‘เกษตรกรไทย’ กับ 5 พืชเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้ 8 แสนล้านต่อปี

ประเทศไทย ถือเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีความมั่นคงทางอาหารอยู่ในเกณฑ์สูง นับเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารอันดับต้น ๆ ของโลก ในปี 2564 ไทยยังคงติดอันดับการส่งออกที่ลำดับ 13 ซึ่งการที่เราติดอยู่ในระดับท้อปได้เนื่องจากเราขึ้นชื่อเรื่องผลผลิตทางเกษตรกรรมที่ถือว่าเป็นอาหารของโลก เช่น ข้าว, มันสำปะหลัง เป็นต้น โดยพืชเหล่านี้มีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างสูง นั่นเป็นเพราะว่าการที่จะปลูกนั้นสิ่งที่สำคัญคือภูมิอากาศ สภาพดิน และอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันมีสัดส่วนที่ลงตัว จึงถือเป็นจุดแข็งของไทยที่ประเทศอื่นไม่สามารถเลียนแบบในด้านของคุณภาพได้

โดยในปี 2565 ประเทศไทยมีรายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจ รวมกันอยู่ที่ 8.75 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 12.7% จากปี 2564 ซึ่งเมื่อแยกเป็นพืชแต่ละประเภท พบว่า อ้อย เพิ่มขึ้น 54.1%, ปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้น 24.1%, มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้น 18.2%, ข้าว เพิ่มขึ้น 8.3% และ ยางพารา เพิ่มขึ้น 0.3% ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับปริมาณนํ้าฝนเพิ่มขึ้น ทำให้นํ้าในอ่างเก็บนํ้าที่สำคัญ และแหล่งนํ้าตามธรรมชาติมีปริมาณเพียงพอ ทำให้ผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้น

สำหรับในปี 2566 นี้ อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ระบุว่า รายได้พืชหลักเศรษฐกิจคาดจะลดลง 4.7% อยู่ที่ 8.33 แสนล้านบาท เนื่องจากรายได้เกษตรกรจากพืชที่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ปรับตัวลดลง 32.6% และ ยางพารา ลดลง 15.8% หลังภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้สินค้าคงทนชะลอตัวลง และราคาพืชที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั้งสองชนิดก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน

ขณะที่รายได้เกษตรจากพืชที่นำไปประกอบอาหาร ได้แก่ อ้อย คาดจะขยายตัว 18.4%, ข้าว จะขยายตัว 7.7% และ มันสำปะหลัง จะขยายตัว 5.4% ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันเป็นผลมาจากการเปิดประเทศทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับปกติ หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

แนวโน้มรายได้เกษตรกร 5 พืชเศรษฐกิจ ปี 2566

-ปาล์มน้ำมัน คาดรายได้เกษตรจะลดลง 32.6% อยู่ที่ 0.95 แสนล้านบาท  โดยปริมาณผลผลิตในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.6% และราคาคาดว่าจะลดลง 34.6% ซึ่งผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563-2565) จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น และราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับลดลง เนื่องมาจากเกิดปรากฏการณ์ลานีญากับทางฝั่งผู้ผลิตปาล์มรายใหญ่ของโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันโลกเพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคาปาล์มน้ำมันลดลง

-ยางพารา คาดรายได้เกษตรจะลดลง 15.8% อยู่ที่ 2.17 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตคาดจะทรงตัวจากปี 2565 สำหรับราคาคาดจะปรับลดลง 15.8% จากปี 2564 ที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.7% และ ปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้น 1.5% โดยในปีนี้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการในอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลง ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง

-ข้าวเปลือก คาดรายได้เกษตรกรจะขยายตัว 7.7% อยู่ที่ 3.11 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้น 3.4% และราคาข้าวเปลือก (ความชื้น 15%) จะเพิ่มขึ้น 4.2% โดยรายได้เกษตรกรจะได้รับผลดีจากผลผลิตข้าวนาปรังที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าว จากความต้องการบริโภคข้าว เนื่องจากกิจกรรมการค้าและบริการกลับมาเป็นปกติ จากการเปิดประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยข้าวไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

-อ้อย คาดรายได้เกษตรกรจะขยายตัว 18.4% อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตคาดจะเพิ่มขึ้น  12.6% ขณะที่ราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น  5.2% ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก รวมถึงราคาอ้อยปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือการประกันราคาอ้อยของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีวัตถุดิบอ้อยเพียงพอต่อการนำไปผลิตเป็นน้ำตาลเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น

-มันสำปะหลัง คาดรายได้เกษตรกรจะขยายตัว 5.4% อยู่ที่ 0.90 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตคาดจะเพิ่มขึ้น 2.2% ขณะที่ราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.1% โดยผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากแนวโน้มราคาหัวมันสดเพิ่มขึ้น จูงใจให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกมากขึ้น ด้านราคามันสำปะหลังคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง จากความต้องการที่จะนำไปแปรรูปเป็นมันเส้น แป้งมันสำปะหลัง และเอทานอล และความต้องการจากประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักที่มีการเปิดประเทศ

โดยจากมุมมองของ ‘Business+’ ที่รายได้ปาล์มน้ำมันจะชะลอลงนั้นจุดเด่นชัดเลยคือผลผลิตที่ล้นตลาด ซึ่งเมื่อไม่มีการควบคุมการผลิต ปัจจัยเหล่านี้ก็จะส่งผลต่อราคาทำให้ชาวเกษตรกรมีรายได้ลดลง

ส่วน ยางพารา ที่รายได้คาดจะปรับลง เนื่องมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการในอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลง ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง

ขณะที่ ข้าวเปลือก ที่รายได้มีแนวโน้มขยายตัว นั่นเป็นเพราะว่าอาหารถือเป็นปัจจัยสี่ที่อยู่ในการดำรงชีวิต แม้สภาพแวดล้อมจะแปรปรวน หรือมีเหตุการณ์อะไรก็ตามเกิดขึ้น แม้ราคาจะขึ้นจะลงก็ไม่อาจเลี่ยงได้ในการบริโภค โดยในปี 2565 ไทยส่งออกข้าวปริมาณ 7.69 ล้านตัน สูงกว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 7.5 ล้านตัน ถือเป็นอันดับ 2 ประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก

สำหรับ อ้อย ที่รายได้ยังคงเติบโต เพราะถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการแปรรูปเป็นน้ำตาล ซึ่งไทยมีการบริโภคน้ำตาลภายในอยู่ที่สัดส่วน 39% และส่งออก 61% ตลาดหลัก คือ อินโดนีเซีย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต

สุดท้ายนี้ มันสำปะหลัง เป็นพืชที่ปลูกง่ายกว่าพืชชนิดอื่น ทนต่ออากาศแล้งได้ดี อายุการเก็บเกี่ยวก็สามารถยืดหยุ่นได้ โดยรายได้นั้นยังคงมีแนวโน้มเติบโต เนื่องจากสามารถนำไปผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมอาหาร ยา พลังงาน และแอลกอฮอล์ เป็นต้น สำหรับชาวเกษตรกรที่อยากลองริเริ่มปลูกพืชมันสำปะหลังก็อาจจะถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี

จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นว่าพืชที่นำไปใช้ประกอบอาหาร ยังคงเติบโตได้ดี จากความต้องการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้น ขณะที่พืชที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง จากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอยทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งทิศทางค่าเงินบาท จะเป็นปัจจัยกดดันที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร

.

ที่มา : finnomena,  ttb analytics, วิจัยกรุงศรี

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #เกษตรกร #รายได้เกษตรกร #อาหาร #พืชเศรษฐกิจ