‘รัสเซีย’ ออกกฏไม่นับเสียงผู้ถือหุ้นต่างชาติ จาก 49 ประเทศทั่วโลก
 ลดการถูกขัดขวางแผนธุรกิจ!!

การก่อสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้ทำให้ชาติตะวันตกออกมาคว่ำบาตรรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ที่ออกกฏห้ามไม่ให้รัสเซียใช้หนี้ด้วยเงินต่างประเทศที่มีอยู่ในธนาคารสหรัฐฯ ส่วนทางฝั่งยุโรปได้ระงับการนำเข้าน้ำมันรัสเซียทางทะเล และยังสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซียซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ ก.พ. (ปี 2023)

โดยการคว่ำบาตรจากคู่ค้าคนสำคัญนี้ได้ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจของรัสเซียหดตัวลงต่อเนื่อง ในเดือนกันยายน GDP หดตัวไปถึง 5% (ถึงแม้ก่อนหน้านี้ รัสเซีย ได้ออกมาแถลงการว่าถึงแม้จะถูกคว่ำบาตรมากแค่ไหนก็ตาม แต่ชาติตะวันตกไม่สามารถทำลายเศรษฐกิจของรัสเซียได้)

ซึ่งทางรัสเซียก็ไม่สามารถปล่อยให้ GDP หดตัวแบบนี้ได้อีกต่อไป จึงได้ออกมาตรการปกป้องเศรษฐกิจ และบริษัทในชาติของตัวเองออกมา ในช่วงวันที่ 17 มกราคม 2566 โดยรัฐบาลรัสเซียได้บังคับใช้กฎหมายใหม่ที่อนุญาตให้บริษัทของรัสเซียสามารถประชุมคณะกรรมการบริหารโดยไม่จำเป็นต้องนับคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นที่มาจากประเทศที่ไม่เป็นมิตร

โดยกฎหมายนี้จะบังคับใช้เฉพาะกับบริษัทของรัสเซียที่มีคุณสมบัติ 3 ข้อหลัก คือ
1. เป็นบริษัทในธุรกิจด้านพลังงาน วิศวกรรม หรือ ค้าขาย ที่มีรายได้ในปีที่ผ่านมามากกว่า 1 พันล้านรูเบิล (ประมาณ 1.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

2. เป็นบริษัทที่เจ้าของหรือผู้รับผลประโยชน์ถูกมาตรการคว่ำบาตรจากต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ

3. เป็นบริษัทที่มีบุคคลของประเทศที่ไม่เป็นมิตรถือหุ้นหรือทุนจดทะเบียนไม่เกินกึ่งหนึ่ง (50%) ของหุ้นหรือทุนจดทะเบียนทั้งหมดของบริษัท

ซึ่งกฎหมายใหม่นี้จะบังคับใช้เป็นการชั่วคราว มีผลบังคับใช้จนถึงปลายปี 2566 โดย รัฐบาลรัสเซียมุ่งหวังว่าการออกกฎหมายใหม่นี้จะช่วยลดปัญหาให้กับบริษัทของรัสเซียที่ถูกผู้ถือหุ้นจากประเทศที่ไม่เป็นมิตรขัดขวางการตัดสินใจที่สำคัญทางธุรกิจอันเป็นผลสืบเนื่องจากการใช้มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกและพันธมิตร ผ่านการดำเนินการต่างๆ ในฐานะผู้ถือหุ้น เช่น การออกเสียงคัดค้าน หรือการงดออกเสียง

ทั้งนี้ในปัจจุบัน ประเทศที่รัฐบาลรัสเซียประกาศให้อยู่ในรายชื่อประเทศไม่เป็นมิตรมีทั้งหมด 49 ประเทศ คือ แอลเบเนีย อันดอร์รา ออสเตรเลีย ออสเตรีย บาฮามาส เบลเยียม บัลแกเรีย แคนาดา โครเอเชีย ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก
เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น ลัตเวีย ลิกเตนสไตน์ ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา ไมโครนีเซีย โมนาโก มอนเตเนโกร เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ มาซิโดเนียเหนือ นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย ซานมาริโน สิงคโปร์ สโลวาเกีย สโลวีเนีย เกาหลีใต้ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ จีนไทเป ยูเครน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น จากกฎหมายใหม่ที่ประกาศออกมา หากเป็นบริษัทรัสเซียที่มีคุณสมบัติตรงตามที่
กฎหมายกำหนด บริษัทดังกล่างไม่ต้องนับคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นที่มาจาก 49 ประเทศนี้ในการประชุมตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารของบริษัท

แต่จากเงื่อนไข 3 ข้อที่กำหนดขึ้น ทำให้มีบริษัทของรัสเซียที่เข้าข่ายสามารถใช้มาตรการนี้ได้ 10 กว่าบริษัทเท่านั้น

ทาง ‘Business+’ มองว่า ถึงแม้มาตรการนี้จะดูเข้มงวด และอาจไม่เป็นธรรมกับผู้ถือหุ้นต่างชาติเท่าไหร่นัก แต่การกำหนดเงื่อนไขขึ้นมาทั้งหมด 3 ข้อนี้ ก็เท่ากับว่าจริงๆแล้วรัฐบาลรัสเซียอาจไม่ได้ต้องการแทรกแซงกลไกการบริหารงานของภาคเอกชน แต่เลือกที่จะแทรกแซงเฉพาะกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนเข้าไปในรัสเซียอย่างแน่นอน เพราะบรรยากาศการดำเนินธุรกิจในรัสเซีย และความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะลดน้อยลง ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งนี้

ที่มา : DITP

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

#Businessplus #Business #นิตยสารBusinessplus #รัสเซีย #คว่ำบาตร #สงครามรัสเซียยูเครน