วิโรจน์

อธิบายกลไก ‘ตั๋วเงิน’ ที่นายกฯ ถูกอภิปราย ทำไมไม่ต้องเสียภาษีจากการขายหุ้นสักบาท!

เป็นประเด็นร้อนแรงกระฉ่อนโซเชียลเน็ตเวิร์ค หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มี.ค.68 โดย ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน ได้กล่าวในห้องประชุมว่า ‘นายกฯ’หลีกเลี่ยงภาษีการซื้อหุ้นมาตั้งแต่ปี 2559 ด้วยการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย

ซึ่งการอภิปรายนั้น วิโรจน์พูดถึงตั๋วสัญญาการใช้เงิน (Promissory Note : PN) ที่นายกฯ ใช้ในการซื้อหุ้นจากพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ แทนการจ่ายเงิน โดยที่ตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขระบุวันครบกำหนดชำระ ทำให้เข้าข่ายกลไกเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี”

ทาง ‘Business Plus’ จึงขอมาอธิบายกลไกการใช้ตั๋วสัญญาการใช้เงินนี้ว่า ทำไมถึงไม่ต้องเสียภาษีในการขายหุ้นเลยสักบาทเดียว

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ตั๋วสัญญาการใช้เงิน คืออะไร? ตั๋วสัญญาการใช้เงินเป็นตราสารหรือเอกสารประเภทหนึ่งในกลุ่มของตั๋วเงิน ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินกิจกรรมทางการเงินในธุรกิจ

ซึ่งจริงๆแล้วตั๋วเงินมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) ตั๋วสัญญาการใช้เงิน (Promissory Note) และเช็ค (Cheque) ซึ่งเราอาจจะคุ้นเคยกับชื่อของ ตั๋วแลกเงิน และเช็ค แต่ที่เราอาจจะได้ยินหรือได้เห็นน้อยหน่อยคือ ตั๋วสัญญาการใช้เงินนั่นแหละ

โดยที่ตั๋วสัญญาการใช้เงินจะเป็นเอกสารทางการเงินที่มีผู้เกี่ยวข้องแค่ 2 ฝ่ายเท่านั้น ก็คือ ทางฝ่ายผู้ออกตั๋ว และทางฝ่ายผู้รับเงิน โดยเอกสารทางการเงินประเทศนี้ถูกใช้เพื่อให้เกิดการ ‘กู้ยืมกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย’ โดยผู้ออกตั๋วได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือใช้จ่ายตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง

ซึ่งตั๋วสัญญาประเภทนี้แบ่งเป็น 2 แบบ แบบแรกคือ จำนวนเงินที่กู้ยืม ระยะเวลาการชำระคืน และอีกแบบจะไม่มีกำหนดถึงวันสิ้นสุดการชำระเงินไว้ในตั๋วสัญญากู้เงิน เรียกว่า “ตั๋วสัญญาใช้เงินตามความต้องการ” ซึ่งในตั๋วจะไม่มีกำหนดวันสิ้นสุดการชำระเงิน ขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ว่าจะเรียกเก็บเอาเงินเมื่อไร

โดยปัจจุบันเราอาจไม่คุ้นเคยกับการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินมากนัก เพราะส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของสินเชื่อเงินกู้ระยะสั้นของธนาคาร เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบธุรกิจ โดยมีตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเอกสารประกอบในการกู้ยืม ภายใต้วงเงินที่ธนาคารกำหนด แต่ก็มีนำมาใช้ในภาคธุรกิจเช่น การขายสินค้าเชื่อ โดยที่ผู้ซื้อสินค้าเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามมูลค่าของสินค้าเชื่อนั้นให้แก่ผู้ขายสินค้า

เมื่อเข้าใจตั๋วสัญญาใช้เงิน แล้วเรามาดูกันว่า กลไกที่นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาใช้กับการขายหุ้นทำไมไม่ต้องเสียภาษี?

โดยปกติแล้วหากเป็นการโอนทรัพย์สิน (รวมถึงหุ้น) ให้กับบุคคลอื่นด้วยมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาทจะได้รับการยกเว้น แต่หากเกินกว่านี้จะเสียภาษี 5% แต่ถ้าเป็นการโอนทรัพย์สินจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสจะไม่ต้องเสียภาษีหากมูลค่านั้น ไม่เกิน 20 ล้านบาท และจะเสีย 5% ถ้ามูลค่าเกินจากนี้ไป ซึ่งจากมูลค่าที่นายกฯ ต้องรับโอนจากพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีจึงเลือกวิธีที่จะอาจจะช่วยให้เสียภาษีน้อยกว่า หรือไม่ต้องเสียภาษีเลย

นั่นคือ ‘การขายหุ้น’ แทนการ ‘รับโอนหุ้น’ ซึ่งการซื้อขายหุ้นนอกตลาดที่เกิดจากการตกลงกันเองระหว่างนักลงทุน โดยการซื้อขายนั้นจะทำการชำระเงินและส่งมอบกันนอกระบบตลาด ไม่มีการซื้อขายผ่านตลาดที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ และมีการชำระโอนเงินกันเป็นเงินสดจะเสียภาษีเฉพาะส่วนเกินจากมูลค่าหุ้น หรือกำไรจากการขายหุ้น (Capital Gain) เท่านั้น (ตามมาตรา 40(4)(ช) ของประมวลรัษฎากร) เท่ากับว่า ถ้าหากการซื้อหุ้นของนายกฯกับกลุ่มคนดังกล่าวเกิดขึ้นในราคาต้นทุนตั้งแต่ตอนที่ พี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ได้รับหุ้นมา (ราคาหุ้นตอนซื้อเท่ากับตอนขาย) ก็ทำให้ไม่ต้องจ่ายภาษี Capital Gain สักบาท

และยิ่งไปกว่านั้น หากเลือกวิธีการซื้อหุ้นนอกตลาด และทำสัญญาการใช้ “ตั๋วสัญญาใช้เงินตามความต้องการ” แทนที่จะจ่ายเป็นเงินสด เท่ากับว่าการซื้อขายหุ้นนี้ไม่มีการกำหนดวันสิ้นสุดการชำระเงิน ดังนั้นตราบใดที่คนในครอบครัวยังไม่พร้อมจ่ายภาษีรายได้บุคคลธรรมดาจากการขายหุ้นครั้งนี้ ก็ยังไม่ต้องเรียกเก็บเงินนั่นเอง

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : set , ธนาคารกรุงศรี  , ข่าวหุ้น , thaipbs , ภาพ : Wiroj Lakkhanaadisorn

ติดตาม Business+ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+  : https://lin.ee/pbIHCuS

IG  : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

Youtube : https://www.youtube.com/@thebusinessplus7829

#TheBusinessPlus #BusinessPlus #ลงทุน #ตั๋วเงิน