นวัตกรรมชุมชน เพื่อชุมชน มทร.ธัญบุรี

ผลิตภัณฑ์สร้างอาชีพให้ชุมชนจากรายวิชานวัตกรรมเพื่อชุมชน พร้อมถ่ายทอด ให้กับชุมชน โดย นายวิรัช โหตระไวศยะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่า แนวคิดกระบวนการคิดของนักศึกษาเปลี่ยนไป รายวิชานวัตกรรมเพื่อชุมชน ได้บูรณาการเชื่อมโยงข้ามศาสตร์องค์ความรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน นักศึกษาได้รู้การทำงานเป็นทีม Soft Skill ความมีน้ำใจ ความเอื้ออาทรต่อสังคม สร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ภูมิใจและดีใจที่วิชานี้ ใช้ความรู้ทุกคณะมาบูรณาการกิจกรรมของกลุ่ม วิธีคิด วิธีทำ และวิธีแชร์ไอเดีย ตลอดจนกระบวนการติดตามและขยายผลดำเนินการต่อให้กับชุมชนต่อไป

นายธรรมนูญ กิตติรักษ์ ตัวแทนกลุ่ม ผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้าย้อมฟักข้าว เล่าว่า เพื่อต่อยอดธุรกิจของชุมชนโดยนำเศษฟักข้าวที่เหลือจากการทำเครื่องดื่มและสบู่ ของวิสาหกิจสวนเราเกษตรอินทรีย์มาย้อมสีผ้าและทำเป็นผลิตภัณฑ์ถุงผ้าสบู่ฟักข้าวบรรจุภัณฑ์ของชุมชนและกระเป๋าผ้าจากฟักข้าวรูปทรงทันสมัย สะดวกสบายในการใช้ได้ทุกวัน ในการย้อมผ้าจากฟักข้าวนำเศษฟักข้าวทำความสะอาดให้เรียบร้อย ต้มน้ำไฟกลาง 10 นาที นำเศษฟักข้าวใส่ลงในหม้อต้มโดยใช้เทคโนโลยีการต้มในการสกัดสี นำผ้าดิบ 1 เมตรต้มกับน้ำใส่หยวกกล้วย 30 นาที จากนั่นล้างแป้งออกจากผ้า กรองเศษฟักข้าวให้เหลือแต่น้ำ ล้างผ้าด้วยน้ำสะอาดแล้วนำลงไปต้มกับน้ำฟักข้าว ใส่สารช่วงติดสีคือสารส้ม 300 กรัม คอยคนผ้าให้สีติดทุกส่วนเป็นเวลา 30 นาที ปิดไปแล้วแช่ผ้าไว้ 1 ชั่วโมง นำผ้าไปล้างกับน้ำเกลือ นำผ้าไปตาก  เมื่อได้ผ้านำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋า

เช่นเดียวกับ นายอภินันท์ แก้วสุโพธิ์ ผลิตภัณฑ์จากกาบกล้วย เล่าว่า หลังจากเก็บผล เหลือส่วนลำต้นเป็นจำนวนมากเกินความต้องการใช้งาน เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าจึงนำเอาส่วนกาบกล้วยมาทำการวิจัยเป็นกระดาษจากกาบกล้วย เพื่อเป็นการต่อยอดพืชเศรษฐกิจของชุมชนบึงกาสาม เป็นการส่งเสริมและสร้างรายได้ให้กับชุมชน สร้างสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ นำกระดาษกาบกล้วยต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่ใช้สำหรับใส่ของใช้ อาหาร ขนม ในรูปแบบ กล่อง กระดาษห่อ ถุงกระดาษ สมุดทำมือ และของตกแต่งบ้าน ขั้นตอนหั่นกาบกล้วยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ล้างด้วยน้ำสะอาด นำกาบกล้วยที่หั่นไปต้มจนเนื้อของกาบกล้วย เริ่มเปื่อย จากนั้นนำโซดาไฟใส่ลงไปเพื่อให้เนื้อของกาบมีความเปื่อย และนุ่มขึ้น จากนั้นนำมากรองล้างทำความสะอาด นำไปปั่นให้ละเอียด เทเนื้อกาบกล้วยที่ปั่นใส่แม่พิมพ์นำไปตากแดด 1 – 2 วัน ได้กระดาษจากกาบกล้วยนำมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์

นางสาวธิดารัตน์ ใจเปี้ย เล่าว่า กลุ่มแม่บ้านชุมชนหมู่บ้านพรพิมานมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากการเกษตรของชุมชน เช่น ผักตบชวา ที่นำมาย้อมผ้า และ ผลิตภัณฑ์ อื่นๆ คณะผู้วิจัยจึงมองเห็นนวัตกรรมที่สามารถนำมาพัฒนา เช่น ใบมะม่วง ซึ่งหาได้ง่าย และไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง แต่สามารกนำมาสร้างงาน สร้างอาชีพได้ จึงเสนอการนำใบมะม่วงมาย้อมผ้า หรือ ทำมัดย้อมได้ วัสดุมีเพียง ใบมะม่วง ผงซักฟอก น้ำ เส้นใยฝ่ายหรือผืนผ้า ขั้นตอนวิธีการทำ นำใบมะม่วงแห้งมาล้างทำความสะอาด นำไปต้มในน้ำที่เดือด จับเวลา 1 ชม. จากนั้นต้มน้ำให้เดือดจับเวลา 30 นาที และใส่ผงซักฟอกลงในน้ำตามด้วยผ้าคลุมไหล่ จับเวลา 30 นาที นำผ้าคลุมไหล่ขึ้นจากการต้มน้ำล้างพักทิ้งไว้ให้ผ้าอุ่น และด้วยน้ำสะอาด บิดให้แห้ง นำไปตาก คีบใบมะม่วงแห้งในหม้อออกให้หมดหรือกรองแต่น้ำใบมะม่วง นำผ้าที่ตากแล้วมามัดเป็นลักษณะตามที่ต้องการรัดยางให้แน่น และนำไปใส่หม้อน้ำจากใบมะม่วง จับเวลา 1 ชม. นำผ้าที่ไปย้อมขึ้นจากหม้อเมื่อครบเวลา จากนั้นพักผ้าทิ้งไวให้พออุ่นแล้วตัดยางออก คลายผ้าออก นำไปตากให้แห้ง กลายเป็นผ้าคลุมไหล่สร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

นอกจากผลิตภัณฑ์ทั้งสามผลิตภัณฑ์ในรายวิชายังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีก อาทิเช่น เยลลี่ตะไคร้ การย้อมสีธรรมชาติจากใบหญ้าหวาน ขนมเซมเบ้ จากกล้วย ขนมที่ขึ้นชื่อของทางญี่ปุ่น ต้องของชื่นชมในไอเดียของนักศึกษาแต่ละกลุ่ม ที่ได้บูรณาการศาสตร์วิชา นำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดและสร้างรายได้สร้างอาชีพสู่ชุมชน