Rubber

ใครเป็นลูกค้ายางรถยนต์ EV เจ้าใหญ่ของไทย ?

ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาตื่นตัวกับประเด็นทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะมองไปทิศทางไหนมักจะพบเจอคำว่า Green และ Net Zero ซึ่งแต่ละประเทศก็ออกมาตรการสนับสนุนในการร่วมรณรงค์ลดโลกร้อนในวิธีการที่แตกต่างกันไป โดยของไทยก็จะเป็นการร่วมมือทั้งภาครัฐ และเอกชนอย่างการลดคาร์บอน การรณรงค์ใช้ถุงผ้าลดใช้ถุงพลาสติก จึงทำให้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม

ซึ่งสินค้าที่กำลังเป็นเมกะเทรนด์ของโลก คือ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะระบบจะใช้แบตเตอรี่ในการขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคกำลังให้ความสำคัญ ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2575 มูลค่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของโลกจะอยู่ที่ 1,716.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากในปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 255.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ที่ 23%

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของรถยนต์ไฟฟ้า ยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะในกลุ่มยางรถยนต์ ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกยางรถยนต์รายใหญ่ในตลาดโลกจากความได้เปรียบทางด้านวัตถุดับจากการเป็นแหล่งผลิตยางพารา ปัจจุบันไทยมีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่ขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้วและเป็นสมาชิกของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประมาณ 1.8 ล้านราย, สถาบันเกษตร สหกรณ์ 1.2 พันราย และผู้ประกอบการภาคเอกชนอีกราว 200-300 ราย ขณะที่ภาพรวมการผลิตยางพาราในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 4.5 ล้านตัน ในส่วนนี้มีการส่งออกราว 3.3 ล้านตันเศษ นอกนั้นเป็นการใช้ภายในประเทศ

Business+ จึงได้ทำการสำรวจผู้เล่นที่มีการส่งออกยางรถยนต์รายใหญ่ของโลก พบว่าในปี 2565 ไทยส่งออกยางรถยนต์เป็นอันดับ 2 ของโลก มีสัดส่วนตลาดราว 7.2% ของการส่งออกยางรถยนต์ทั้งหมดของโลก รองจากจากจีน ที่มีสัดส่วน 20.6% ดังนี้

1.จีน ส่งออกยางรถยนต์ 18.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ครองสัดส่วน 20.6%

2.ไทย ส่งออกยางรถยนต์ 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ครองสัดส่วน 7.2%

3.เยอรมนี ส่งออกยางรถยนต์ 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ครองสัดส่วน 6.4%

4.ญี่ปุ่น ส่งออกยางรถยนต์ 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ครองสัดส่วน 6%

5.สหรัฐอเมริกา ส่งออกยางรถยนต์ 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ครองสัดส่วน 5.4%

6.เกาหลีใต้ ส่งออกยางรถยนต์ 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ครองสัดส่วน 3.5%

7.อินเดีย ส่งออกยางรถยนต์ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ครองสัดส่วน 3.3%

8.โปแลนด์ ส่งออกยางรถยนต์ 2.87 พันล้านเหรียญสหรัฐ ครองสัดส่วน 3.1%

9.สเปน ส่งออกยางรถยนต์ 2.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ ครองสัดส่วน 3%

10.ฝรั่งเศส ส่งออกยางรถยนต์ 2.64 พันล้านเหรียญสหรัฐ ครองสัดส่วน 2.9%

นอกจากยางรถยนต์ธรรมดาแล้วนั้น ไทยยังมีการผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้าด้วย ซึ่งยางรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ภาครัฐส่งเสริม เนื่องจากเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไป เนื่องจากมีจุดเด่นที่เหนือกว่ายางรถยนต์ทั่วไป ทั้งในด้านสมรรถนะการใช้งาน ความทนทาน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า สินค้าในกลุ่มยางรถยนต์ไฟฟ้าจะมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปถึง 18%

ทั้งนี้อ้างอิงข้อมูลจาก Krungthai COMPASS ระบุว่า ในปี 2573 มูลค่ายางรถยนต์ไฟฟ้าของไทยคาดจะอยู่ที่ราว 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 140,000 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย (CAGR) ที่ 43% จากในปี 2565 ที่มีมูลค่าราว 240 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 8,100 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. ส่งออกยางรถยนต์ไฟฟ้าไป 3 ตลาดหลักอย่าง สหรัฐฯ, จีน และออสเตรเลีย คาดมีมูลค่ารวม 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 76,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย (CAGR) ที่ 45% จากในปี 2565 ที่มีมูลค่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4,000 ล้านบาท และ 2. ใช้ภายในประเทศคาดจะอยู่ที่ราว 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 63,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย (CAGR) ที่ 41% จากในปี 2565 ที่มีมูลค่าเท่ากับ 4,100 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 33.5 บาท)

เบื้องต้นจะเห็นได้ว่าตลาดส่งออกยางรถยนต์ไฟฟ้าของไทยหลัก ๆ จะเป็น สหรัฐฯ, จีน และออสเตรเลีย เป็นผลมาจากปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของทั้ง 3 ประเทศนี้จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภาครัฐก็ออกนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าสม่ำเสมอ อาทิ การลดหย่อนภาษี เป็นต้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2573 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 16.2 ล้านคัน จากในปี 2565 อยู่ที่ 9.9 แสนคัน, ส่วนปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในจีน อยู่ที่ 21.4 ล้านคัน จากในปี 2565 อยู่ที่ 5.9 ล้านคัน และ ออสเตรเลียจะอยู่ที่  9.7 หมื่นคัน จากในปี 2565 อยู่ที่ 3.8 หมื่นคัน ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าของไทยในสหรัฐฯ คาดจะอยู่ที่ 18.4%, จีน 17.8% และ ออสเตรเลีย 11%

โดยในมุมมองของ Business+ การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจยางรถยนต์ของไทย รวมถึงผู้ประกอบการชาวสวนยางพารา ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้า ยังมี Sub-segment ที่หลากหลาย เพราะไม่เพียงแค่ภาครัฐจะสนับสนุนเพียงรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลเท่านั้น แต่มีการสนับสนุนรถบรรทุก รถโดยสารให้เปลี่ยนมาใช้เป็นแบบไฟฟ้าด้วย ซึ่งการเปลี่ยนเหล่านี้ก็จะทำให้ตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้ามีหลายประเภทขึ้นด้วย เช่น ตลาดยางรถบรรทุก เป็นต้น

ขณะที่ในธุรกิจยางพาราอย่างยางแท่ง ก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้ยางรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ส่งผลให้ต้องใช้ปริมาณยางแท่งมากกว่าเดิม จึงเป็นโอกาสในการ Supply ยางแท่งให้กับผู้ผลิตยางรถยนต์ในประเทศสำหรับผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งในส่วนนี้ก็จะส่งผลให้ชาวเกษตรกรยางพารามีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากราคาขายน้ำยางอาจจะปรับขึ้นจากความต้องการที่มากขึ้นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางรถยนต์

.

ที่มา : Krungthai COMPASS, Thaipost, Worldstopexports

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #Rubber #ยางพารา #ยางรถยนต์ #ยางรถยนต์ไฟฟ้า