มทร.ธัญบุรี ประสบผลสำเร็จ ต่อยอดงานวิจัย “ทะเลไทยไร้ขยะ” สร้างรายได้ชุมชนทะลุเป้าในปีแรก

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัย “ทะเลไทยไร้ขยะ” แผนงานวิจัย นวัตกรรมเพื่อการจัดการขยะประเภทหลักในพื้นที่ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในเฟสที่ 2 ปี 2564 โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นแม่ข่ายผู้อำนวยการแผนงานวิจัยทั้งประเทศ ซึ่งโครงการนี้ มทร.ธัญบุรี ได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป้าหมายที่มีปัญหาเรื่องขยะพลาสติกทะเลที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ จำนวน 2 แห่ง คือ ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยนายวิษณุ เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านขุนสมุทรจีน เป็นผู้นำชุมชน และชุมชนบ้านอำเภอ ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยนายอนุสรณ์ สายนภา ประธานวิสาหกิจชุมชน “กลุ่มเปลี่ยนขยะให้เป็นประโยชน์ รักษ์ทะเลเสน่ห์บ้านอำเภอ”

ดร.ประชุม คำพุฒ หัวหน้าหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้วิจัยนวัตกรรมอัพไซคลิ่งจากขยะทะเล และผู้เป็นพี่เลี้ยงในการส่งเสริมการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนจากขยะทะเลในพื้นที่ เล่าว่า เป้าหมายสูงสุดของการวิจัยครั้งนี้ คือ สามารถส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่ชายทะเลที่มีปัญหาขยะทะเลสามารถสร้างรายได้จากการเพิ่มมูลค่าขยะทะเลเป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างประเภทต่าง ๆ ได้ เช่น บล็อกปูพื้น บล็อกก่อผนัง ขอบคันหิน ตลอดจนวัสดุตกแต่งและของที่ระลึก เช่น กระถางต้นไม้ จานรองแก้ว พวงกุญแจ เป็นต้น โดยได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัยตั้งแต่เฟสแรกและเฟสที่ 2 มาทำการถ่ายทอดความรู้ เรื่องของสูตรผสม กระบวนการผลิต และการทดสอบคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ให้ผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐาน มอก. ให้กับชุมชน ช่วยทำแผนธุรกิจ แผนการตลาด ให้ชุมชน จนสุดท้ายชุมชนสามารถจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนสำหรับผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างจากขยะทะเลแบบจริงจังได้เป็นแห่งแรกของประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งผลประกอบการปลายปีที่ผ่านมาทราบว่า นอกจาก มทร.ธัญบุรี จะประสบความสำเร็จในการช่วยเป็นพี่เลี้ยงจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนได้แล้ว วิสาหกิจชุมชนยังสามารถทำรายได้ทะลุเป้าของแผนธุรกิจที่ได้วางไว้ จึงนับเป็นความสำเร็จที่เป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่น ๆ ที่มีปัญหาขยะทะเลได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2565 ทางหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งจะได้ทำการถ่ายทอดองค์ความรู้ในส่วนอื่น ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

ทางด้านนายวิษณุ เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านขุนสมุทรจีน เล่าว่า พื้นที่ชายทะเลบ้านขุนสมุทรจีน เป็นพื้นที่อ่าวรูป ก.ไก่ จึงได้รับผลกระทบด้านการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมาที่สุดจนแผ่นดินถูกกลืนหายลงไปในทะเล จึงต้องการเพิ่มพื้นที่ชายฝั่งคืนกลับโดยใช้องค์ความรู้ที่ได้รับจาก มทร.ธัญบุรี เรื่องกำแพงชะลอคลื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาช่วยแก้ปัญหา และอีกปัญหาใหญ่คือขยะพลาสติกทะเลจำนวนมากที่มาสะสมในพื้นที่ทั้งขยะจากประเทศไทยและที่มาจากต่างประเทศ โดยชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีการพัฒนารูปแบบชุมชนเป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ ได้ใช้องค์ความรู้มาผลิตวัสดุใช้เองในชุมชนเป็นหลัก เช่น ปูพื้นลานกิจกรรม ปูพื้นทางเดิน ก่อสร้างที่พัก เป็นต้น โดยทำการปรับปรุงเครื่องจักรไม่ต้องใช้ไฟฟ้าในการผลิต เพื่อความเหมาะสมกับชุมชน และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งวัสดุจากในเมืองซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากเนื่องจากปัจจุบันไม่มีทางรถยนต์เข้าในพื้นที่ และได้มีการผลิตเป็นสินค้ากระถางต้นไม้ขนาดเล็ก พวงกุญแจ ให้กับนักท่องเที่ยวซื้อนำกลับไปเป็นของที่ระลึก ทำรายได้สู่ชุมชนหลายหมื่นบาท ทั้งนี้ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนยังเป็นชุมชนพี่เลี้ยงให้กับพื้นที่ใกล้เคียงในการศึกษาดูงานการจัดการขยะในพื้นที่ให้เหลือศูนย์ (Zero waste) และในอนาคตมีโครงการทำถนนเข้าหมู่บ้านซึ่งจะช่วยให้มีการผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างออกจากชุมชนไปสู่ตลาดได้ทั่วประเทศในปี 2567

นายอนุสรณ์ สายนภา ประธานวิสาหกิจชุมชน “กลุ่มเปลี่ยนขยะให้เป็นประโยชน์ รักษ์ทะเลเสน่ห์บ้านอำเภอ” ชุมชนบ้านอำเภอ กล่าวถึงผลสำเร็จของการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนแห่งแรกของประเทศในการอัพไซคลิ่งขยะพลาสติกจากทะเลเป็นวัสดุก่อสร้างครบวงจรว่า ชุมชนบ้านอำเภอ เป็นชุมชนท่องเที่ยวทางทางทะเล และกีฬาทางน้ำ แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากและมีขยะทะเลจำนวนมากเช่นเดียวกัน ในปีที่ผ่านมาทางชุมชนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเป็นอย่างมาก เริ่มจากการจดทะเบียนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ระดมทุนในการสร้างโรงเรือน หาพันธมิตรในการสร้างเครื่องจักรอุปกรณ์ การทำบัญชีวิสาหกิจชุมชนฯ กว่าจะสำเร็จใช้เวลาเกือบปี แต่พอสำเร็จทางวิสาหกิจชุมชนฯ มียอดสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เข้ามาเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเดิมเราตั้งเป้าไว้ประมาณ 200,000 บาท แต่ปัจจุบันยอดสั่งซื้อทะลุเป้าไปถึง เกือบ 400,000 บาท จากความสำเร็จดังกล่าว ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนเป็นเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนอื่น ๆ เป็นทั้งวิทยากรอบรมให้ความรู้กับหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ การสอนฝึกปฏิบัติ การทำผลิตภัณฑ์บล็อกปูพื้นจากขยะขวดน้ำ กระถางต้นไม้จากฝาขวดพลาสติก การศึกษาดูงานของบริษัทฯ ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ตลอดจนสื่อมวลชนจากต่างประเทศในการเผยแพร่เป็นชุมชนต้นแบบ ที่กล่าวมาเป็นการประสบความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจชุมชนและการตอบแทนสังคมในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ยังมีข้อมูลอีกมายที่ต้องการเล่า แต่ไม่สามารถถ่ายทอดได้หมดในช่วงสั้น ๆ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมในเพจเฟสบุ๊ค รักษ์ทะเล เสน่ห์บ้านอำเภอ

ชุมชนหรือหน่วยงาน ที่สนใจให้หน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นที่ปรึกษาเรื่องการเพิ่มมูลค่าเศษขยะเหลือทิ้งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับสร้างรายได้ ติดต่อ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โทร. 02-549-3410