S Spine and Nerve Hospital The Leading Orthopedic Specialist Formula 1 ของโรงพยาบาลเฉพาะทางอันดับ 1

The Success Story of The Month By ‘Business+’ฉบับเดือนพ.ค. 2567 จะพาผู้อ่านมาพบกับบทสัมภาษณ์สุดพิเศษจาก นายแพทย์ดิตถพงษ์ บุญอำพล ศัลยแพทย์และผู้บริหาร โรงพยาลาล เอส สไปน์ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง ที่ได้เปิดเผยถึงความสำเร็จด้วย 4 Key Success Factors ของโรงพยาบาลเอาไว้อย่างน่าสนใจ

ว่ากันว่า ธุรกิจโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนและเอกชนที่อัพเกรดตัวเองมาตั้งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง มีแนวโน้มการให้บริการเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 9/11 เป็นต้นมา “ประเทศไทย” กลายเป็น Top 5 ของโลกในแง่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยไปแล้ว

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เกิดจากกลุ่มเป้าหมายนี้ เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาดีจากทั่วโลก ฐานะปานกลางถึงสูง สนใจแนวโน้มการใส่ใจในสุขภาพ ทั้งสุขภาพทางกายและทางจิตใจ เพื่อการเตรียมตัวป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วย โดยพร้อมจะจ่ายเงินเพิ่มในการซื้อสินค้าและบริการที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้นทุกปี

แน่นอนว่า เมื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยกลายเป็น “สินค้าส่งออก” ตัวใหม่ เราจึงได้เห็นการเปิดตัวของโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลเฉพาะทางมากขึ้นเช่นกัน

ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ เราได้เห็นถึงกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นจริงของรูปแบบการทำตลาดในเชิงรุกแบบใหม่ของธุรกิจโรงพยาบาล และเราก็ค้นพบดาวดวงใหม่ที่มีแนวคิดและวิธีการของโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ดีที่สุดในปัจจุบัน นั่นก็คือ โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ โดยบริษัท เอ็น.พี. เมดิคอล จำกัด

โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาทแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาเพียง 7 ปี ที่ว่ากันว่าผ่าตัดผู้ป่วยกระดูกและสันหลังไปมากกว่า 10,000 เคส โดยผู้ก่อตั้งโรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ คือ นายแพทย์ดิตถพงษ์ บุญอำพล ศัลยแพทย์และผู้บริหาร รพ.เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง เอส สไปน์ บริษัท เอ็น.พี. เมดิคอล จำกัด
ที่มีวิธีคิดและการทำงานต่างไปจากโรงพยาบาลเฉพาะทางอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัดเจนที่สุด

นายแพทย์ดิตถพงษ์ นำองค์ความรู้ที่ร่ำเรียนมาจนสร้างเป็น New Game ของตัวเองจนกล่าวได้ว่า โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ คือ Formula 1 ของโรงพยาบาลเฉพาะทางอันดับ 1

Business+ พร้อมจะถ่ายทอดบทสัมภาษณ์พิเศษ นายแพทย์ดิตถพงษ์ บุญอำพล ในทุก ๆ มิติ และเราก็กล้ารับประกันถึงจุด “แตกต่าง” และกลยุทธ์ “ท้าพิสูจน์” บน Keyword ที่ว่า “แผลเล็ก ไม่ต้องพักฟื้นนาน” ซึ่งเป็นวิธีคิดที่แยบยลจริง ๆ

หากมองระบบบริการสุขภาพของเมืองไทย แม้เวลาจะล่วงมากว่า 3 ทศวรรษแล้วก็ตาม เรายังคงพบว่า การรักษาพยาบาลจำแนกออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

1. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ เป็นระดับบริการที่ถูกออกแบบให้เป็นด่านหน้าที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ให้บริการในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจสุขภาพ และรักษาผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อยๆ

2.ระบบสุขภาพทุติยภูมิ เป็นการรักษาที่ต่อยอดมาจากระบบปฐมภูมิ ให้การดูแลรักษาโรคซับซ้อนขึ้นจากบริการที่ปฐมภูมิไม่สามารถดูแลได้ และ 3. ระบบสุขภาพตติยภูมิ เป็นระบบการดูแลรักษาสุขภาพที่รวมทั้งหมดของปฐมภูมิและทุติยภูมิ แต่มีการต่อยอดมาถึงการวินิจฉัยและรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ และต้องการเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีเฉพาะทาง

ในขณะที่ หากมองในมิติของประชากรศาสตร์ในปัจจุบัน และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้คนในสังคมกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพมากขึ้น ทั้งโรคอุบัติใหม่ โรคเรื้อรัง และโรคที่มีความซับซ้อน นั่นทำให้ Landscape ของระบบบริการสุขภาพต้องปรับเปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์ผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน โดยเน้นเป็นการรักษาเฉพาะทางมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลเอกชนที่มุ่งพัฒนาสู่การเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางและเน้นการรักษาโรคที่ซับซ้อนที่นับวันจะเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ หรือในแง่หนึ่งก็เพื่อแก้ Pain Point ข้างต้น และอีกแง่หนึ่งเพื่อเป็นการสร้างโอกาสและจุดแข็งให้กับโรงพยาบาลท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดไม่แพ้ธุรกิจอื่น ๆ นั่นเอง

และท่ามกลางการแข่งขันในตลาด ชื่อของ “โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ” หรือ S Spine and Nerve Hospital คือหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางที่น่าจับตามอง ทั้งในฐานะโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาทแห่งแรกในประเทศไทย และในฐานะ The Leading Orthopedic Specialist  ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อชั้นนำ ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาเพียง 6 ปี ที่ว่ากันว่า ผ่าตัดผู้ป่วยกระดูกและสันหลังไปมากกว่า 10,000 เคส

นายแพทย์ดิตถพงษ์ บุญอำพล ศัลยแพทย์และผู้บริหาร รพ.เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง เอส สไปน์ บริษัท เอ็น.พี. เมดิคอล จำกัด หัวเรือใหญ่ของโรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เล่าให้ Business+ ฟังว่า “ธุรกิจโรงพยาบาล เราสามารถแบ่งกลุ่มการบริการสุขภาพของไทยออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และโรงพยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งการมองภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาล เราต้องพูดกันถึงเรื่องประชากรศาสตร์และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก และพบว่าประชากรไทยมีอายุเฉลี่ยมากขึ้น และอายุที่มากขึ้น นั่นหมายถึงโอกาสที่จะเจ็บป่วยก็มากขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่เทคโนโลยีการรักษาโรคก็มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนามากขึ้นเช่นเดียวกัน

และเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลในแต่ละระดับต่างกัน สำหรับโรงพยาบาลรัฐ แน่นอนว่า ด้วยงบประมาณที่จำกัดทำให้ไม่สามารถรองรับทั้งจำนวนผู้ป่วยและการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ได้มากนัก ส่วนโรงพยาบาลเอกชน เราพบว่า จำนวนผู้ป่วยที่มาใช้บริการจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และถ้ากำลังซื้อของประเทศดี โรงพยาบาลเอกชนจะเติบโตตาม

แต่จริง ๆ แล้ว ธุรกิจโรงพยาบาลและบริการทางด้านสุขภาพของเมืองไทย จุดเปลี่ยนเริ่มจากเหตุการณ์ 9/11 ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของการรักษามายังเอเชีย ลูกค้าหรือคนไข้ที่เคยมองหาการรักษาทางการแพทย์ในสหรัฐฯ และยุโรป ได้เบนเข็มมายังเอเชีย และประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีพื้นฐานการรักษาทางการแพทย์ที่ดี ค่ารักษาพยาบาลที่ไม่สูงมากนัก ถูกกว่าสิงคโปร์ 2 เท่า และถูกกว่าอเมริกาถึง 10 เท่า รวมถึงการบริการต่าง ๆ ซึ่งล้วนตอบโจทย์ และนั่นทำให้ไทยกลายเป็น Medical Tourism Hub มาตั้งแต่ตอนนั้น

และส่งผลให้ไทยเป็นเกตเวย์ที่เปิดกว้างทางการแพทย์ จาก “ดีมานด์” จำนวนมากที่หลั่งไหลเข้าไทย ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย ซึ่งยังมีระบบบริการทางการแพทย์ตามหลังไทย จึงทำให้การมาใช้บริการทางการแพทย์ในไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่สำคัญ ส่งผลทำให้ไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางในการรักษาของประเทศในแถบ CLMV ไปโดยปริยาย และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้โรงพยาบาลเอกชนในไทยเกิดการขยายตัวนั่นเอง”

นพ.ดิตถพงษ์ ยังได้ฉายภาพของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้ชัดขึ้นไปอีกว่า “การขยายตัวของโรงพยาบาลเอกชนที่เกิดขึ้นในระยะที่ผ่านมานั้น จนเกิดเทรนด์ที่สำคัญอย่างหนึ่งนั่นคือ การรักษาแบบเฉพาะทาง เนื่องจากผู้ป่วยต้องการหมอที่เก่งที่สุด โรงพยาบาลที่ดีและรักษาได้ตรงจุดที่สุด และทำให้เกิดการขยายตัวของโรงพยาบาลเฉพาะทางตามมา

“S Spine and Nerve Hospital” Formula 1 ของ รพ.เฉพาะทาง

ถ้าพูดถึงโรงพยาบาลเฉพาะทางแล้ว ในปัจจุบันพบว่ามีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งโรงพยาบาลเฉพาะทางหู ตา คอ จมูก, โรงพยาบาลเฉพาะทางโรคหัวใจ, โรงพยาบาลเฉพาะทางโรคมะเร็ง รวมถึงโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาทแห่งแรกของไทย อย่างโรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ โดยบริษัท เอ็น.พี. เมดิคอล จำกัด ที่ก่อตั้งโดย นพ.ดิตถพงษ์

“โรงพยาบาลเฉพาะทางแห่งนี้ เป็นความฝันของหมอ ผมเชื่อว่าหมอทุกคนมีความฝันลึก ๆ ว่าอยากทำ โรงพยาบาลเฉพาะทางที่ได้ทำในสิ่งที่พวกเราได้ไปร่ำเรียนมา และการได้ทำโรงพยาบาลที่รักษาโรคกระดูกสันหลังและระบบประสาทที่ดีที่สุดในประเทศไทย คือความฝันของผม” นพ.ดิตถพงษ์ กล่าวถึงที่มาของโรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ

อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาเป็นโรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาทอย่างในปัจจุบันนั้น นพ.ดิตถพงษ์ เริ่มต้นด้วยการเปิดเป็นคลินิกเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังขึ้นก่อน เพื่อเป็นการทดลองตลาด โดยมีการนำเทคนิคการผ่าตัดกระดูกสันหลังและระบบประสาทอย่าง MIS Spine ที่ได้ร่ำเรียนมาจากทั้งทางฝั่งอเมริกา ยุโรป และเกาหลีใต้ เปิดให้บริการรายแรกในเมืองไทย

“ในสมัยนั้นถือเป็นเทคนิคการรักษาแบบใหม่ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในเมืองไทย และถ้าจะกล่าวว่า ผมคือคนแรก ๆ ที่นำเทคนิค MIS Spine เข้าสู่เมืองไทย ก็คงไม่ผิดนัก ซึ่งโดยปกติแล้วในการผ่าตัดเปิดกระดูกสันหลังแบบดั้งเดิม จะเป็นการเปิดแผลขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถมองเห็นบริเวณที่จะทำการผ่าตัดได้ชัดเจน แต่ก็ทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อใกล้เคียงได้รับความเสียหาย ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลนาน

แต่สำหรับ MIS Spine (Minimally Invasive Spine Surgery) ที่ผมนำให้บริการนั้น เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็กและใช้เครื่องมือและเทคนิคแบบใหม่ ทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อได้รับความเสียหายน้อยกว่า ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย แผลเล็ก ความเจ็บปวดหลังการรักษาลดลง การนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้นลง ฟื้นตัวเร็ว ในขณะที่ผลการรักษาเท่ากัน

โดยในหัวตอนนั้นเป้าหมายของเราคือ การเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางตั้งแต่แรก แต่ด้วยเทคนิคการรักษาซึ่งเป็นสิ่งใหม่ จึงต้องทดลองตลาดก่อน เพราะถ้าสร้างโรงพยาบาลเลย แล้วกระแสตอบรับไม่ดี ผมเจ๊งแน่ เพราะการเปิดโรงพยาบาลต้องใช้เงินลงทุนหลักพันล้านบาท” นพ.ดิตถพงษ์ เล่าย้อนอดีตให้ฟัง

เพียง 6 เดือน หลังจากทดลองเปิดคลินิกเพื่อทดลองตลาด จุดที่สร้างความมั่นใจว่าสามารถไปต่อได้คือ กระแสของคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการดีมาก นั่นเพราะช่วงนั้นโรคฮิตอย่าง office syndrome โรคยอดฮิตของคนทำงาน และหลายคนก็รักษาไม่หาย โดยชื่อของโรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ ก็เป็นตัวเลือกของการรักษาอันดับต้น ๆ

ด้วยการรักษาที่มีความแม่นยำ อาศัยเทคโนโลยีที่ดีที่สุด คือ จุด “แตกต่าง” จากโรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เทียบกับคู่แข่ง และจาก  Keyword ที่ว่า “แผลเล็ก ไม่ต้องพักฟื้นนาน” เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ “ท้าพิสูจน์” ซึ่งเป็นวิธีคิดทางด้านการตลาดของที่ใช้ได้ผลมาจนถึงปัจจุบัน

และไม่เพียงเทคนิคการรักษาแบบใหม่เท่านั้น แต่โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ ยังมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือทางการแพทย์เฉพาะทาง และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เน้นประสิทธิภาพในการรักษา ทำให้ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นจนกลายเป็นการบอกต่อแบบปากต่อปาก ส่งผลให้โรงพยาบาลกลายเป็นที่รู้จักและมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งการเกิดขึ้นของโรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ ยังถือเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการรักษาโรคกระดูกสันหลังและระบบประสาทในไทยอีกด้วย

“หมอบางคน เขาอาจจะเรียนมา เพื่อขับรถ Formula 1 แต่รถที่มีให้เขาอาจเป็นซุปเปอร์คาร์ธรรมดา เปรียบเทียบเหมือนหมอเฉพาะทาง แต่ต้องอยู่ใน รพ.ทั่วไป เครื่องไม้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ อาจไม่ตอบโจทย์ แต่เราคือ Formula 1 เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ทั้งเทคโนโลยี เครื่องมือทางการแพทย์ และทีมงานพร้อมสนับสนุนให้หมอทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นี่คือสิ่งที่ทำให้เราแข็งแกร่ง ในสนามแข่งใครที่พร้อมมากกว่าก็จะเป็นผู้ชนะ ซึ่งลูกค้าจะเป็นคนเลือกเอง”

Key Success Factors กับ 4 ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

ไม่เพียงเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาทแห่งแรกในไทยเท่านั้น แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 7 ปี โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เรียกได้ว่ายืนหนึ่งมาโดยตลอด ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ อะไรคือ Key Success Factors ที่ทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้ประสบความสำเร็จ

ปัจจัยที่ทำให้โรงพยาบาลประสบความสำเร็จนั้นมาจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ แพทย์ เครื่องมือและเทคโนโลยี Resource และวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร

  1. แพทย์ จะเห็นว่า ทีมแพทย์ของโรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มาจากหลากหลายที่ ซึ่งนั่นทำให้เกิดความหลากหลายขององค์ความรู้ที่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ นอกจากนั้นทีมแพทย์ยังมีการทำงานแบบทีมเวิร์ก ที่สามารถสานต่อการรักษากันได้โดยไม่สะดุด ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับของทางโรงพยาบาล

“หมอคนนึงผ่าเสร็จ สมมุติวันรุ่งขึ้นเกิดปัญหา หมอคนเดิมเข้ามาไม่ได้ หมอคนอื่นก็สามารถเข้ามาดูได้ ช่วยกันเป็นทีม เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราบริหารโรงพยาบาลได้ง่าย แต่จะทำยังไงให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ได้คือเรื่องยาก ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า การโตคนเดียว โตได้เร็วแต่ไม่ไกล แต่โตเป็นทีมโตได้ไกลแต่อาจต้องใช้เวลาหน่อย ถ้าเรามีทีมที่แข็งแกร่งมันจะทำให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น”

  1. เครื่องมือและเทคโนโลยี เมื่อมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว เครื่องมือและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะเข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานของหมอได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ คือสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยทางโรงพยาบาลให้ความสำคัญในการเลือกใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีในการรักษาที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไข้เป็นหลัก
  2. Resource นอกจากมีทีมแพทย์ เครื่องมือและเทคโนโลยีการรักษาที่เน้นสร้างประสิทธิภาพในการรักษาแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ขาดไม่ได้คือเรื่องของ Resource ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น

“ตั้งแต่ทำมาเราไม่ค่อยมีปัญหาเรื่อง Resource อาจมีบ้างตอนช่วงโควิด-19 แต่ก็รอดมาได้ ซึ่งต้องขอบคุณคนไข้ที่ให้การสนับสนุนและเชื่อใจโรงพยาบาลมาโดยตลอด”

  1. วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร โดย นพ.ดิตถพงษ์เน้นย้ำว่า นี่คือสิ่งที่สำคัญในการกำหนดทิศทางขององค์กร ซึ่งจะเกิดขึ้นได้นั้นผู้บริหารต้องมีข้อมูลและมุมมองที่เปิดกว้าง และถ้าถามต่อว่าในฐานะผู้บริหารโรงพยาบาลเฉพาะทาง วิสัยทัศน์ของ นพ.ดิตถพงษ์ ในการขับเคลื่อนองค์กรนี้เป็นอย่างไร ?

“อย่างแรกเลยคือการเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง อย่างที่สองคือพัฒนาสู่การเป็นโรงพยาบาลที่มีองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง มีองค์กรขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อทำให้เกิด Economy of scale และเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ไม่ได้อยู่แค่ในกรุงเทพฯ แต่เราจะไปอยู่ในหลาย ๆ ที่ของประเทศ หรืออาจไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน นี่คือวิสัยทัศน์ของผม”

โรงพยาบาลเฉพาะทาง ต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยี
แม้จะยืนหนึ่งมาโดยตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ในสนาม Formula 1 ของโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านนี้ ก็เริ่มมีคู่แข่งใหม่ ๆ เข้ามาสู่สนามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจาก
กลยุทธ์ที่ทำให้ยืนหนึ่งในตลาดแล้ว การรับมือกับการแข่งขันในสนาม เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

“การแข่งขันมันเป็นเรื่องธรรมดา เราไม่ได้มองว่าเป็นศัตรู แต่ต้องมองว่าเขาทำได้อย่างที่เราทำหรือเปล่า ข้อต่อมา คู่แข่งมี Skill Set ทั้งการแพทย์และการบริหารหรือไม่ และข้อต่อมาคือ มี Resource เพียงพอแค่ไหน โดยทั้ง 3 ปัจจัยหลักในการแข่งขัน หากใครไม่พร้อม หรือถ้าไม่แข็งแกร่ง ไม่พัฒนาตัวเอง ก็จะล้มหายตายจากไปจากตลาด ซึ่งเราจะเห็นแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ โดยสิ่งสำคัญที่โรงพยาบาลเฉพาะทางต้องพัฒนาคือ ต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยีที่จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ และส่งผลดีต่อคนไข้สูงสุด” นพ.ดิตถพงษ์ เน้นย้ำ

Group of Specialty Hospital : New S Curve ของ S Spine
ที่ผ่านมา โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในฐานะโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาทที่ได้รับการยอมรับจากผู้ป่วย และมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยให้การรักษามาแล้วมากกว่า 10,000 เคส ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยที่มารับการรักษามีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ปี แบ่งเป็นคนไทย 85% และต่างชาติ 15%

“เทคนิคการรักษาที่เรานำมาใช้ มันให้ผลดีกับผู้ป่วย ทำให้เขาพึงพอใจจนเกิดเป็นความเชื่อมั่น เสียงจากผู้ป่วยเขามักจะบอกเสมอว่า ไม่นึกว่าจะมีอย่างนี้จริง ๆ คือ นอนโรงพยาบาลแค่คืนเดียว หลังผ่าตัดก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ หลายคนเดินไม่ได้ก็กลับมาเดินได้ เขารู้สึกว่าได้รับสิ่งที่ดี อยากให้คนอื่นได้รับสิ่งที่ดีเหมือนกัน มันก็เป็นการบอกต่อในที่สุด”

ด้วยการรักษาที่มีความแม่นยำ อาศัยเทคโนโลยีที่ดีที่สุด คือ จุด “แตกต่าง” จากโรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เทียบกับคู่แข่ง และจาก  Keyword ที่ว่า “แผลเล็ก ไม่ต้องพักฟื้นนาน” เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ “ท้าพิสูจน์” ซึ่งเป็นวิธีคิดทางด้านการตลาดที่ใช้ได้ผลมาจนถึงปัจจุบัน

จากคำขอบคุณของลูกค้าจำนวนมาก ดูเหมือนว่าจะเป็นกำแพงที่แข็งแกร่งที่คู่แข่งยากจะมาเทียบเคียงด้วย โดย นพ.ดิตถพงษ์ มองถึงจุดแข็งนี้ว่า คู่แข่งสามารถเลียนแบบได้ แต่ผมก็วิ่งไปข้างหน้าอีกเช่นกัน

“อย่างที่บอก เราคือ Formula 1 เฉพาะทางที่มีทั้งเทคโนโลยี เครื่องมือทางการแพทย์ และทีมงานพร้อมสนับสนุนให้หมอทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น ผมเชื่อว่า เรื่องของ Hardware สามารถเลียนแบบกันได้ แต่จุดที่จะชี้ว่าคุณประสบความสำเร็จมากแค่ไหน ก็คือ ต้องนำองค์รวมทั้งหมดมาประกอบกัน

แน่นอนว่า การเกิดขึ้นของโรงพยาบาลเราเมื่อ 7 ปีที่แล้ว มีรูปแบบที่ “ท้าทาย” การตลาดโรงพยาบาลในยุคนั้นอย่างมาก ๆ ทั้งรูปแบบการรักษา ผลลัพธ์ของการรักษา หรือแม้แต่บรรยากาศของโรงพยาบาล ที่มีการตกแต่งโรงพยาบาลอย่างหรูหรา และด้วยความมั่นใจในคอนเซ็ปต์ ให้คนป่วยได้รับความสะดวกสบาย เฉกเช่นเดียวกับโรงแรมชั้นดี

นพ.ดิตถพงษ์ ซึ่งเป็นนายแพทย์นักวางแผน ได้วางยุทธศาสตร์ระยะยาวเอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดย Big project ซึ่งเป็น Roadmap ของนพ.ดิตถพงษ์ คือ การสร้างโรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ แห่งใหม่บนถนนลาดพร้าว ขนาด 8 ชั้น อีกทั้งยังมีแผนขยายโรงพยาบาลเฉพาะทางไปยังจังหวัดอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงขยายฐานลูกค้าต่างชาติเพิ่มเติม ทั้งที่เข้ามาในไทย และการไปเปิดโรงพยาบาลเฉพาะทางในต่างประเทศ โดยล่าสุดได้เข้าซื้อกิจการของโรงพยาบาลในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อสร้างเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งเราคงได้เห็นความคืบหน้าในอนาคตในปีหน้า

“เรามีแผนเพิ่มลูกค้าต่างชาติ แต่มองว่ามันน่าจะดีกว่าถ้าเราเอาการรักษาไปให้เขา เพราะถ้าเราเป็นคนไข้ เราคงอยากรักษาในแผ่นดินเกิดมากกว่า เพราะใกล้ญาติพี่น้อง มันอุ่นใจกว่า มีแผนขยายไปยังประเทศในแถบ CLMV และอาหรับ แต่ต้องดูความพร้อมอีกที”

ไม่เพียงเท่านั้น ในอนาคตอันใกล้ นพ.ดิตถพงษ์ ยังเตรียมสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกายภาพบำบัดเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งไม่ใช่โรงพยาบาลด้านกายภาพบำบัดแบบทั่วไป แต่จะเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย

“มีหลายอย่างที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย เช่น การกายภาพบำบัดผู้ป่วยที่เกิดความพิการจากเส้นเลือดตีบหรือแตก ซึ่งเขามีเวลาทองแค่ 6 เดือนแรกเท่านั้น จะทำยังไงให้เกิดการฟื้นฟูที่มีศักยภาพที่สุด เพราะถ้าพ้น 6 เดือนไปแล้ว การฟื้นฟูจะไม่ดีขึ้นจากเดิม เวลานี้อย่าให้คนไข้เขาเสียโอกาสไป ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนยังไม่รู้ เรามีเทคนิคหลาย ๆ อย่างที่จะทำให้ความพิการนั้นดีขึ้นได้ เช่น การโยกย้ายเส้นประสาท เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ ถ้าโรงพยาบาลแห่งนี้เกิดขึ้นจริง นี่จะเป็นครั้งแรกของเมืองไทย”

ทั้งนี้ แผนการสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทางกายภาพบำบัด เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่ภาพใหญ่ที่ นพ.ดิตถพงษ์วางไว้ คือ การเป็น Group of Specialty Hospital ซึ่งจะเป็น New S Curve ของโรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ ต่อไปในอนาคต

“คนไข้ที่มีปัญหาเรื่องกระดูกสันหลังส่วนใหญ่อายุเยอะแล้ว เขามักมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาค่อนข้างเยอะ ทั้งสายตา ทั้งเข่า อาจไม่ดี ซึ่ง New S Curve ของเราคือการเป็น Group of Specialty Hospital เพราะปัจจุบันคนต้องการหมอเฉพาะทางในโรคอื่น ๆ อยู่เยอะ และยังมีอีกหลายสาขาที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย”

ทั้งนี้ Group of Specialty Hospital จะเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่รวบรวมบริการต่าง ๆ ของโรงพยาบาลเฉพาะทางสาขาต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน

ถึงตรงนี้่้ ดูเหมือนว่า นพ.ดิตถพงษ์ กำลังเร่งสร้างเกมรุกด้านการตลาดของโรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ ให้เติบใหญ่ และถ้าเกิดขึ้นจริงตามที่ นพ.ดิตถพงษ์ วางแผนไว้ New S-Curve นี้จะสร้างทั้งการเติบโตทางธุรกิจให้โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ และสร้างความมั่นคงทางการแพทย์ให้เกิดขึ้นกับเมืองไทยด้วยเช่นกัน

เขียนและเรียบเรียง : วนิดา ทูลภิรมย์
ติดตาม Business+ ได้ในช่องทางอื่นๆ ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS