“จากปัญหา PM2.5 ที่เป็นปัญหาประจำฤดูกาล และปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่เป็นปัญหามากกว่า 2 ปี มาแล้ว ส่งผลให้ขยะจากหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า และหน้ากาก N95 เพิ่มขึ้นมาอย่างมาก โดยภาครัฐได้จัดทำถังขยะสีแดง-ส้ม สำหรับทิ้งขยะหน้ากาก และทำลายในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ จากปัญหาที่เกิดขึ้น สำนักความร่วมมืออุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.) ธัญบุรี ร่วมกับ หน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์ในงานวิศวกรรม (Research Unit of Applied Electric Field in Engineering (RUEE)) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา)ส่งต่อเทคโนโลยีการเพิ่มมูลค่าหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า และหน้ากาก N95 ที่เหลือทิ้งจากหน่วยงานรับทดสอบหน้ากากและหน้ากากตกเกรด สู่อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างสีเขียว”
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรนุศย์ ทองพูล ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมืออุตสาหกรรม (สรอ.) มทร.ธัญบุรี เผยว่า สำนักความร่วมมืออุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้น เพื่อเป็นศูนย์อำนวยความสะดวกเพื่อประสานงาน สร้างเครือข่าย (MOU) และผลักดันงานนวัตกรรม บุคลากร และการจัดการทรัพยากรร่วมกับภาคเอกชนผู้ประกอบการต่าง ๆ ตลอดจนภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม ในการพัฒนางานวิจัย องค์ความรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สร้างรายได้ และตอบสนองยุทธศาสตร์ของประเทศ จังหวัด พื้นที่ มหาวิทยาลัย จึงได้มีการขับเคลื่อนและสร้าง MOU กับหน่วยงานต่าง ๆ โดยขยะจากหน้ากากอนามัยก็เป็นปัญหาในลำดับต้น ๆ ที่ทางสำนักฯ ให้ความสำคัญ โดยการส่งต่อโจทย์ปัญหาของชุมชนและผู้ประกอบการให้กับนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการนำไปพัฒนาวิจัยให้เกิดผลสำเร็จ” ในปีที่ผ่านมาหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มทร.ธัญบุรี ได้ดำเนินการเพิ่มมูลค่าขยะหน้ากากอนามัยที่ไม่ติดเชื้อเป็นแห่งแรกของประเทศ โดยมุ่งเน้นเป็นงาน DIY เช่น กระถางต้นไม้ และวัสดุตกแต่งต่าง ๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป ทางหน่วยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเพิ่มมูลค่าขยะหน้ากากอนามัยในเชิงอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจชุมชนและพัฒนาต่อยอดไปสู่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในอนาคต ได้ทำการประสานความร่วมมือกับหน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์ในงานวิศวกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มทร.ล้านนา ทั้งบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายหน้ากากที่มีหน้ากากตกเกรดไม่ผ่าน QC ที่ต้องทำการกำจัดทิ้ง หน่วยรับทดสอบหน้ากากที่ได้มาตรฐาน มอก. วิสาหกิจชุมชนที่ทำการผลิตแปรรูปวัสดุก่อสร้างจากขยะหน้ากากอนามัย โดยองค์ความรู้ทั้งหมดนี้จะถ่ายทอดให้กับวิสาหกิจชุมชนบ้านอำเภอ จังหวัดชลบุรี และวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในเชิงพาณิชย์ ที่หน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ส่งเสริมและก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนแห่งแรกของประเทศที่มีวัตถุประสงค์ในการจำกัดพลาสติกชุมชนและพลาสติกทะเลในพื้นที่เป็นวัสดุก่อสร้างสีเขียว ทั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้กับชุมชนอื่น ๆ ที่สนใจนำไปพัฒนาต่อยอดได้อีกด้วย”
รศ.ดร.พานิช อินต๊ะ หัวหน้าหน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์ในงานวิศวกรรม (Research Unit of Applied Electric Field in Engineering (RUEE)) มทร.ล้านนา เล่าว่า ขยะแผ่นกรองที่เหลือจากการผลิตและขยะหน้ากากที่ไม่ผ่าน QC มีจำนวน 3-5 % ของการผลิตต่อวันเลยทีเดียว ในเดือนหนึ่งจะมีขยะแผ่นกรองและหน้ากากไม่ผ่าน QC แบบนี้เป็นร้อยกิโลกรัมต่อโรงงาน หรืออาจเป็นตัน ๆ สำหรับโรงงานที่มีกำลังการผลิตสูง การนำไปเผาทำลายหรือการฝังกลบอาจจะไม่ใช่วิธีการที่ดีนัก หน่วยวิจัย RUEE ได้มีความร่วมมือกับโรงงานผลิตหน้ากากในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วิจัยและพัฒนาเพื่อนำขยะหน้ากากจากการผลิตไปเป็นวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีชุมชน โดยทางหน่วยได้ทำการทดสอบหน้ากากตามมาตรฐาน มอก. พร้อมรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อไปผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป
ทางด้าน อ.ดร.ประชุม คำพุฒ รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจเชิงพาณิชย์ สำนักความร่วมมืออุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า “ในฐานะที่เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา ได้ผลิตงานวิจัยด้านการจัดการขยะและเพิ่มมูลค่าขยะเป็นวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี จนกระทั่งสามารถจัดตั้งหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นหน่วยวิจัยแรกของ มทร.ธัญบุรี มาเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อมุ่งเน้นการวิจัยทางด้านขยะทุกชนิดอย่างจริงจัง ทำให้ทราบว่าแนวโน้มของขยะหน้ากาก ทั้งหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า และหน้ากาก N95 นั้นส่วนประกอบหลัก ๆ ก็คือผ้าและพลาสติก ซึ่งเป็นปัญหาที่ยากต่อการกำจัดด้วยการเพิ่มมูลค่า ส่วนใหญ่ไปสิ้นสุดที่การเผาในเตา โดยไม่ได้ประโยชน์อะไร จึงได้เริ่มงานวิจัยเฟสแรกในปีที่ผ่านมาโดยเป็นการนำขยะหน้ากากที่ไม่ติดเชื้อมาทำเป็นงาน DIY และงานวัสดุตกแต่ง และในปีนี้เป็นการพัฒนาต่อเฟสสองที่มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ และลดคำถามในเรื่องของความปลอดภัยในกระบวนการผลิตและใช้งานในเบื้องต้นจึงได้ใช้ขยะหน้ากากที่ไม่ผ่าน QC จากบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายซึ่งมีจำนวนมากมายหลายตัน ใช้เป็นส่วนผสมทดแทนเส้นใยสังเคราะห์ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ต้องการเสริมคุณสมบัติด้านการรับแรงดึง เช่น แผ่นฝ้าเพดานยิปซัม แผ่นซีเมนต์บอร์ด และนำไปใช้ผสมในบล็อกก่อผนังเพื่อลดน้ำหนัก และเพิ่มคุณสมบัติด้านการเป็นฉนวนป้องกันความร้อน ตลอดจนสามารถผสมในวัสดุปูพื้นและถนนทั้งการขึ้นรูปแบบปกติและการขึ้นรูปด้วยความร้อน ซึ่งหากขึ้นรูปด้วยวิธีการอัดร้อนที่อุณหภูมิสูงก็จะสามารถทำเป็นโต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ได้
สำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ภาคเอกชนที่สนใจต้องการนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ตลอดจนต้องการทำโครงการ CSR ของบริษัท สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่ สำนักความร่วมมืออุตสาหกรรม หรือ หน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โทร 0-2549-3410