มัดรวม 9 บริษัทที่ทำกำไรปี 66 สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้ง

ในปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัว 1.9% หากเทียบกับปี 2565 จะชะลอตัวลงเล็กน้อย (ปี 2565 เพิ่มขึ้น 2.5%) แต่หากเรามองด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะมีการขยายตัวค่อนข้างสูงถึง 7.1% (จากปี 2565 ขยายตัว 6.2%) ดังนั้นจึงส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในปีที่ผ่านมา และมีหลายบริษัทที่ประกาศผลการดำเนินงานออกมาและกำไรสุทธิทำจุดสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมา

ซึ่ง ‘Business+’ ได้ทำการสำรวจบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ประกาศงบการเงินออกมาเป็นที่เรียบร้อย พบว่ามี 9 บริษัทที่น่าสนใจและกำไรสุทธิสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ดังนี้

Company

โดย 3 อันดับแรกที่กำไรไรสุทธิสูงสุด คือ

อันดับที่ 1 บมจ.แสนสิริ (SIRI) มีกำไรสุทธิ 6,060 ล้านบาท ทำจุดสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2527 โดยในปี 2566 แสนสิริมีรายรับรวม 39,082 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.7% จาก 34,983 ล้านบาท ในปี 2565 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ในเกือบทุกหน่วยธุรกิจ ยกเว้นรายได้จากโครงการเพื่อเช่าที่ปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ แสนสิริมีการบันทึกกำไรจากการขายทรัพย์สินและการขายที่ดินในปีนี้รวมจำนวน 1,190 ล้านบาท จึงส่งผลให้กำไรสุทธิเติบโตอย่างโดดเด่น 41.6% จากจำนวน 4,280 ล้านบาท ในปี 2565 และอัตรากำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 15.5% จาก 12.2% ในปีก่อน

อันดับที่ 2 บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) มีกำไรสุทธิ 4,426 ล้านบาท ทำจุดสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2546 โดยสาเหตุหลักที่ทำให้มีการเติบโตคือ ธุรกิจโลจิสติกส์มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จุดไฮไลท์คือ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่มียอดขายที่ดินรวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวม 2,767 ไร่ แบ่งเป็นประเทศไทย 1,986 ไร่ และเวียดนาม 781 ไร่ และยอด MOU รวม 524 ไร่ ซึ่งสอดคล้องกับภาพรวมการลงทุนของประเทศไทยที่ปรับตัวดีขึ้นจากกระแสการย้ายฐานการลงทุนและฐานการผลิต

อันดับที่ 3 บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI) มีกำไรสุทธิ 1,100 ล้านบาท ทำจุดสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2553 ซึ่งเราพบข้อมูลในงบการเงินของอิชิตันมีรายได้จากการขาย 8 พันล้านบาท จากปี 2565 มีรายได้ 6 พันล้านบาท โดยสาเหตุที่ทำให้รายได้สูงขึ้น เป็นยอดขายภายในประเทศที่พุ่งขึ้นเกือบ 29%

นอกจากนี้คุณตันยังพัฒนาสินค้า และแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งการปรับรูปแบบขวด “อิชิตัน กรีนที ให้เป็นขวดปากกว้าง” ที่ง่ายต่อการดื่ม และทำให้สัมผัสความหอมของชาได้มากขึ้น และออกสินค้ากลุ่ม Non-Tea อย่าง น้ำด่าง อิชิตัน เจาะกลุ่มลูกค้ารักสุขภาพก็ทำยอดขายได้สูงไม่ต่างกัน

อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญคือ ต้นทุนที่ลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากการผลิตสินค้าที่มากขึ้นตามความต้องการของตลาดทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) หรือพูดง่ายๆคือต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง เพราะผลิตสินค้าออกมามากขึ้นก็จะยิ่งใช้ต้นทุนคงที่ (Fixed Costs) คุ้มค่ามากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งคือ อิชิตัน ได้ทำการปรับสูตรการลดน้ำตาลในบางผลิตภัณฑ์ ซึ่งอย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าก่อนหน้านี้ราคาน้ำตาลพุ่งสูงขึ้นแบบปรอทแตก ดังนั้นการปรับสูตรลดน้ำตาลจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดต้นทุน

สำหรับแนวโน้มของธุรกิจต่างๆ ในปี 2567 ถูกประเมินว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง ตาม GDP ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.2 – 3.2% จากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก , การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว

ที่มา : SET , สภาพัฒน์ฯ

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #งบการเงิน #GDP #เศรษฐกิจ #ตัวเลขเศรษฐกิจ #งบการเงินปี66 #งบการเงิน #กำไรสุทธิ