ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของคนไทยยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2559 มีคดีเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวถึง 466 คดี และเป็นคดีที่มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตคิดเป็นสัดส่วนถึง 83% โดยสถานการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากผู้ชาย
มาดูตัวเลขสถิติความรุนแรงที่ผู้หญิงพบเจอในแต่ละปี ที่ค่อนข้างน่าตกใจทีเดียวสำหรับประเทศที่เรียกตัวเองว่าเมืองพุทธ ยกตัวอย่างเคสที่เห็นกันตามหน้าสื่อบ่อยมากที่สุดและเป็นคดีสะเทือนขวัญหลายคดี อย่างคดีข่มขืน ที่สถิติจากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยฟ้องว่ามีผู้ถูกข่มขืน กว่า 30,000 ราย โดย ทุกๆ 15 นาที มีผู้หญืงถูกข่มขืน ในจำนวนนี้มีผู้เสียหายเพียงแค่ 4,000 รายเท่านั้นที่กล้าเข้าแจ้งความ และที่น่าสลดคือมีเพียง 2,400 คดีเท่านั้นที่ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี
คำถามคือคดีที่เกิดมีมากกว่า30000คดีแต่ทำไมการร้องทุกข์จึงน้อย?
เหตุผลง่ายๆคือ ผู้เสียหายรู้สึกอับอาย ความกังวลที่จะถูกคู่กรณีข่มขู่ ต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจกรณีผู้ชายเป็นสามีหรือผู้ถูกกระทำเป็นลูกจ้าง หรือแม้แต่ผู้บังคับใช้กฏหมายตีความว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว สาเหตุเหล่านี้ จึงทำให้ผู้หญิงเกิดการเลือกยุติปัญหาด้วยการเงียบเสียเอง
ทางออกคืออะไร?
กลไกในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวในเมืองไทยยังค่อนข้างน้อย และมีทางเลือกให้กับเหยื่อหรือผู้หญิงน้อยมากๆ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวได้ถูกจับมาถอดรหัสและคิดค้นขึ้นเป็นโซลูชั่นใหม่เพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างชัดเจนและให้คำปรึกษาที่จะนำมาสู่การลดความรุนแรงในครอบครัวได้มากขึ้นของคุณผู้หญิงที่เป็นเหยื่อความรุนแรง
“โปลิศน้อย” (PoliceNoi) เป็นอีกช่องทางใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการให้คำปรึกษาของปัญหานี้ ในรูปแบบของแชทบอทที่จะลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่อาจเกิดความไม่ไว้วางใจในการให้ข้อมูล รวมถึงการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
เบื้องต้นโปลิศน้อยอยู่ในขั้นตอนการทดสอบความถูกต้องและความแม่นยำในการให้บริการ โดยจะนำไปฝังกับแพลตฟอร์มไลน์ และเพจโปลิศน้อย
ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มมาได้ 70% และพร้อมเชิญชวนเหยื่อให้เข้ามาโพสต์ปัญหาหรือประสบการณ์เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาต่อไปใน www.dtac.co.th/plikthai/p/ai-chat-bot
https://www.facebook.com/403508106785061/videos/416474285488443/
ทั้งนี้โปลิศน้อยได้รับการสนับสนุนจาก ดีแทค ภายใต้โครงการ “ดีแทคพลิกไทย” ที่ให้ทุนราว 1 แสนบาทในการพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาหุ่นยนต์ และได้ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลประจำเทเลนอร์เอเชียเข้ามาช่วยพัฒนาหุ่นยนต์โปลิศน้อยในลักษณะของแชทบอท
โดยดร.วินน์ เป็นผู้มีประสบการณ์ในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Ai มาสร้างเป็นแพลตฟอร์มชื่อ “บอทน้อย” (Botnoi) ที่มีผู้ใช้บริการกว่า 1 ล้านรายบนแอพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งทำหน้าที่ “รับฟัง” และ “ยับยั้ง” การตัดสินใจในการฆ่าตัวตายได้ดีมาก
ข้อดีของการคุยกับแชทบอท โดยธรรมชาติของคนเป็นเหยื่อจะได้ผลดีอย่างมาก เนื่องจากไม่อยากจะคุยกับมนุษย์ด้วยกัน แต่ถ้าคุยกับโรบอทจะเป็นการระบายได้อย่างเต็มที่ และจะทำให้เหยื่อมีความมั่นใจในการร้องทุกข์ ปรึกษาปัญหาความรุนแรงระหว่างคู่กรณีกับเหยื่อได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยไอบีเอ็มวัตสัน เคยทำวิจัยว่า 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามสะดวกใจจะให้ข้อมูลที่มีความอ่อนไหวต่อหุ่นยนต์มากกว่ามนุษย์
สำหรับข้อมูลการตอบโต้ของแชทบอทที่จะถูกบรรจุลงไปในโปลิศน้อยนั้น จะเป็นการใส่ข้อมูลเชิงจิตวิทยาที่มีความหลากหลายและหลากสถานการณ์ต่างๆ ผ่านผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ รวมถีงข้อมูลจากผู้ถูกกระทำป้อนเข้าไปในระบบ Ai อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันโปลิศน้อยมีชุดคำถามประมาณหนึ่งพันคำถาม และตั้งเป้าให้มีชุดคำถามเพิ่มเติม2แสนต่อไปในอนาคต…