RMUTT บนเส้นทางสู่มหาวิทยาลัย ‘นักปฏิบัติ’

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คือหนึ่งในหลายมหาวิทยาลัยของประเทศที่ต้องรับมือกับสถานการณ์อันยุ่งยากจากการระบาดของโรค COVID-19 มาตลอด 2 ปีกว่า ภายใต้การระบาดรอบใหญ่กว่า 4 รอบ ทำให้อุตสาหกรรมการศึกษาในวันนี้ไม่อาจจะดำเนินกิจการในรูปแบบเดิมได้อีกต่อไปแล้ว การปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ กลายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เพื่อยกระดับการศึกษาเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องไปกับปัจจัยแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนไปในวันนี้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีของท่าน รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี ก็ทำได้ดีมาก ๆ ในเรื่องการปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ ๆ สมกับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย

ในโลกยุคปัจจุบันการปรับตัวแทบเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพียงแต่การมาของ COVID-19 ได้ไปเร่งให้การปรับตัวนั้นต้องเร็วขึ้นในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนเท่านั้น โดย รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้เปิดเผยถึงการรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ว่า ในปี 2021 เดิมทีเราคิดว่าสถานการณ์โดยรวมน่าจะดีขึ้นจากปี 2020 ซึ่งจะทำให้ทางมหาวิทยาลัยสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ทั้งในแง่การเรียนและการสอน รวมไปถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น ตรงนี้ทำให้การจัดการเรียนการสอนยังคงต้องมุ่งเน้นไปที่ระบบออนไลน์เป็นสำคัญ โดยทำควบคู่ไปกับออฟไลน์บางส่วน แต่เมื่อเทียบกับปี 2020 แล้วถือว่าเราทำได้ดีขึ้นในปี 2021 เนื่องจากตัวนักศึกษาและอาจารย์มีประสบการณ์และบทเรียนมาแล้วทำให้ครั้งนี้สามารถปรับตัวได้ไม่ยาก ซึ่งตรงนี้ส่วนหนึ่งมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีพื้นฐานเป็นมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้คนของเราปรับตัวได้ค่อนข้างง่าย ในอีกมุมหนึ่งถือเป็นการฝึกฝนให้นักศึกษาเรียนรู้ที่จะหาความรู้ด้วยตนเองไปด้วย

โดยในช่วงสถานการณ์โรคระบาดช่วงแรก ๆ เราต้องหยุดการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนลงไปเลยเพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย แต่ในปี 2021 ที่ผ่านมาจากมาตรการผ่อนคลายของทางรัฐบาลทำให้มหาวิทยาลัยสามารถกลับมาทำงานในภาคปฏิบัติได้มากขึ้น เช่น การทำวิจัยเพื่อลงไปสู่ชุมชนและอุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะที่ในส่วนของการบริหารจัดการงบประมาณนั้น เรามีคณะกรรมการจากสภามหาวิทยาลัยคอยให้คำแนะนำและติดตามทำให้การบริหารงบประมาณในปี 2021 มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ RMUTT ได้รับอนุมัติจากทางสภามหาวิทยาลัยคือ การผลักดันความเข้มแข็งใน 4 ด้าน ด้านเกษตรและอาหาร ด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ด้านโลจิสติกส์ และด้านงานบริการและการท่องเที่ยว รวมไปถึงด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของเราก็ถือว่ามีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ของเรา ตอนนี้ได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อตอนที่เราเปิดหลักสูตรคนแย่งกันมาเรียนอย่างมหาศาล ซึ่งถือเป็นหลักฐานที่แสดงถึงคุณภาพของมหาวิทยาลัยของเราได้เป็นอย่างดี ซึ่งจริง ๆ หลักสูตรในทุกด้านของมหาวิทยาลัยจะมุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนเป็นสำคัญ ตรงนี้จะเป็นหัวใจหลักของประเทศในอนาคต

ยุทธศาสตร์ของ 9 ราชมงคลเกิดจากการมองหาจุดแข็งของราชมงคลแต่ละแห่ง แล้วรวมเอาจุดแข็งเหล่านั้นมาสร้างเป็นยุทธศาสตร์ 3 ด้านคือ ด้านเกษตร ด้านอุตสาหกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยี และด้านสุดท้ายก็คือท่องเที่ยว ซึ่งยุทธศาสตร์ตรงนี้จะเข้ามาหนุนเป้าหมายที่เราต้องการจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม ให้เดินไปสู่เป้าหมายเร็วยิ่งขึ้น โดยทั้งหมดนี้จะไปสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมดเลย

ธนาคารเครดิต

หลายมหาวิทยาลัยตอนนี้กังวลว่าปริมาณนักศึกษาที่ลดลงจะส่งผลต่อการดำเนินงานในอนาคต แต่ทาง RMUTT ได้มีการเตรียมรับมือเรื่องนี้มาอย่างยาวนานแล้ว โดยเรามองว่าคนที่จะมีบทบาทในการพัฒนาประเทศเนี่ยไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กที่จบมัธยมศึกษาชั้นที่ 6 หรือ ปวช. และ ปวส. เท่านั้น แต่ยังมีบุคลากรที่อยู่ในสถานประกอบการที่ทำงานอยู่และไม่มีโอกาสที่จะมาเรียนได้เต็มตัว หรือบุคลากรสูงวัยซึ่งอยากเรียนแบบนอกระบบ ซึ่งเรียนแบบสะสมหน่วยกิตได้ ตรงนี้ ‘ธนาคารเครดิต’ ก็เข้ามาตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มนี้ พร้อมกับทางมหาวิทยาลัยของเราก็มีความเป็นสหกิจศึกษามาตั้งแต่ปี 2546 แล้ว ทำให้เรามีเครือข่ายมากมายที่จะสามารถดำเนินการตรงนี้ได้ ปัจจุบันเรามีหลักสูตรเพื่อรองรับตรงนี้มากกว่า 100 หลักสูตร โดยหลักสูตรที่คนให้ความสนใจเยอะมากก็คือ วิศวกรรมศาสตร์ หรือแพทย์แผนไทย

โดยการเปิดโอกาสให้สามารถเรียนแบบสะสมหน่วยกิตได้ พร้อมยืดหยุ่นทั้งรูปแบบการเรียนที่ทำได้ทั้งแบบออฟไลน์หรือออนไลน์ ขณะที่หากเราพบบุคลากรที่เก่งมาก ๆ เราก็อนุญาตให้สอบเทียบได้เลย ซึ่งตรงนี้ช่วยประหยัดเวลาที่มีคุณค่าไปด้วย พร้อมกันตัวบุคลากรเองยังสามารถรับหน้าที่มาเป็นอาจารย์เพื่อสอนคนอื่น ๆ ต่อไปได้ด้วย ตรงนี้ก่อเกิดประโยชน์ในหลากหลายทางหลากหลายมิติเลยทีเดียว นอกจากนี้ระบบธนาคารเครดิตยังทำเป็นเครือข่าย 9 ราชมงคลอีกด้วย นั่นหมายความว่า คุณสามารถเรียนข้ามสถาบันได้สะดวกตรงไหนไปเรียนที่นั่น ตอนที่เราเป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2518 เรามีสถาบันเดียวแยกเป็น 16 วิทยาเขต โดยมีหลักสูตรเดียวกันหมด เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะเรียนที่ไหนมันก็เหมือนกันนั่นเอง จะเห็นได้ว่า โครงสร้างที่ถูกออกแบบไว้ของเราเดินมาในแนวทางนี้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ถึงแม้วันนี้จะแยกออกเป็น 9 ราชมงคล แต่หลักสูตรก็ยังเป็นหลักสูตรเดียวกัน

เส้นทางสู่มหาวิทยาลัย ‘นักปฏิบัติ’

หลักสูตรทุกอันในตอนนี้เราปรับให้ตรงกับยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมดเลย นั่นหมายความว่าเมื่อนักศึกษาจบออกไปจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะมีงานทำแน่นอน ขณะเดียวกันทางกระทรวงศึกษาก็ได้ให้เราริเริ่มหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ที่เน้นเรียนและทำงานร่วมไปกับสถานประกอบการเลย เพื่อพัฒนาความสามารถของนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ โดยในปี 2563 เรามี 8 หลักสูตร ปี 2564 เราเสนอไปอีก 20 หลักสูตร และล่าสุดในปี 2565 อีก 40 หลักสูตร ของดีที่เด่นชัดของเรื่องนี้คือเมื่อจบออกมาแล้วนักศึกษาทุกคนเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแท้จริง สามารถทำงานได้เลยเพราะระหว่างเรียนได้รับการทำงานกับสถานประกอบการควบคู่ไปด้วยอยู่แล้ว โดยรูปแบบการเรียนการสอนจะให้นักศึกษาเรียนที่สถานประกอบการ 4 วันคือวันจันทร์ – วันพฤหัสบดี และวันศุกร์กับวันเสาร์เรียนกับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้ได้รับทุนทุกคนพร้อมเงินเดือนคนละ 20,000 บาท โดยการสอบภาคปฏิบัติจะทำร่วมกับมหาวิทยาลัย แต่ทฤษฎีก็ไม่ได้ทิ้งมีการสอบเหมือนเดิม และหลังจากเรียนจบนักศึกษาเหล่านี้สถานประกอบการรับเข้าทำงานหมดเลย พร้อมเงินเดือนเริ่มต้นที่ 25,000 บาททันที

อีกสองเรื่องที่สำคัญสำหรับนักศึกษายุคนี้ นอกจากทักษะวิชาชีพในด้านนั้น ๆ คือ ภาษากับไอที โดยเฉพาะภาษาที่ดูเหมือนนักศึกษาไทยยังขาดตรงนี้ค่อนข้างมาก เราจำเป็นต้องสร้างแรงกระตุ้นให้เขาสนใจ ในรูปแบบของโอกาสในการไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ในต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้จะรวมไปถึงโอกาสในความก้าวหน้าด้านอาชีพการงานและเงินเดือน รวมไปถึงผลประโยชน์ต่าง ๆ ในชีวิตของพวกเขาด้วย นอกจากการทำร่วมกับภาคอุตสาหกรรมแล้ว ทางมหาวิทยาลัยก็ได้ลงไปพัฒนาชุมชนระดับฐานรากของประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าไปช่วยวางระบบการบริหารจัดการขยะ จนนำมาสู่การสร้างรายได้ให้กับชุมชนในที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมไปถึงการเข้าไปยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่นให้มีมูลค่าสูงขึ้น จนนำมาสู่รายได้ที่มากขึ้นไปด้วย ตรงนี้ทำให้ประชาชนคนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เมื่อชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นผ่านรายได้ที่สูงขึ้นพลังในการจับจ่ายและบริโภคก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นในที่สุด

High Skills อนาคตของตลาดแรงงาน

ด้านภาพตลาดแรงงานในวันนี้ รศ.ดร.สมหมาย มองว่า ทุกมหาวิทยาลัยจากนี้มีความจำเป็นต้องเพิ่มหลักสูตรและเสริมทักษะใหม่ ๆ ที่จะทำให้นักศึกษามีทักษะในระดับ High Skills ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดแรงงานในขณะนี้ โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นแหล่งรวมของอุตสาหกรรมยุคใหม่ยังคงขาดแคลนแรงงานอยู่อีกมาก รวมไปถึงทักษะด้านภาษาด้วยเช่นกัน พร้อมกันนั้นก็ต้องผลักดันให้นักศึกษากล้าที่จะก้าวออกไปเป็นผู้ประกอบการด้วยตนเอง เพื่อขยายการจ้างงานในตลาดแรงงานให้สูงขึ้น ตรงนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป

ปัจจุบัน เราจะเน้นให้ความสำคัญกับความรู้ในวิชาชีพให้ได้มาตรฐานและต้องสูงกว่ามาตรฐาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้งานทำให้สูงขึ้น ซึ่งตรงนี้จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในระยะยาว ส่วนทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เราจะเน้นไปที่เรื่องของภาษาเป็นสำคัญ เช่น ภาษาอังกฤษ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งจะมีผลต่อความก้าวหน้าของนักศึกษาในอาชีพการงาน และเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ IT ซึ่งเรื่องนี้จะต้องพัฒนาทั้งนักศึกษาและอาจารย์ การเรียนออนไลน์ทำให้ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างให้ความสำคัญกับ IT มากขึ้น รวมไปถึงพยายามเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้เข้าสถานการณ์มากขึ้น ซึ่งพอเป็นการเรียนแบบออนไลน์ กระบวนการเรียนการสอนและรูปแบบการสอนจะต้องมีการออกแบบให้เหมาะสม เพื่อให้เนื้อหาสาระสามารถถูกถ่ายทอดออกไปถึงนักเรียนได้อย่างครบถ้วนตามหลักสูตรในแต่ละวิชา

การบูรณาการความรู้ สิ่งที่ขาดไม่ได้จากนี้

ขณะที่การบูรณาการความรู้ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความตรงต่อเวลา มนุษยสัมพันธ์ ความรับผิดชอบ ความอ่อนน้อม การทำงานร่วมกับผู้อื่น ๆ รวมไปถึงทักษะการนำเสนอ และด้วยความที่เราเป็นมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้พื้นฐานวิชาคณิตศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญเช่นกัน รวมไปถึงการบูรณาการความรู้ให้หลากหลายด้านมากขึ้น

การมาของ COVID-19 ได้พิสูจน์ว่า การบูรณาการความรู้ เป็นเรื่องสำคัญ การเรียนรู้เพียงเรื่องเดียวไม่พออีกแล้ว จำเป็นต้องมีความรู้ที่หลากหลายมาประกอบกัน เช่น หากคุณเรียนเรื่องการบิน ชัดเจนมาก ๆ ในวันนี้ว่าคุณจะต้องลำบากแน่นอน เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องใส่ความรู้รายวิชาเกี่ยวกับผู้ประกอบการเข้าไปด้วย เช่น ทักษะที่สำคัญในการเป็นเจ้าของสถานประกอบการ วิชาบัญชี การตลาด เป็นต้น เพื่อรองรับอนาคตในกรณีที่พวกเขาไม่อาจทำงานประจำได้อีกต่อไป

รศ.ดร.สมหมาย ย้ำว่า ภาพการศึกษาในอนาคตคงไม่ใช่แบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอีกแล้ว ที่จะมีแต่วัยรุ่นนักเรียนถึงจะเรียนได้ ต่อไปการเรียนการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคนทุกวัย ซึ่งจะต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่หยุด เพราะในยุคปัจจุบันที่ความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้อะไรที่คนเคยรู้หรือเคยเรียนมาไม่สามารถใช้ได้อีกแบบในอดีต การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานใหม่ ๆ ในการเรียน เช่น ด้านภาษา สมมติว่าเด็กคนไหนเก่งอยู่แล้ว และมีพื้นความรู้ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว คุณก็ไม่จำเป็นต้องมาเรียนพื้นฐานอีก มันจะได้ไม่เสียเวลาชีวิตเขา ตรงนี้เราจะให้เกรด A เขาไปเลย ไม่ต้องมาเรียนซ้ำอีก เขาจะได้ทุ่มเวลาไปกับวิชาที่จำเป็นจริง ๆ รูปแบบการศึกษาเราจะบังคับเลยว่าจะต้องออกไปทำงานข้างนอกกับสถานประกอบการ เพื่อฝึกวิชาชีพ ลงมือทำงานจริง ใช้ความรู้ที่เรียนมาประสานเข้ากับการฝึกทำงานจริง รวมไปถึงการทำงานร่วมกับคนอื่นด้วย

ผู้เขียน : เอกพล มงคลพัฒนกุล