มทร.ธัญบุรี ช่างคิด แปลงร่างผ้าใยกล้วย 3 แบบใน 1 ผลิตภัณฑ์

นักศึกษา มทร.ธัญบุรี ไอเดียเด็ด โชว์ทักษะออกแบบ แปลงร่างผ้าทอใยกล้วยเป็น 3 ฟังก์ชันการใช้สอย ในผลิตภัณฑ์ชิ้นเดียว คว้ารางวัลสร้างสรรค์นวัตกรรม พร้อมขายตามออร์เดอร์ เพื่อรายได้ในช่วงโควิด-19

“จากโครงการประกวด RMUTT THE IDOL ด้านนวัตกร ที่ช่วยสนับสนุนให้มีโอกาสเข้าถึงการพัฒนาศักยภาพของตนเองในด้านการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมให้เกิดเป็นชิ้นงานได้จริง เพื่อการก้าวไปสู่นวัตกรในอนาคต จึงทำให้ตนเองได้มีเวทีในการนำเสนอไอเดียที่ผสมผสาน คิดค้น ออกแบบ พัฒนา” นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ นายธรรมนูญ กิตติรักษ์ หรือ ‘นิว’ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและนวัตกรรมเครื่องแต่งกาย ชั้นปีที่ 1 (เทียบโอน) เกิดการจุดประกายไอเดียนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงาน “หมวกแปลงร่างจากผ้าใยกล้วย” (Transforming hat)สะท้อนแรงบันดาลใจกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น ด้านการอนุรักษ์ รักษาทรัพยากร ผสานกับช่วงฤดูร้อนแห่งการพักผ่อนของประเทศไทย โดยผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ สามารถปรับฟังก์ชันการใช้งานได้มากถึง 3 แบบ เป็นได้ทั้งหมวก กระเป๋า และเสื้อครอป ที่สำคัญใช้เทคนิคการลนไฟแทนการเย็บตรงชายผ้า จึงไม่ขาดหลุดลุ่ย และสร้างความน่าสนใจ

นิว เล่าว่า ผลงานชุดนี้มาจากการเล็งเห็นถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องไฟป่าที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง เกิดการเผาไหม้พื้นที่ป่าเป็นวงกว้าง ซึ่งต่างก็ใช้เวลานานกว่าจะดับลง ส่งผลกระทบวงกว้างต่อการเปลี่ยนแปลง และทำลายแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่า พันธุ์พืช จนเปลี่ยนไปจากเดิม ตนจึงต้องสื่อสารความสำคัญและความตระหนักในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์ คือการดัดแปลงได้มากถึง 3 ลักษณะการใช้งาน ทั้งหมวก กระเป๋า และเสื้อครอป ขณะเดียวกันยังสามารถเลือกใส่ได้ทั้งด้านในและด้านนอกได้ด้วย โดย ‘หมวก’ ออกแบบเป็นหมวกลักษณะของหมวกเดินป่า ใช้วิธีการตัดเย็บและบุใยโพลีเอสเตอร์ เพื่อให้คงรูปทรงของหมวก ใช้ไฟลนเป็นรู แทนการเจาะหรือตอกตาไก่ ส่วน ‘กระเป๋า’ เป็นกระเป๋าแฟชั่นผู้หญิง ออกแบบเป็นลักษณะทรงกระบอก สามารถสะพายได้ 2 แบบทั้งด้านในและด้านนอก ขณะที่ ‘เสื้อครอป’ ออกแบบเป็นลักษณะเอวลอย ด้านหลังสาน และปรับขนาดได้ ด้านหน้าใส่ชื่อแบรนด์ ซึ่งเป็นฉายาของตนเองว่า ‘Songkram’ อีกด้านหนึ่งสกรีนเกี่ยวกับการรณรงค์ไฟป่า ใช้รูปพนักงานดับเพลิง ที่กำลังอุ้มสัตว์ป่าหนีไฟป่า และเขียนว่า Don’t burn me นอกจากทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังได้ผสานแนวคิดในช่วงฤดูร้อนของประเทศได้เข้ามาร่วมด้วย จึงทำให้ผลงานสอดรับกับความเป็นปัจจุบันมากขึ้น

การก้าวเดินของเส้นทางผลงานชิ้นนี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจ การทดลอง เรียนรู้ และทำให้มองเห็นความถนัดของตนเองชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วยตอกย้ำเส้นทางในอาชีพต่อไปในอนาคต      ควบคู่กับการใช้เวลาว่างในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ออกแบบ ตัดเย็บและทำตามออร์เดอร์ของผู้ที่สนใจผลงาน และเตรียมสร้างสรรค์ผลต่อไปบนช่องทางออนไลน์ ด้วยเฟสบุค RMUTT MARKET PLACE ซึ่งเป็นตลาดกลางออนไลน์เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล สินค้า บริการ และนวัตกรรมของศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน บุคลากร รวมถึงชุมชนที่มหาวิทยาลัยให้การสนับสนุน โดยหลังจากที่มีการประกาศรางวัลเกิดขึ้น เสมือนเป็นการรับรองศักยภาพของตนเองขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

“การรู้จักคิด พลิกเรื่องราว ดัดแปลงจากสิ่งรอบ ๆ ตัวที่เกิดขึ้น จะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เรายืนหยัดอยู่ได้ ไม่เพียงแค่แวดวงแฟชั่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกสาขาอาชีพบนโลกในนี้” นิว สรุปทิ้งท้าย