ผ้าใยกล้วยบัวหลวง โอท๊อปปทุมธานี ‘รักษ์โลก-ใส่สบาย-สร้างรายได้ชุมชน’

‘ผ้าใยกล้วยบัวหลวง การทอเส้นใยกล้วยและเส้นใยอื่น ทอผ้าโดยใช้กี่กระตุก 2 ตะกอ 4 ตะกอ 6 ตะกอ ควบด้วยเส้นด้านพุ่ง 4 เส้น ต่างสีสันกันพุ่งไปมา ทำให้เนื้อผ้ามีความพิเศษ มีผิวสัมผัสและน้ำหนักเบา คล้ายผ้าขนสัตว์ ทำให้สวมใส่สบาย’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยี  คหกรรมศาสตร์ เจ้าของผลงานและหัวหน้างานวิจัย เล่าให้ฟังถึงผ้าใยกล้วยบัวหลวง สินค้าโอท๊อป จังหวัดปทุมธานี งานวิจัยต่อเนื่องที่สร้างความยั่งยืนให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน ณ ศูนย์ส่งเสริมอาชีพ วัดไก่เตี้ย จังหวัดปทุมธานี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ชลสาคร บอกว่า ปัจจุบันผ้าใยกล้วยบัวหลวง (BUALUANG-Banana Fabric) เป็นผ้าประจำจังหวัดปทุมธานี ซึ่งทางท่าน ดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีในตอนนั้น ให้เกียรติตั้งชื่อให้กับผ้าเส้นใยกล้วยว่า ‘ผ้าใยกล้วยบัวหลวง’  เมื่อปี 2561 ได้เข้ามายังพื้นที่โครงการ การพัฒนาระบบการจัดการเชิงพื้นที่ด้วยการใช้นวัตกรรม  : เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเสียและสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี วิจัยการพัฒนาเส้นใยกล้วย ในงานแฟชั่นเครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ เนื่องจากต้นกล้วยหอมทองและต้นกล้วยน้ำว้าเหลือทิ้ง หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต จำนวน 30,000 ตันต่อปี

โดยการ “นำกาบและก้านในกล้วยมาปั่นเป็นเส้นด้าย ซึ่งเส้นใยกล้วย มีคุณสมบัติเด่นในด้านความแข็งแรง และเงามันสามารถขึ้นรูปเป็นเส้นด้าย นำมาต่อยอดทอเป็นผืนผ้าและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านแสงตะวัน และเข้ามาพัฒนาลวดลายของผ้าใยกล้วยอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ผ้าใยกล้วยยกดอก ซึ่งปัจจุบันต้องการสร้างอัตลักษณ์ลวดลาย   ที่เกิดจากภูมิปัญญา วัฒนธรรมท้องถิ่นของตัวเองลวดลาย ให้กับทางกลุ่มกำลังพัฒนาลวดลายหางไก่ หางไก่เตี้ย เนื่องด้วยทางศูนย์อยู่ภายใต้วัดไก่เตี้ย และพัฒนาเส้นดายให้แข็งแรง สามารถเป็นเส้นดายยืนได้อีกด้วย

นางสาวบุญนภา บัวหลวง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน เล่าว่า ผ้าใยกล้วยบัวหลวงได้รับความสนใจจำนวนมาก ด้วยลูกค้าสามารถออกแบบเองได้ สั่งสีและสั่งลาย ตลอดจนสั่งตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า หมวก กระเป๋า ได้ทั้งเสื้อผ้าสตรี บุรุษ และเด็ก หรือลูกค้าต้องการ ผ้าผืน ผ้าขาวม้า ทางกลุ่มมีจำหน่าย ภูมิใจที่ทางกลุ่มสามารถทอผ้าได้เองโดยไม่ต้องสั่งซื้อจากท้องตลาด สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ทางจังหวัดได้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ปัจจุบันมีกี่ทอผ้ามาจำนวน 6 ตัว ให้กับทางกลุ่ม สำหรับลูกค้าที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชม กระบวนการทอผ้าใยกล้วยได้ ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน ณ ศูนย์ส่งเสริมอาชีพวัดไก่เตี้ย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งทางกลุ่มมีการทอผ้าทุกวัน

นางน้อย เพิ่มผลมงคล สมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน เล่าว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผลกระทบกับโรงงาน โรงงานจึงจ้างออกจากงาน มีเพื่อนในกลุ่มชวนให้มาทอผ้ากับทางศูนย์ ซึ่งป้ามาได้ 2 เดือนแล้ว ช่วงแรก ๆ ที่มาทอได้ไม่เยอะ 1 เมตรต้องใช้เวลาถึง 3 วัน แต่ปัจจุบันชำนาญแล้ว โดยทางศูนย์จ้างเมตรละ 100 บ้าน 1 เดือนได้ประมาณ 1 ม้วน ม้วนประมาณ 40 – 50 เมตร ได้เงินม้วนละ 4,000 – 5,000 บาท

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านแสงตะวันมีจุดแข็ง มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยที่สนใจเส้นใยธรรมชาติและจังหวัดปทุมธานี ผ้าใยกล้วยบัวหลวง โอท๊อป จ.ปทุมธานี ‘รักษ์โลก-ใส่สบาย-สร้างรายได้แก่ชุมชน ผู้สนใจผ้าใยกล้วยบัวหลวง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นางสาวบุญนภา บัวหลวง โทร.094-4386587