‘ประเทศไทย’ ถือเป็นผู้ที่ผลิตและส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก ปัจจุบันอยู่ลำดับที่ 2 รองจากอินเดีย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศส่อแววประสบอุทกภัย ‘เอลนีโญ’ หรือให้เข้าใจง่ายก็คือ สภาพร้อนแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมเป็นวงกว้าง ทั้งในเรื่องของผลผลิตภัณฑ์ การเพาะปลูกที่ยากขึ้น
โดยปรากฏการณ์เอลนีโญนี้ส่งผลให้อินเดียประเทศที่มีประชากรเป็นอันดับ 1 ของโลก ออกนโยบายห้ามส่งออก ‘น้ำตาล’ ไปจนถึงครึ่งปีแรกของปี 2567 เนื่องจากความกังวลเรื่องเอลนีโญจะมีผลต่อการปลูกอ้อย และจะทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศสูงขึ้น โดยอินเดียถือเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งการกระทำนี้ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น
นอกเหนือจากน้ำตาลแล้ว ‘ข้าว’ สารอาหารที่คนนับพันล้านต้องบริโภคในทุกวันอาจต้องเผชิญภาวะราคาที่อาจจะสูงขึ้น เนื่องจากอินเดียประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก และมีสัดส่วนกว่า 40% ของการค้าข้าวทั่วโลก (ไทย เวียดนาม ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ส่งออกอันดับต้น ๆ) ได้ออกประกาศระงับการส่งออกข้าวทุกสายพันธุ์ที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดข้าวภายในประเทศ และรับประกันว่าจะมีปริมาณข้าวราคาเหมาะสมเพียงพอภายในประเทศ
ล่าสุดไทยเองก็มีแนวโน้มที่จะปลูกข้าวในน้อยลง เนื่องจากทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เรียกร้องให้เกษตรกรหันไปเพาะปลูกพืชอื่น ๆ ที่ใช้น้ำน้อยกว่า มีสาเหตุมาจากไทยกำลังเผชิญกับภาวะปริมาณน้ำฝนอยู่ในระดับต่ำ และเพื่อเป็นการสงวนน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค ซึ่งการปลูกข้าวนั้นโดยเฉลี่ยทุก 1 กิโลกรัม จะต้องใช้น้ำประมาณ 2,500 ลิตร เมื่อเทียบกับการเพาะปลูกพืชทางเลือกอื่น ๆ ในปริมาณ 1 กิโลกรัมที่ใช้น้ำเพียง 650-1,200 ลิตร
สำหรับการกระทำนี้ก็เหมือนเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภคทั่วโลก เนื่องจากราคาตลาดข้าวทั่วโลกมีแนวโน้มพุ่งขึ้นอีก หากไทยมีการปลูกข้าวน้อยลง ซึ่งไม่เพียงแต่ราคาส่งออกข้าวจะสูงขึ้น ราคาบริโภคในประเทศก็จะปรับตัวขึ้นตาม โดยจากที่ผ่านมาหากราคาสิ่งของมีการปรับตัวขึ้นแล้วนั้น ยากที่จะปรับตัวลงแม้จะมีการคุมระดับราคาก็ตาม
ทั้งนี้ ‘Business+’ จึงได้ทำการสำรวจยอดส่งออกข้าวไทยย้อนหลัง 5 ปี พบว่า การส่งออกข้าวของไทยมีการปรับตัวลง ดังนี้
ปี 2561 ส่งออกข้าว 11.23 ล้านตัน มูลค่า 182,082 ล้านบาท
ปี 2562 ส่งออกข้าว 7.58 ล้านตัน มูลค่า 130,544 ล้านบาท
ปี 2563 ส่งออกข้าว 5.72 ล้านตัน มูลค่า 116,043 ล้านบาท
ปี 2564 ส่งออกข้าว 6.29 ล้านตัน มูลค่า 109,770 ล้านบาท
ปี 2565 ส่งออกข้าว 7.69 ล้านตัน มูลค่า 138,451 ล้านบาท
สำหรับในมุมมองของ ‘Business+’ นั้น หากไทยมีการปรับลดการเพาะปลูกข้าวลงจริง ๆ อาจจะสะเทือนถึงราคาตลาดข้าวโลกได้ ถือเป็นอาฟเตอร์ช็อกต่อจากอินเดีย ทั้งนี้จึงได้ตั้งสมมติฐานขึ้นภายใต้สถานการณ์เชิงลบ 2 ข้อ ดังนี้
ราคา : ราคาส่งออกจะเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากผลผลิตที่ได้ลดน้อยลง ซึ่งไม่เพียงแค่คนนอกประเทศจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น คนในประเทศเองก็จะต้องมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากการราคาขายในประเทศก็จะปรับขึ้น ในอดีตจึงมีการกักตุนจนเกิดการเก็งกำไร
คู่แข่ง : ปัจจุบันไทยอยู่อันดับที่ 2 ของการส่งออกข้าวในตลาดโลก โดยเวียดนามรั้งอันดับที่ 3 ซึ่งถ้ามีการปรับลดการเพาะปลูกเวียดนามอาจจะขึ้นมาแซงที่ไทยได้ ในด้านของราคาเวียดนามก็ถูกกว่า ในด้านการเพาะปลูกผลผลิตที่ได้ก็มากกว่าไทย
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าหากมีการปรับลดจริง ๆ ก็จะส่งผลเสียเป็นวงกว้างอย่างมาก จุดสำคัญเลยก็คือการรักษาความเป็นผู้นำส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกนั่นเอง ซึ่งหากหล่นชั้นลงมาก็เป็นการยากที่จะกลับขึ้นไปได้ อีกทั้งในด้านการบริโภคภายในประเทศก็จะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ไม่ต่างจากการซ้ำเติมในสถานการณ์ที่มีการขึ้นทั้งดอกเบี้ย และค่าครองชีพที่แพงขึ้น ซึ่งการที่ทาง สทนช. มีการเรียกร้องให้เกษตรกรหันไปเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าปลูกข้าวนั้น ก็ต้องมีแนวทางให้แก่เกษตรกรเลือกพืชพันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพดิน แต่อย่างไรก็ดีการลดปลูกข้าวก็อาจจะไม่เหมาะสมเป็นอย่างมาก
.
ที่มา : IQ
.
เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ