มทร.ธัญบุรี ติด 1 ใน 5 รับทุน ‘UNESCO-UNEVOC’ พัฒนาทักษะวิชาชีพ ช่วยคนตกงานหลังโควิด-19

มทร.ธัญบุรี เผยได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 ประเทศ ที่ได้รับทุนจาก UNESCO-UNEVOC ให้ดำเนินโครงการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า มทร.ธัญบุรี ได้รับทุนจาก UNESCO-UNEVOC ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ UNESCO ด้านอาชีวศึกษาให้ดำเนินโครงการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเปิดรับข้อเสนอโครงการจาก 160 ประเทศทั่วโลกให้ยื่นเพื่อรับการพิจารณา และคัดเลือกให้เหลือ 5 ประเทศ เพื่อรับทุน ผลการพิจารณาปรากฏว่า มทร.ธัญบุรี ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 5 ประเทศ ให้ดำเนินโครงการตามข้อเสนอ และยังได้รับความร่วมมือจากพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) และชาวบ้านในการพัฒนาวิชาชีพเป็นอย่างดี

ด้าน ผศ.อานนท์ นิยมผล คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบทั่วโลก โดยเฉพาะในตลาดแรงงานที่มีการปิดตัว ปรับลดค่าแรงและเลิกจ้าง ในฐานะสถาบันการศึกษา สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวได้ ด้วยการจัดให้มีการฝึกอบรมระยะสั้นให้ตอบสนองความต้องการเร่งด่วนสำหรับแรงงาน ให้ได้เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา เสริมสร้างความพร้อมของตนเองสำหรับภาวะวิกฤต ซึ่งตรงกับแนวคิดการดำเนินงานของ UNESCO-UNEVOC จึงได้สนับสนุนการยื่นข้อเสนอ จนกระทั่งได้รับคัดเลือกในครั้งนี้

ผศ.ดร.ปริญญา มีสุข อาจารย์คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี หัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึง แนวคิดการดำเนินงานโครงการว่า แนวคิดหลักคือการสร้างโอกาสและอาชีพให้กับบุคคลในชุมชนพื้นที่ห่างไกล ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยใช้จุดแข็งของ มทร.ธัญบุรี ทั้งในความรู้เรื่องการเกษตร เทคโนโลยี การเข้าถึงพื้นที่ และเครือข่ายความร่วมมือจากชุมชนและสถานศึกษาอาชีวศึกษา และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการสร้างทักษะที่เหมาะสมกับชุมชน และพัฒนาทักษะด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ให้ชุมชนดำรงชีวิตอยู่ได้ในภาวะวิกฤต และพัฒนาอาชีพได้อย่างแท้จริง

ขณะที่ ผศ.ดร.บุญธิดา เอื้อพิพัฒนากูล รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มทร.ธัญบุรี หนึ่งในคณะทำงาน กล่าวเสริมว่าโครงการดังกล่าวเริ่มต้นจากความร่วมมือของนักศึกษา สถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย มทร.ธัญบุรี และศูนย์วิปัสสนาสากล ไร่เชิญตะวัน ที่ได้เข้าไปช่วยชุมชนชาวบ้าน จ.เชียงราย สนับสนุนการใช้ไผ่ พัฒนาและยกระดับเป็นสินค้าใหม่ ประกอบกับการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเชิงลึกจึงพบปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้อย่างชัดเจน และถือเป็นความท้าทายในการเข้าไปร่วมแก้ปัญหา และเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาทักษะอาชีพของบุคคลในประเทศได้.