ธุรกิจร้านอาหาร

ร้านอาหารประเภทไหนจะเติบโตดีที่สุดในปีหน้า!

ธุรกิจบริการอาหารในประเทศไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าตลาดในปี 2568 จะเติบโตราว 7% จากปีที่แล้ว จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่จะต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ขณะที่หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจริงก็จะช่วยหนุนให้กำลังซื้อของผู้บริโภคดีขึ้น นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นกลับมาถึงช่วงก่อน COVID-19 จะช่วยหนุนยอดขายของธุรกิจบริการอาหาร (ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ : SCB EIC)

ทีนี้มาลองแบ่งการเติบโตของธุรกิจอาหารในแต่ละประเภทกันบ้าง 

  • บริการอาหารแบบ Full-service จะเติบโตจากการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยว รวมถึงกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ แต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยร้านอาหาร Chain มีโอกาสปรับตัวได้มากกว่าในการควบคุมต้นทุน และยังสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อลดการจ้างพนักงาน เนื่องจากมีเงินทุนและสภาพคล่องที่มากกว่า ซึ่งผู้ประกอบการสามารถกระตุ้นยอดขายโดยการจัดโปรโมชั่น และปรับกลยุทธ์หันมาสร้างเอกลักษณ์ พัฒนาคุณภาพ รวมไปถึงการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ตรงจุด เพื่อสร้าง Brand loyalty
  • ร้านอาหารแบบคาเฟ่/บาร์ ได้รับแรงผลักดันจากการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค เช่น ความต้องการสถานที่สำหรับพบปะสังสรรค์ และทำงานนอกสถานที่ รวมถึงความนิยมในการค้นหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ในร้านคาเฟ่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยอดขายได้รับแรงหนุนจากการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ธุรกิจประเภทนี้ก็มีการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการต้องสร้างความแตกต่าง สร้างเอกลักษณ์ในเมนูและการออกแบบร้าน เช่น ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น นำเสนอเมนูสุขภาพเพื่อดึงดูดลูกค้า รวมถึงการขยายช่องทางออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขาย

 

  • ธุรกิจร้านอาหาร Limited-service เติบโตได้ดีโดยเฉพาะการเติบโตของพื้นที่ Commercial estate เช่น พื้นที่ค้าปลีก พื้นที่สำนักงาน ตามพื้นที่เมืองต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถขยายสาขาไปยังพื้นที่เหล่านี้ เพื่อเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น และยังตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าโดยการให้บริการที่รวดเร็วในเวลาเร่งรีบ ซึ่งจุดสำคัญของธุรกิจประเภทนี้คือ การเลือกขยายสาขาในพื้นที่เมืองใหญ่ มีศักยภาพ และประชากรหนาแน่น จะมีโอกาสช่วยเพิ่มยอดขายให้ร้านค้า

ในภาพรวมถึงแม้ธุรกิจร้านอาหารจะยังเติบโต แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น นโยบายปรับขึ้นค่าแรง เพราะธุรกิจบริการอาหารเป็นธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำจำนวนค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ธุรกิจบริการอาหาร ยังเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาในตลาด ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวทั้งในด้านคุณภาพ และการให้บริการ รวมถึงการสร้างความแตกต่างและการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อรักษายอดขายและความสามารถในการทำกำไร

ที่มา : DITP

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus

Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

Youtube : https://www.youtube.com/@thebusinessplus7829