จริงไหม? ที่ห่วงโซ่การผลิตหมูไทยเสี่ยงรวนทั้งระบบ หากซี้ซั้วนำเข้าจากสหรัฐฯ เพียงแค่ต้องการต่อรองภาษี!

หนึ่งในเงื่อนไขที่รัฐบาลไทยจะใช้ต่อรองกับ ‘ทรัมป์’ เพื่อให้ลดภาษีนั้นคือ เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งมีการพูดถึงสินค้าเกษตร และแนวคิดหนึ่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์คือการ ‘นำเข้าหมูจากสหรัฐฯ’ จนทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและตัวแทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคต่างๆ ได้ออกมาร้องทุกข์

โดยสมาคมฯ มองว่า การนำเข้าเนื้อหมูจะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมสุกรไทย ซึ่งมีเกษตรกรอยู่มากกว่า 200,000 ครอบครัวทั่วประเทศ รวมถึงจะกระทบห่วงโซ่การผลิตหมูทั้งหมด ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ ไปจนถึงโรงแปรรูปเนื้อหมู ตลอดจนกระทบถึงสุขอนามัยของคนไทยที่ต้องเสี่ยงกับสารเร่งเนื้อแดงจากหมูสหรัฐฯ นับเป็นหายนะร้ายแรงต่อประชาชน และความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

ทีนี้ ‘Business Plus’ จะมาอธิบายให้ฟังเป็นข้อๆ ว่าทำไมการนำเข้าเนื้อหมูถึงจะกระทบไปทั้งห่วงโซ่อุปทาน

1. ไทยผลิตหมูเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก : หากเราดูจากข้อมูลการผลิตเนื้อสุกรเป็นไปเพื่อการบริโภคในปี 2567 นั้น เราจะพบว่าเป็นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลักราว 99% ส่งออกราว 1% สาเหตุเป็นเพราะว่าตลาดเนื้อสุกรในประเทศตอนนี้ได้รับการปกป้องจากกฏหมายควบคุมการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์สุกร ทำให้ผู้ผลิตเนื้อสุกรมักเลือกทำตลาดในประเทศเป็นหลัก แต่นั่นก็เท่ากับว่าเราพึ่งพาเพียงแค่อุปสงค์ในประเทศเท่านั้น หากมีการนำเข้าเนื้อหมูเข้ามาก็จะทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้น เกษตรกรได้รับผลกระทบด้านราคา และปริมาณ

ซึ่งในประเทศไทยนั้น “หมู” เป็นสินค้าควบคุมภายใต้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เพื่อควบคุมความผิดปกติของการกำหนดราคาซื้อ ราคาขายหรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม โดยการจะขึ้นราคาหมูจะขึ้น-ลงตามอุปสงค์และอุปทาน หรือพูดง่ายๆคือ ขึ้นตามปริมาณผลผลิตและความต้องการซื้อในตลาดเท่านั้น

2. ความต้องการเนื้อหมูในประเทศน้อยลงอย่างต่อเนื่อง : การบริโภคหมูของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมี 2 ปัจจัยกดดันอุปสงค์ นั่นคือ

จำนวนประชากรไทยมีแนวโน้มลดลง โดยประชากรไทยได้ลดจำนวนลงตั้งแต่ปี 2563 มาอยู่ที่ 66.2 ล้านคน และลดต่อเนื่องมาในปี 2567อยู่ที่ 65.95 ล้านคน กดดันการบริโภคเนื้อสุกร โดยคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าการบริโภคเนื้อสุกรของไทยอาจโตได้ต่ำเพียงแค่ 0.6% ต่อปี

– จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ปัจจุบันไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) และคาดว่าในปี 2572 ไทยจะเป็น Super-Aged Society ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคเนื้อสุกรลดลง เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่บริโภคเนื้อสุกรน้อย ทั้งปริมาณและความถี่ต่อสัปดาห์โดยผู้สูงอายุบริโภคเนื้อสุกรเฉลี่ยลดลงเหลือ 38 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เทียบกับคนวัยทำงานที่บริโภคเนื้อสุกรเฉลี่ยอยู่ที่ 49 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

3.ราคาหมูของไทยไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิต 5 รายหลักของโลกได้ : โดยเนื้อหมูของไทยมีราคาสูงกว่าผู้ผลิตรายสำคัญของโลก เช่น สเปน สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์เป็นต้น จึงทำให้ ไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกได้

หากเทียบราคาหมูกับผู้ผลิตรายสำคัญของโลกจากราคาต่ำสุดไปสูงสุดจะมีราคาดังนี้
– บราซิล 1.38 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม
– เดนมาร์ก 1.67 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม
– เนเธอร์แลนด์ 1.72 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม
– สหรัฐฯ 1.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม
– สเปน 1.86 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม
– ไทย 1.95 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม
– จีน 2.38 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม
(ข้อมูลปี 67 จาก Professional Pig Community)

4. ต้นทุนการผลิตสูง : สำหรับในด้านอุปทานการผลิตนั้น ยังมี 2 ปัจจัยที่กดดันอย่างหนักคือ ต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะต้นทุนจัดการฟาร์ม (Biosecurity) เพื่อให้ได้มาตรฐานที่ปลอดจากโรค ASF นอกจากนี้ ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไทยยังต้องนำเข้าในบางรายการหลัก เช่น กากถั่วเหลือง จะทำให้ราคามีความไม่แน่นอนสูง กระทบต่อปริมาณการผลิตสุกร โดยเฉพาะในเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ขณะที่ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยบางส่วนยังเผชิญภาวะขาดทุนสะสมจากผลของ ASF จนต้องเลิกกิจการในปี 67 มีการขาดทุนเฉลี่ยถึง 8 บาทต่อกิโลกรัม โดยในปี 2567 มีจำนวนเกษตรกรรวม 1.49 ราย ลดลงไปค่อนข้างสูงจากปี 2564 มี 1.89 แสนราย ขณะที่ในปี 2568 มีการคาดการณ์ว่าอุปสงค์เนื้อสุกรไทยจะลดลงจาก 1.61 ล้านตันเหลือ 1.58 ล้านตัน

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากการเปิดเสรีการค้า โดยเฉพาะหากไทยถูกกดดันให้เปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตสุกรรายใหญ่ของโลก ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำและราคาถูกกว่าเนื้อสุกรในประเทศจะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง

จากเหตุผลทั้งหมด 4 ข้อนี้ทำให้เห็นว่าตลาดเนื้อหมูในประเทศยังอยู่ในช่วงอ่อนแอ ทั้งอุปทานและอุปสงค์ ดังนั้น หากเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ จะเกิดผลกระทบหลายด้านต่อเกษตรกร เพราะการเข้ามาของเนื้อหมูสหรัฐฯ ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยนั้น หากไม่ควบคุมปริมาณให้ดีอาจทำให้เกิดผลกระทบคล้ายกับ ‘การทุ่มตลาด’ ที่สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในของประเทศผู้นําเข้า

ที่มา : KResearch , IQ

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

#BusinessPlus #เศรษฐกิจ #สงครามการค้า