นักวิจัยสถาปัตย์. ช่วยชุมชน ยกระดับผลิต ‘ซีเมนต์เทอร์ราซโซ’

ทีมอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ลงพื้นที่พัฒนาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานการผลิตซีเมนต์เทอร์ราซโซ ช่วยชุมชน ต.พรหมมณี อ.เมือง จ.นครนายก

การสร้างผลิตภัณฑ์จากปูนซีเมนท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งม้าหินอ่อน และกระถางต้นไม้รูปทรงต่าง ๆ เป็นอาชีพสำคัญของชุมชนที่สืบทอดมายาวนาน รูปลักษณ์และลักษณะของซีเมนต์ที่กลุ่มงานฝีมือได้ผลิตขึ้นมักเป็นรูปแบบเดิม ๆ ซึ่งคล้ายคลึงกับหลายพื้นที่และหลายจังหวัดที่ได้ผลิตในลักษณะเช่นเดียวกัน จากปัญหาดังกล่าวนี้จึงจุดประกายให้เกิด “โครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์เกษตรของชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเพื่อพัฒนาท้องถิ่นด้วยตนเอง ตำบลพรหมมณี” ในการผลิตซีเมนต์เทอร์ราซโซ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1ตำบล 1มหาวิทยาลัย) ของ มทร.ธัญบุรี

 

 อาจารย์ภดารี กิตติวัฒนวณิช นักวิจัยและอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ เล่าว่า จุดเริ่มต้นจากการลงพื้นที่ เราพบปัญหาและรับรู้ความต้องการของชุมชนดังกล่าว กลายเป็นโจทย์ที่ว่า เราจะทำอย่างไร ให้ของเดิม ซึ่งก็คือตัวซีเมนต์ที่มีอยู่แล้วใน ต.พรหมมณี เป็นที่น่าสนใจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ โดยมุ่งเน้นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มลวดลาย สร้างรูปทรงให้มีความทันสมัย และที่สำคัญเป็นการนำเศษซีเมนต์ที่เหลือการผลิตกลับมาใช้เป็นส่วนผสมใหม่อีกครั้ง เพื่อลดวัสดุของเสียจากการผลิตที่เกิดขึ้น จนเกิดเป็นไอเดียที่ชื่อว่า ซีเมนต์มินิ ที่มีคุณประโยชน์และสามารถใช้งานได้จริง นอกจากแค่ม้าหินอ่อนและกระถางต้นไม้ที่ผลิตอยู่ก่อนแล้ว เช่น แก้วน้ำ กระถางต้นไม้ที่มีลวดลาย โคมไฟประดับ กล่องใส่ของอเนกประสงค์ เก้าอี้ ม้านั่ง หรือแม้กระทั่งโต๊ะกลาง

 

“เรานำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเหลือชุมชน เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้หลากหลายรูปแบบ ที่สำคัญคือช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยเน้นที่การหาสัดส่วนที่มีความเหมาะสมของซีเมนต์เทอร์ราซโซ และการสร้างลวดลายต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น รวมถึงการผสมเศษวัสดุเหลือใช้จากในชีวิตประจำวันด้วย เช่น ฝาจากขวดน้ำ และพลาสติก ซึ่งซีเมนต์ที่ได้ทั้งหมดจะมาจากซีเมนต์ที่เหลือทิ้งจากการหล่อจากชุมชน โดยนำกลับมาใช้ใหม่ ก่อให้เกิดต้นแบบผลิตภัณฑ์แรกเริ่มในโครงการ นั่นคือ กระถางที่มีลวดลาย และผลิตภัณฑ์ฟรีฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยขยายฐานลูกค้าและเพิ่มความน่าสนใจของผู้ซื้อในช่วงโควิด-19 ที่ผู้คนต่างหันมาสนใจการปลูกต้นไม้และการตกแต่งบ้าน” อาจารย์ภดารี กล่าว

ขณะเดียวกันทางทีมยังได้ร่วมกันออกแบบ เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อีกมากมาย เช่น โต๊ะกลาง ม้านั่ง เก้าอี้ โดยจับกลุ่มไปที่คนรุ่นใหม่ที่รักและชื่นชอบการแต่งบ้าน ทุกชิ้นต้องมีดีไซน์ เน้นฟังก์ชั่นการใช้สอยได้จริงและมีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ เช่น เก้าอี้ ทางทีมได้เลือกผลไม้ขึ้นชื่อของ จ.นครนายก อย่างมะยงชิดมาเป็นแรงบันดาลใจ แล้วตัดทอนรูปทรง เพื่อให้มีความน่าสนใจ ร่วมสมัย และดูเข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น โดยหลังจากที่ทีมได้พัฒนากระบวนการผลิตออกแบบและสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์จากซีเมนต์แล้ว จะมีการทดสอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบและติดตามประเมินผลก่อนที่จะจัดฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับชุมชนต่อไป

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวได้ดำเนินมากว่า 50% ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากคนในชุมชน และมีโอกาสได้ร่วมนำเสนอในโครงการ U2T COVID-19 week ก้าวต่อไป สู้ภัยโควิด กับ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมุ่งหวังเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพื่อชีวิตของคนในชุมชนที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในท้ายที่สุด ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่ โทร.063 935 6982.