ปตท. ก้าวข้ามความท้าทาย รั้งผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานอย่างต่อเนื่อง

“อุตสาหกรรมพลังงาน” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาองค์กรด้านพลังงานจะเจอกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน ทั้งวิกฤต COVID-19 ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงเทรนด์การเปลี่ยนถ่ายพลังงานดั้งเดิมสู่พลังงานสะอาด และบริษัทที่ยืนหยัดเคียงข้างคนไทย ร่วมฝ่าวิกฤต และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. นั่นเอง

วันนี้เราจึงจะมาเจาะลึกถึงกรอบแนวคิด วิสัยทัศน์ และการวางรากฐานที่ทำให้องค์กรยักษ์ใหญ่ระดับประเทศสามารถก้าวข้ามความท้าทายครั้งใหญ่เหล่านี้ไปได้ นั่นอาจเป็นเพราะ ปตท. ได้วางเป้าหมายสู่การเติบโตในระยะยาว ภายในปี 2030 ประกอบด้วย

  1. New Growth โดย ปตท. ไม่หยุดนิ่งเพียงธุรกิจพลังงานเดิม แต่ได้เพิ่มสัดส่วนในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตมากขึ้น อาทิ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน พลังงานไฮโดรเจน ตลอดจนธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน อาทิ Life Science, Mobility and Lifestyle, High Value Business, Infrastructure and Logistics และ AI, Robotics and Digitalization ให้มีสัดส่วนกำไรสุทธิ 30%
  2. Business Growth ขยายธุรกิจพลังงานที่มีแนวโน้มเติบโตรองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน มุ่งเน้นการขยายธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มปริมาณการผลิตและการค้าใน Portfolio เป็น 9 ล้านตัน/ปี และการขยายธุรกิจไฟฟ้า โดยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนเป็น 8 กิกะวัตต์ และกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็น 12 กิกะวัตต์
  3. Clean Growth ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ กลุ่ม ปตท. 15% เมื่อเทียบกับปี 2020

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมองค์กรขนาดใหญ่ระดับประเทศ แต่พร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนบทบาททางธุรกิจ จากบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปสู่ธุรกิจใหม่ได้เช่นนี้

 

ก่อนอื่นต้องวิเคราะห์ถึงโครงสร้างองค์กรและแนวทางการบริหาร เป็น 2 ส่วนได้แก่ ธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งคุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า จากสถานการณ์โดยรวมในปี 2565 เป็นปีของการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น เศรษฐกิจโลกขยายตัวขึ้น 3.4% จากที่เคยขยายตัวในปี 2564 ที่ 6.2% ขณะที่หากมองภาพของเศรษฐกิจไทย กลับมาขยายตัวขึ้น 2.6% จากที่เคยขยายตัวร้อยละ 1.5% ในปี 2564

 

สำหรับความต้องการการบริโภคพลังงาน อาทิ ราคานํ้ามันดิบดูไบ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 96.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จาก 69.2 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในปี 2564 เนื่องจากความต้องการใช้นํ้ามันเริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกและภาวะความกังวลอุปทานนํ้ามันตึงตัว

 

ด้านธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มีผลการดำเนินงานดีขึ้นสอดคล้องตามราคาพลังงานในภาพรวมของโลก แต่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น มีผลการดำเนินงานลดลง

 

ทั้งหมดที่ระบุมา จะเห็นความไม่แน่นอนทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานอย่างมุ่งมั่น ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตและสภาวะพลังงานผันผวนในปีที่ผ่านมา ปตท. ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง และรักษาผลการดำเนินงานให้มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ เป็นผลให้กลุ่ม ปตท. ยังสามารถนำเงินส่งเข้ารัฐรวม 86,395 ล้านบาทในปี 2565

 

ส่วนของธุรกิจใหม่ ปตท. เน้นโฟกัสส่วนงานของ New Growth และ Business Growth หมายถึง ปตท. จะเน้นเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต ทั้งธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน พลังงานไฮโดรเจน ตลอดจนธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน อาทิ Life Science, Mobility and Lifestyle, High Value Business, Infrastructure and Logistics และ AI, Robotics and Digitalization

 

อย่างไรก็ตาม คุณอรรถพล ยังได้เผยถึงการดำเนินธุรกิจที่ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอีกด้วยว่า เรื่องนี้ยึดโยงไปกับเมกะเทรนด์ด้านความยั่งยืนที่ทุกองค์กรต่างมุ่งทิศทางสู่ Net Zero Emissions โดย ปตท. กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ในปี 2030 เทียบกับปี 2020 เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2040 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี 2050 เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศถึง 15 ปี

 

โดยชูกลยุทธ์ เร่งปรับ กระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด เร่งเปลี่ยน สู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เร่งปลูกป่า เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ จากการปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็น ปตท. 1 ล้านไร่ และความร่วมมือของบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2030 ซึ่งในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 4.15 ล้านตันต่อปี ต่อยอดจากป่าเดิมที่ ปตท. ดำเนินการปลูกกว่า 1 ล้านไร่ ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดยในครั้งนี้ ปตท. ได้สร้างการมีส่วนร่วมปลูกป่าร่วมกับคนไทยได้ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเกม “คุณช่วยเก็บ เราช่วยปลูก” ผ่านระบบ iOS และ Android ซึ่งต้นไม้ทุกต้นที่ปลูกและดูแลต้นไม้ในเกม ปตท. จะนำไปปลูกจริงในพื้นที่แปลงปลูกป่าทั่วประเทศ เพื่อนำประเทศสู่ Net Zero Emissions อย่างยั่งยืน

 

ตลอดการสนทนากับแม่ทัพใหญ่ของ ปตท. คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ เราได้เห็นภาพ A New Journey ของ ปตท. อย่างชัดเจน รวมทั้งเห็นถึงกระบวนการคิด และการฉายภาพองค์กรจากผู้นำที่เป็นกุญแจสำคัญให้ ปตท. ยังคงรักษาเสถียรภาพการเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมพลังงานอย่างต่อเนื่องเช่นนี้