มทร.ธัญบุรี ร่วมกับ พาณิชย์จังหวัด กรมทรัพย์สินทางปัญญา จัดทำระบบควบคุมและมาตรฐาน กล้วยหอมทองปทุม

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี ร่วมกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) จัดประชุมชี้แจง “โครงการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย “สินค้ากล้วยหอมทองปทุม” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564” นายจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีเป็นประธานในการเปิด พร้อมด้วยนางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ พาณิชย์จังหวัดปทุมธานี ผศ.ดร.สรพงษ์ ภวสุปรีย์ ผู้ช่วยอธิการบดี มทร.ธัญบุรี และว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์ เข้าร่วมการเปิดประชุมชี้แจง ณ ศาลาพุทธานุภาพ วัดนพรัตนาราม ตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี

นายจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เผยว่า กล้วยหอมทองปทุม เป็นผลิตผลทางการเกษตรที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัด โดยจังหวัดปทุมธานีมีพื้นที่ปลูกล้วยหอมทองมากที่สุดในประเทศ กล้วยหอมทองปทุม มีชื่อเสียงด้านรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จําหน่ายทั้งในและต่างประเทศ และมีการพัฒนาในด้านของการแปรรูปมากมาย ดังนั้นทางจังหวัดจึงเล็งเห็นความสำคัญ และอยากให้ชื่อเสียงของกล้วยหอมทองปทุม อยู่คู่กับเมืองปทุม ซึ่งอาจมีการแอบอ้างชื่อกล้วยหอมทองปทุม เพื่อการจําหน่าย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ และชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนเกษตรกรของจังหวัดปทุมธานีจึงได้ มีการส่งเสริมให้เกษตรกรของเรา มีการขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของชุมชน และป้องกันปัญหาการแอบอ้างชื่อดังกล่าว

นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ พาณิชย์จังหวัดปทุมธานี เผยว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี ได้สนับสนุนการขึ้นทะเบียนสินค้ากล้วยหอมทองปทุม โดยทางจังหวัดได้ขอขึ้นทะเบียน กล้วยหอมทองปทุม เป็นสินค้าส่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI และทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้มอบหมายให้ ทาง มทร.ธัญบุรี ดำเนินโครงการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย “สินค้ากล้วยหอมทองปทุม” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 บทบาทของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี ก็ยังคงส่งเสริมสนับสนุนในด้านของการประชาสัมพันธ์ การตลาด การเชื่อมโยงหาตลาดใหม่ๆ ให้กับผู้ผลิต ตามนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” อย่างต่อเนื่อง

โดย ว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์ เผยว่า ในการดำเนินโครงการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย “สินค้ากล้วยหอมทองปทุม” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๔ เพื่อให้กล้วยทองปทุมธานี มีระบบควบคุมภายในและผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทย กำกับลงบนสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ได้ โดยการอนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ GI มีอายุ 2 ปี ซึ่งเมื่อครบกำหนดสามารถดำเนินการควบคุมตรวจสอบสินค้าตามระบบที่จัดทำขึ้น เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งในการดำเนินโครงการหน่วยงานภาครัฐ เอกชนในท้องที่ และชุมชนท้องถิ่นนั่น ๆ ร่วมกันควบคุมตรวจสอบสินค้าและบริหารจัดการที่เหมาะสมทั้งกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการ ในการใช้ GI สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและสร้างความยั่งยืนให้กับสินค้า เป็นสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และกระตุ้นให้ผู้ผลิตเสริมสร้างและรักษาภาพลักษณ์ในสินค้า ป้องกันการนำชื่อเสียงของกล้วยหอมทองปทุมไปแอบอ้างโดยทุจริตเพื่อแสวงหาผลประโยชน์

นายศรีไพล กรองแก้วสวัสดิ์ เกษตรกรชาวสวนกล้วยหอมทอง หมู่ 1 ตำบลนพรัตน์ เล่าว่า กล้วยหอมสามารถปลูกได้ทั่วทุกภาค ซึ่งแต่ละพื้นที่มีผลผลิตลักษณะเหมือนกัน หรือแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ปัจจุบันปลูกกล้วยหอมทองทั้งหมด 30 ไร่ มีพ่อค้าคนกลางมารับไปขายที่ตลาดไท ราคาอยู่ที่ 197 – 200 บาทต่อเครือ การได้รับ GI ทำให้กล้วยหอมทองปทุมมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่สามารถมีใครมาเลียนแบบได้ สร้างได้ที่มั่นคงให้กับชาวสวนต่อไป