ บริษัท โดยในปี 65 รายได้ของกลุ่มสบายมาจากบริษัทหลักถึง 16 บริษัท (จากเดิมมีเพียง 5 บริษัทหลัก) ยกตัวอย่างรายได้หลักที่บริษัทเข้าไปลงทุน เช่น  รายได้จากบริษัทขายเครื่องกรองน้ำ TSR , SABUY Alliances

อย่างไรก็ตามในปี 2566 เริ่มเป็นปีแรกที่บริษัทขาดทุน ถึงแม้จะมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นถึง 80% แต่มาขาดทุนหลังจากการขายเงินลงทุนในบางบริษัทออกไป (ขายขาดทุน) ส่งผลให้บริษัทต้องรับรู้การขาดทุนจากการเข้าลงทุน รวมไปถึงยังต้องมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญจากการที่เพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อลูกหนี้รายย่อยเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนในไตรมาส 1 เป็นช่วงที่ขาดทุนสุทธิไปเป็นจำนวนมาก ถามว่าไตรมาสนี้ขาดทุนมากแค่ไหน ต้องบอกว่าอ่วม! เพราะปี 2566 ทั้งปียังขาดทุนไปแค่ 189 ล้านบาท จนทำให้คุณชูเกียรติ ผู้ก่อตั้ง ลาออกจากตำแหน่ง CEO ไปเมื่อเดือน มี.ค.เพราะรับผิดชอบกับผลงานที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่เคยบอกกับนักลงทุนเอาไว้

ซึ่งการขาดทุนไตรมาสนี้คล้ายกับในปี 2566 นั่นคือ บริษัทฯ ต้องบันทึกรับรู้ผลขาดทุนจากการขายเงินลงทุน โดยในครั้งนี้เป็นเงินลงทุนในบริษัท ดับเบิ้ลเซเว่น (DOU7) ด้วยตัวเลขมากถึง 995.60 ล้านบาท และการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนในเงินลงทุน สบาย คอนเน็กซ์ เทค (SBNEXT) จำนวนเงิน 575.60 ล้านบาท  จากการที่มีข้อบ่งชี้ว่าบริษัทอาจสูญเสียอำนาจการควบคุมในบริษัทย่อยในไตรมาสที่ 2 นี้ อีกทั้งยังต้องรับรู้ผลขาดทุนจำนวน 173.36 ล้านบาท ในเงินลงทุน Citysoft, Ocapital, Sabuy alliance,Oops network & Redhouse

โดยรวม ๆ แล้ว บริษัทฯ ต้องเจ็บตัวจากการบันทึกผลขาดทุนจากการตัดขาย รวมถึงตั้งด้อยค่าในบริษัทที่เข้าลงทุนไปมากถึง 1.74 พันล้านบาทแสดงให้เห็นว่าถึงแม้ว่าการเข้าลงทุนในหลากหลายธุรกิจจะส่งผลดีกับบริษัทในช่วงที่ผ่านมาจนทำให้ในปี 2565 บริษัทจะสร้างกำไรสุทธิได้มากมาย แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดทุนจากเงินลงทุนและการด้อยค่า หากบริษัทเหล่านั้นมีมูลค่าที่ต่ำลงกว่าตอนเข้าไปลงทุน

นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากลัวคือ รายได้จากการขายของบริษัทในไตรมาสนี้ก็หดตัวเช่นกัน (ไม่เหมือนกับปี 65 ที่รายได้เพิ่มแต่ขาดทุนจากการด้อยค่า และขาดทุนจากเงินลงทุนจนพลิกขาดทุน) โดยบริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 1.89 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25.4% นั่นแสดงให้เราเห็นว่า ขณะนี้ SABUY อาจจะไม่สบายอีกต่อไปแล้ว เพราะอัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรสุทธิของบริษัทขณะนี้ติดลบไปถึง 121% จากการขาดทุนครั้งนี้ และการตัดขายเงินลงทุนไปนั้น ก็จะทำให้รายได้จากการลงทุนเข้าไปถือบริษัทต่าง ๆ ลดลงไปตามสัดส่วนที่ขายออกไปด้วยเช่นกัน

งบฐานะการเงิน (ณ วันที่ 31 มี.ค.2567)

SABUY

ในส่วนของสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 อยู่ที่ 17,615 ล้านบาท ลดลง 3.23 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 15% จากวันที่ 31 ธันวาคม2566 โดยมีสาเหตุหลักมาจาก

  • การขายเงินลงทุนใน DOU7 จำนวน 1,335.63 ล้านบาท
  • การรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจำนวนเงิน 748.96 ล้านบาท

ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดที่แสดงในงบฐานะการเงินคือ ปัจจุบันบริษัทมีขาดทุนสะสม 3,084.06 ล้านบาท หลังจากขาดทุนสุทธิในปี 2566 และไตรมาส 1/67 ที่ผ่านมา ซึ่งการขาดทุนสะสมนี้จะส่งผลเสียคือ บริษัทฯ จะไม่สามารถจ่ายปันผลได้ และทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงอีกด้วย

ขณะที่กระทบไปยัง ส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ 7,750.39 ล้านบาท ลดลงไปมากกว่า 3.21 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 29.31% จากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 หลังจากมีการซื้อหุ้นคืน และเจอกับผลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าการที่ส่วนทุน (ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง) ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัทฯ โดย SABUY มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.27 เท่า จากหนี้รวมที่เพิ่มขึ้น และส่วนของผู้ถือหุ้นที่ลดลง

และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อดูไปถึงหนี้สินระยะสั้น พบว่าขณะนี้ บริษัทฯ มีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน โดยมีสินทรัพย์หมุนเวียน 3,654.75 ล้านบาท แต่มีหนี้สินหมุนเวียนมากถึง 5,794.60 ล้านบาท

โดยสินทรัพย์หมุนเวียน คือ สินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี เช่น ธนบัตร หรือเช็คที่ถึงกำหนดขึ้นเงินแล้ว หนี้สินหมุนเวียนคือหนี้สินระยะสั้นที่ต้องชำระภายใน 1 ปี เช่น เงินเบิกเกินบัญชี เจ้าหนี้การค้า ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย การมีหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน จึงแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ระยะสั้นสูงมาก เพราะต่อให้นำสินทรัพย์ระยะสั้นไปขายมาเป็นเงินสดก็ยังใช้หนี้สินระยะสั้นไม่ครบอยู่ดี

จะเห็นได้ว่า เมื่อวิเคราะห์จากงบฐานะการเงินแล้ว เราพบว่าอัตราส่วนสภาพคล่องของบริษัทลดลง และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น บ่งบอกถึงทิศทางว่าขณะนี้สภาพทางการเงินบริษัทเริ่มแย่ลง มีหนี้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับทุน จึงมีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้มากขึ้นนั่นเอง

งบกระแสเงินสด (ณ วันที่ 31 มี.ค.2567)

SABUY

  • เงินสดสุทธิได้มาจาก (ใช้ไปใน) กิจกรรมดำเนินงาน 327.08 ล้านบาท โดยที่เงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานเป็นบวก แสดงให้เห็นว่าบริษัทยังสามารถสร้างเงินเข้าได้มากกว่าเงินที่จ่ายออกไป
  • เงินสดสุทธิได้มาจาก (ใช้ไปใน) กิจกรรมลงทุน 353.42 ล้านบาท โดยเงินสดจากกิจกรรมการลงทุนเป็นบวก เพราะในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้รับเงินสดจากการขายบริษัทที่เข้าไปลงทุน
  • เงินสดสุทธิได้มาจาก (ใช้ไปใน) กิจกรรมจัดหาเงิน -881.76 ล้านบาท โดยเงินสดสุทธิจากกิจกรรมจัดหาเงินเป็นลบ แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีการจ่ายคืนเงินกู้ มากกว่าเงินสดรับจากการกู้ยืมเงิน และเงินสดรับจากการเพิ่มทุน

ซึ่งภาพรวมของงบกระแสเงินสดทั้งหมดยังเป็นบวก นั่นเป็นเพราะว่าการด้อยค่าและการบันทึกผลขาดทุนจากเงินลงทุนนั้นจะปรากฏอยู่ในงบการเงิน และงบฐานะการเงินแต่ไม่กระทบกับงบกระแสเงินสด

บทสรุป ในมุมมองของ Business+  ในแง่ของการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลักของ SABUY ถือว่าเป็นขาลงจากรายได้ที่หดตัว ดังนั้น บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องมองหาแหล่งรายได้ใหม่ที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต เพราะจะหวังพึ่งพาเพียงรายได้ขาย Solution IT หรือตู้เติมเงินแบบเดิม ๆ ไม่ได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาอย่างรวดเร็วทำให้บริษัทหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น

ส่วนการเข้าลงทุนในบริษัทต่าง ๆ นั้น ควรคำนึงถึงการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว และประเมินความเสี่ยงให้รอบคอบ เพราะถึงแม้การตัดขายขาดทุนและการตั้งสำรอง อาจเกิดเพียงครั้งเดียวแต่ก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในบริษัทฯ และการปันผลก็มีผลต่อนักลงทุน

นอกจากนี้ การขาดทุนจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมายังทำให้มูลค่าของ SABUY ลดลง และมีผลต่อกลุ่มบริษัทที่เข้ามาลงทุนใน SABUY อย่างเช่น บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MGI) ที่เพิ่งเข้าลงทุนสด ๆ ร้อน ๆ ในเดือนเมษายน ด้วยราคา 4.5 บาท แต่ราคาปัจจุบันคือ 1.01 บาท ซึ่งหากทำ Mark to market หรือคำนวณมูลค่าตามราคาปัจจุบันจะมีผลขาดทุนจากส่วนต่างราคาหุ้นถึง 78%

หรือแม้กระทั่งบริษัท Lightnet Pte. Ltd ซึ่งอยู่ใต้การบริหารของตระกูลเจียรวนนท์ ที่เคยจะขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ด้วยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ SABUY ก็อาจจะได้รับผลกระทบในแง่เดียวกัน เพราะราคาเสนอขายอยู่ที่หุ้นละ 2.30 บาทต่อหุ้น สูงกว่าราคาในปัจจุบันเช่นกัน

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ SABUY ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/sabuy-5/

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : SET
ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS