Pfizer

Pfizer breakthroughs that change patients’ lives พลิกโฉมโลกการรักษาด้วยยาที่เป็นนวัตกรรม

เมื่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพในเอเชีย สำหรับกลุ่มธุรกิจเพื่อสุขภาพ หากเน้นเจาะจงลงไปในกลุ่มธุรกิจยา เมื่อมองจากโครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ารวมถึงความต้องการเข้าถึงช่องทางการรักษาที่ดีขึ้น ทั้งจากโรงพยาบาลเอกชนและรัฐบาลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แน่นอนว่าจากปัจจัยบวกข้างต้น ย่อมส่งผลให้แนวโน้มความต้องการยาเพิ่มสูงขึ้น

อุตสาหกรรมยา เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมซึ่งจะมีบทบาทสำคัญ ต่อการดำรงชีพของมวลมนุษย์ชาติ เพราะแต่ละปีมีการใช้ยาในปริมาณมหาศาล ซึ่งจากการประเมินมูลค่าตลาดยาแผนปัจจุบันทั่วโลกในปี 2561 ที่ผ่านมา สูงถึง 24 ล้านล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดยาในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.5%

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่ามูลค่าตลาดยาในไทยจะสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท แต่ทว่าในมุมของการแข่งขันก็มีความรุนแรงเช่นเดียวกัน เพราะมีผู้เล่นจำนวนมาก ทั้งบริษัทผู้ผลิตในไทยและบริษัทผู้ผลิตยาข้ามชาติ โดยในกลุ่มบริษัทผู้ผลิตยาข้ามชาติจะเน้นตลาดยาต้นแบบ (Original Drugs) และยานวัตกรรมที่มีคุณภาพสูง

และหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก อย่าง ไฟเซอร์ (Pfizer) องค์กรแห่งนี้คือผู้นำตลาดในกลุ่มนี้ ที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่าครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่ปี 2501 จวบจนถึงปัจจุบัน และเพิ่งฉลองครบรอบ 60 ปีในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา

แน่นอนว่าไฟเซอร์ยังคงย้ำจุดยืนที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงยาที่เป็นนวัตกรรมให้ได้มากที่สุดต่อไปไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ทศวรรษก็ตาม

หลายปีที่ผ่านมาในพื้นที่ของเอเชียอย่างในญี่ปุ่น รัฐบาลต่างอัดเงินเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพมากขึ้น เพราะประชากรแห่งนี้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ เช่นเดียวกับอีกในหลายประเทศต่างกำลังเดินตามรอยญี่ปุ่น

ขณะที่อีกด้านหนึ่งของการดูแลสุขภาพเพื่อรักษาการดำรงชีวิตได้ยืนนานขึ้น โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพ ย่อมส่งผลให้อุตสาหกรรมยา รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารขยายตัวขึ้นตามไปด้วย โดยแนวโน้มดังกล่าวได้สร้างโอกาสการเติบโตขนาดใหญ่แก่บริษัทยาชั้นนำ1 ของโลกอย่าง ไฟเซอร์ อิงค์ (Pfizer, Inc.) บริษัทเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่มหานครนิวยอร์ก และสำนักงานวิจัยหลักอยู่ที่เมืองโกรตัน รัฐคอนเนคทิคัต เป็นบริษัทยาและเวชภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในแง่ของรายได้ ด้วยเครือข่ายสำนักงานที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย

และยังเป็นผู้คิดค้นยาที่ใช้รักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย รวมถึงยังเป็นผู้ผลิต/พัฒนายาและวัคซีนในหลาย ๆ แขนงด้วยกัน

สำหรับ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้การนำทัพของ คุณเซลิม เซสกิน ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยและอินโดไชน่า ยังคงมุ่งดำเนินธุรกิจบนตามพันธกิจและวิสัยทัศน์ขององค์กร นั่นคือ การให้บริการด้านการดูแลและรักษาสุขภาพกับประชาชนคนไทย ได้ดียิ่งๆ ขึ้นไป พร้อมกับเป้าหมายสำคัญ คือการทำให้คนไทยเข้าถึงยาประเภทนวัตกรรมที่มีคุณภาพสูง เช่นเดียวกับไฟเซอร์ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

Pfizer

คุณเซลิม เซสกิน ผู้บริหารธุรกิจคิดบวกกับภารกิจที่ท้าทาย

เป็นเวลากว่า 6 ทศวรรษที่คนไทยรู้จัก บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพราะเข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทยเป็นปีที่61 แล้วโดยคุณเซลิม เซสกิน เข้ามารับตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2559 โดยก่อนหน้านี้เขาผ่านการทำงานกับไฟเซอร์มาแล้ว 5 ประเทศ ตลอดระยะเวลากว่า 16 ปีที่ร่วมงานกับไฟเซอร์มา

คุณเซลิม บอกกับ Business+ ว่า จากการทำงานกับไฟเซอร์มากว่า 16 ปี และได้มีโอกาสทำงานในหลากหลายประเทศ อาทิ ประเทศฟินแลนด์ ตุรกี สหรัฐฯ และอังกฤษ  ก่อนที่จะมารับตำแหน่งในประเทศไทย ทำให้ได้เห็นแนวคิด มุมมอง และวัฒนธรรมของคนที่หลากหลาย โดยหลังจากได้เข้ามาทำงานในประเทศไทยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เขารู้สึกประทับใจกับการทำงานร่วมกับพนักงานทั้งหมดราว 400 คนซึ่งเป็นคนไทยเกือบทั้งหมด เพราะเขารู้สึกว่าคนไทยมีจุดเด่นด้านการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และที่สำคัญ ทีมงานของไฟเซอร์มีความกระตือรือร้นที่จะการเรียนรู้ และมีความอยากที่จะทำในสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา

“ตลอดระยะเวลาที่ทำงานที่ไฟเซอร์ ประเทศไทย 3 ปี ยังไม่เคยได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีจากพนักงาน นั่นเพราะคุณสมบัติเด่นของคนไทยที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การเป็นคนที่จิตใจดีงาม มีความเป็นกันเอง พร้อมเรียนรู้และมีความทุ่มเทให้กับงาน ที่สำคัญคือ  มีความภาคภูมิใจในองค์กร ในงานที่ทำ ซึ่งเห็นได้จากการที่เราจะมีพนักงานจำนวนไม่น้อยที่ทำงานมาเกินกว่า 15 ปี 20 ปี 25 ปี”

ข้อมูลนี้ สะท้อนให้เห็นว่า องค์กรแห่งนี้มีความมั่นคงสูง และให้โอกาสพนักงานเติบโตในอาชีพ ในขณะที่ตัวพนักงานเองยังมีความรักความผูกพันต่อองค์กรอย่างมาก มีทัศนคติของความรู้สึกการเป็นเจ้าของธุรกิจ ทำให้ทุกคนทำงานร่วมกันแบบเพื่อน แบบเป็นครอบครัวเดียวกัน โดยผลลัพธ์ที่ได้ นอกเหนือจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังเกิดความสุขและสนุกกับการทำงานภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีในบรรยากาศของความเป็นมิตร

สำหรับบทบาทผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยและอินโดไชน่า เราถามถึงสไตล์ความเป็นผู้นำ เพราะต้องไม่ลืมว่าเขาคือผู้บริหารต่างชาติที่ต้องทำงานกับคนท้องถิ่นราว 400 คน โดยคุณเซลิมบอกว่า สไตล์การทำงานหรือการบริหารงานของตนเองนั้น จะให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นหลัก โดยเฉพาะการสนับสนุนให้พนักงานทุกคนมีโอกาสเติบโตในอาชีพ บนพื้นฐานที่ต้องการให้ทุกคนทำงานอย่างมีความสุขและสนุกกับงาน ซึ่งจะสอดคล้องกับค่านิยมองค์กรของไฟเซอร์คำหนึ่งที่ว่า Joy หรือความสนุกสนาน

“การจะทำงานให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี สิ่งสำคัญคือจะต้องมีความสนุก มีความสุขในสิ่งที่ทำ ซึ่งหากปราศจากความสนุกแล้ว ก็คงจะไม่อยากทำอีกเป็นครั้งที่สอง ผมพร้อมช่วยพนักงานในการพัฒนาศักยภาพตนเองในด้านต่าง ๆ และมีโอกาสได้เพิ่มประสบการณ์ที่หลากหลาย ผมชื่นชมอุปนิสัยของคนไทยซึ่งมีลักษณะที่สามารถทำงานร่วมกันได้ง่าย ทำให้การบริหารองค์กรแห่งนี้แม้จะมีความท้าทาย แต่ก็เต็มไปด้วยมีความสุข เพราะพนักงานทุกคนพร้อมที่จะนำพาบริษัทก้าวไปสู่จุดหมายด้วยกัน

แม้ว่าหน้าที่หลักของผู้บริหาร คือ การรับผิดชอบเรื่องของผลการดำเนินธุรกิจ เรื่องของการขาย เรื่องตัวเลข และรายได้ ซึ่งถือเป็นปกติ แต่สำหรับผม ถ้าสามารถช่วยใครก็ตามให้ได้รับการพัฒนาในอาชีพและหน้าที่การงาน ช่วยให้เกิดความคิดที่จะก้าวหน้าในอาชีพ ผมถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผม

อย่างที่บอกไป ลักษณะความเป็นผู้นำของผม คืออยากเห็นพนักงานมีความอยากในการเรียนรู้ มีความอยากในการทำให้มากขึ้น (To do more) มีความอยากในการลองทำสิ่งใหม่ ๆ (Try the new things) ซึ่งผมถือเป็นความสำคัญอันดับต้น ๆ ของผมในการผลักดันพวกเขา

และที่ผ่านมา ผมจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพนักงานให้มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ และเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรในด้านต่างๆ ส่วนลักษณะการบริหารงานของผมจะเป็นแบบให้คำแนะนำ (Coaching) ให้การสนับสนุนมากกว่าการชี้บอกให้ทำ เพราะเราต้องการสนับสนุนให้ทุกคนกล้าคิด เพื่อเปิดความคิดให้กว้างขึ้น (Think Broader) และที่สำคัญ หากพนักงานต้องการพัฒนาศักยภาพตนเอง ทางไฟเซอร์พร้อมที่จะสนับสนุนในการเรียนรู้ให้กับทุกคน นั่นคือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้มีความรักและผูกพันกับบริษัทแห่งนี้นั่นเอง”

Pfizer

ไฟเซอร์คือผู้นำนวัตกรรมยา

ในแง่การบริหารธุรกิจของไฟเซอร์ในประเทศไทยนั้น คุณเซลิมบอกว่า ด้วยจุดมุ่งหมายหลักของไฟเซอร์ คือ การนำเสนอนวัตกรรมและความก้าวหน้ามาสู่โลกใบนี้ โดยเฉพาะนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ป่วย เพื่อช่วยให้พวกเขามีอายุที่ยืนยาวขึ้นและมีสุขภาพที่ดีขึ้น ดังนั้น หัวใจสำคัญของธุรกิจไฟเซอร์คือ การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับมากมาย

ทำให้ในปัจจุบันไฟเซอร์ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทผู้ผลิตยาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รวมถึงเป็นผู้นำในตลาดยาในประเทศไทยด้วย ด้วยจำนวนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาและวัคซีนที่อยู่ในตลาดกว่า 130 ผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมการรักษาโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับระบบประสาท รวมถึงวัคซีนและยาปฏิชีวนะ 

ส่วนการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บทบาทหลักของไฟเซอร์คือ การจัดหา หรือนำนวัตกรรมที่เป็นยาใหม่มาช่วยผู้ป่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น และสิ่งที่ไฟเซอร์ให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ คือ การนำยาใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรมขั้นสูงเข้ามาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายในปี 2562 นี้เพียงปีเดียวมียาใหม่ที่ได้รับอนุมัติทะเบียนทั้งหมดถึง 4 ตัว และบริษัทได้วางแผนว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า จะมียาใหม่ได้รับอนุมัติออกมาอีก 10 ตัว

“นิยามยาที่เป็นนวัตกรรมของไฟเซอร์ หรือที่เราเรียกว่าเป็น Breakthrough คือยาหรือโซลูชันที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ของความต้องการทางการแพทย์ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง (Unmet medical need) ทั้งด้านการป้องกัน ซึ่งอยู่ในกลุ่มวัคซีนเป็นหลัก โดยไฟเซอร์ได้จัดสรรงบประมาณ 6-7 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6-8% ของรายได้โดยรวมของไฟเซอร์ ในการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้วัคซีนและยาที่ใช้เพื่อการรักษาโรคต่างๆ”

คุณเซลิมอธิบายเพิ่มเติมว่า การที่ไฟเซอร์ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา ด้วยการใช้งบประมาณในส่วนนี้จำนวนมหาศาลในแต่ละปี ในการคิดค้นนวัตกรรมด้านการรักษาโรคเพื่อยับยั้งการระบาด การก่อตัวของโรค ยาที่เป็นนวัตกรรมของไฟเซอร์มีสิทธิบัตรยาคุ้มครองทั้งนี้ยาใหม่ที่เป็นนวัตกรรมที่เข้ามาในตลาดจะไม่มียาสามัญ(Generic)มาเป็นคู่แข่งที่สำคัญคือยาที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆที่ไฟเซอร์เรียกว่าเป็น Breakthroughสามารถตอบสนองต่อความต้องการทางการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง(Unmet medical need) ได้

นอกจากนี้ไฟเซอร์ยังให้ความสำคัญสูงสุดต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในทุกขั้นตอนของการจัดการและผลิตยา

 

ยุทธศาสตร์สู่ผู้นำตลาดยาประเทศไทย

ทั้งนี้ หากมองในมุมของโอกาสของธุรกิจยาในประเทศไทย คุณเซลิมมองว่าแนวโน้มหรือเทรนด์ที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ เรื่องของสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีการประเมินว่าจะมาถึงในอีก 2 ปีข้างหน้า คือในปี 2564 โดยประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างแท้จริงตามคำนิยามของสหประชาชาติ เนื่องจากมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด แน่นอนว่าแนวโน้มดังกล่าวเป็นหนึ่งในโอกาสทางธุรกิจ ที่จะทำให้บริษัทอย่างไฟเซอร์มีโอกาสในการนำยาใหม่ ๆ สู่ตลาด

นอกจากนี้ ถ้ามองในเชิงพาณิชย์เกี่ยวระบบการจัดซื้อยาของไทยในไทย จะมีช่องทางเข้าถึงผู้ป่วย 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่เป็นโรงพยาบาลของรัฐ กลุ่มโรงพยาบาลเอกชน และร้านค้ายารายย่อย ซึ่งใน 3 กลุ่มนี้ โรงพยาบาลของรัฐยังคงเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่สุดของไฟเซอร์ โดยมีสัดส่วนยอดขายประมาณร้อยละ 55-60

อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลไทยได้โปรโมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical tourism)โดยมีเป้าหมายสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ (Medical Hub) ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีโรงพยาบาลเอกชนใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก เพื่อรองรับการให้บริการทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารับการรักษาในประเทศไทย

ซึ่งจากตัวเลขล่าสุดในปี 2561 พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามารับบริการรักษาพยาบาลราว 3.4 ล้านคน ซึ่งเป็นอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยเลข 2 หลัก ระหว่างร้อยละ 10-20 ใน 3-4 ปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชน ย่อมส่งผลต่อโอกาสในการขยายตลาดของไฟเซอร์ด้วยเช่นกัน

“สำหรับไฟเซอร์ในประเทศไทย เราเห็นโอกาสจากภาคเอกชนและโรงพยาบาลเอกชน เป็นหนึ่งในโอกาสทางธุรกิจที่จะทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเราเป็นบริษัทแรกที่ริ่เริ่มหน่วยงานธุรกิจที่มุ่งโฟกัสภาคเอกชนขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว พร้อมปรับรูปแบบ Go-to-Market โมเดล เพื่อนำนวัตกรรมและยาใหม่ ๆ เข้ามาสู่ตลาดประเทศไทยเร็วขึ้น รวมถึงลงทุนและทำงานร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นอีกด้วย”

Pfizer

จุดแข็งของไฟเซอร์คือ บุคลากร นวัตกรรม และความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ 

ด้วยเป้าหมาย (Purpose) ของไฟเซอร์ คือ การนำเสนอยาที่เป็นนวัตกรรม (breakthrough) ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ป่วย แน่นอนว่า บุคลากรของไฟเซอร์ทุกคนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะนำนวัตกรรมที่บริษัทพัฒนาขึ้นเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทจึงได้ลงทุนพัฒนาบุคลากรทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไฟเซอร์ประเทศไทยมีบุคลกรที่มีขีดความสามารถสูง และมีทัศนคติที่ดี

“อย่างที่ทราบว่า ไฟเซอร์ไม่ได้ขายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป แต่ขายผลิตภัณฑ์ยาที่จะช่วยให้ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น และช่วยดูแลรักษาสุขภาพของคน เพราะฉะนั้น บุคลากรทุกคนตระหนักดีในเรื่องการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ป่วยหลัก

ดังนั้น โดยส่วนตัวผมคิดว่าพนักงานของเราคือทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดของบริษัท และเป็นจุดแข็งในการทำให้ไฟเซอร์ดำรงฐานะผู้นำตลาดในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ พนักงานของเราไม่ได้มีแค่เพียงความสามารถสูงเท่านั้น แต่ทุกคนมีความภูมิใจในงานที่ทำ เพราะถือเป็นส่วนหนี่งที่ได้ช่วยพัฒนาประเทศไทยและช่วยดูแลสุขภาพของคนไทย จึงทำให้ทุกคนทำงานด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเท

ขณะที่อีกหนึ่งจุดแข็งของ ไฟเซอร์ คือ นวัตกรรมและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ผ่านงานด้านวิจัยและพัฒนา จากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สั่งสมมายาวนานกว่า 170 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทแม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นนปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไฟเซอร์เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยาระดับโลกมาจนถึงปัจจุบัน ”

Pfizer

ผสานภาครัฐช่วยคนไทยเข้าถึงนวัตกรรมยา

เมื่อถามถึงแผนธุรกิจในอีก 3 ข้างหน้าของไฟเซอร์ คุณเซลิมบอกว่า ด้วยนโยบายหลักของไฟเซอร์ประเทศไทยที่มุ่งเน้นในการนำเสนอยาใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้าสู่ตลาดในประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หน้าที่หลักของไฟเซอร์ จึงไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงการขึ้นทะเบียนยาจาก อ.ย เท่านั้น

แต่จะต้องช่วยให้คนไทยเข้าถึงยาเหล่านั้นได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น ที่ผ่านมาทางไฟเซอร์จึงดำเนินยุทธศาสตร์ด้านการเข้าถึงยาผ่านความร่วมมือกับภาครัฐ ซึ่งถือเป็นลูกค้าหลักที่สำคัญ โดยเฉพาะความร่วมมือกันในการหาเงินทุนเพื่อการเข้าถึงยาของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง

“ ไฟเซอร์มีเป้าหมายจะนำยาที่เป็นนวัตกรรมเข้ามาสู่ตลาดในประเทศให้มากที่สุด และภายใน 3-4 ข้างหน้าจะมียาใหม่ออกสู่ตลาดถึง 10 ตัว ดังนั้น หนึ่งในภารกิจหลัก คือ การทำงานร่วมกับภาครัฐ ในฐานะผู้กำหนดนโยบายและเป็นผู้จ่ายเงิน(Payer)และนักวิชาการต่างๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในด้านยุทธศาสตร์การเข้าถึงยาที่เป็นนวัตกรรมขั้นสูงในประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องคำนึงและพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อยา

ไฟเซอร์เองในฐานะผู้คิดค้นนวัตกรรมพร้อมร่วมมือและสนับสนุนในการมีส่วนช่วยคิดหาโมเดลการเข้าถึงยาในราคาที่เข้าถึงยาในราคาที่เข้าถึงได้เพื่อช่วยรัฐบาลในการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย  เพราะเรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่น่าท้าทายที่จะช่วยให้คนไทย 67 ล้านคน สามารถเข้าถึงยาที่เป็นนวัตกรรมได้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา การเข้าถึงยาที่เป็นนวัตกรรมของคนไทยยังมีไม่มากนัก”

ส่วนเป้าหมายระยะยาวของไฟเซอร์ประเทศไทยนั้น คุณเซลิมบอกว่า จะพยายามหาแนวทางใหม่ ๆ ในการนำยาที่เป็นนวัตกรรมที่เรียกว่าเป็น Breakthrough เข้ามาในประเทศ และพยายามทำให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากยาเหล่านี้ให้มากที่สุด เพราะการมียาที่ดีแต่โอกาสในการเข้าถึงยาของคนส่วนใหญ่ยังมีไม่มากก็ไม่เกิดประโยชน์

ดังนั้น บริษัทฯ จึงพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการคิดหาหนทางร่วมกัน ในการคิดค้นโมเดลการเข้าถึงยาในราคาที่สามารถเอื้อมถึงได้ (Affordable Access Model) เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาสำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศในระยะยาว

ขณะเดียวกัน ไฟเซอร์จะใช้ประโยชน์จากระบบดิจิทัลให้มากขึ้น เพื่อใช้สื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งไฟเซอร์ในระดับโลกได้ลงทุนไปในเรื่องของดิจิทัลอย่างมาก แต่ในภาพรวมของธุรกิจยายังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลมากนัก บริษัทฯจึงมีแผนที่จะนำระบบดิจิทัลมาใช้สื่อสาร เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขวางและมากขึ้น

Pfizer

ปราถนาที่จะเห็นคนไทยมีสุขภาพที่ดี

แม้จะเป็นบริษัทยา แต่ไฟเซอร์ไม่ได้จะมุ่งแต่ขายยาหากแต่อยากเห็นคนไทยมีสุขภาวะที่ดี จึงส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีควบคู่ไปกับการมีจิตใจที่ร่าเริงแจ่มใส ด้วยการบริโภคและออกกำลังกายอย่างถูกวิธี

เพื่อที่จะได้ไม่ต้องพึ่งพาการใช้ยาในการรักษาโรค ดังนั้น บริษัทฯภายใต้การนำของคุณเซลิมตั้งแต่เริ่มต้นบทบาทแม่ทัพได้จัดให้มีกิจกรรมฉลองครอบรอบ60ปี ของการก่อตั้งบริษัทในประเทศไทยใน2ปีที่ผ่านมาด้วยแคมเปญ “Fit in 60 Day by Pfizrr” ชวนคนไทยพิชิตสุขภาวะใน60วัน ถ่ายทอดองค์ความรู้ควบคู่ออกกำลังกายและปรับพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลเพื่อให้ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพราะเชื่อมั่นว่า การป้องกันดีกว่าการรักษา เนื่องจากกลุ่มโรคเหล่านี้สามารถป้องกันการเกิดโรคได้

สุดท้ายเป็นความปรารถนาส่วนตัว คุณเซลิมต้องการเห็นบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย เป็นองค์กรที่ดีสำหรับคนไทยตลอดไป และเป็นองค์กรในฝันที่เด็กจบใหม่ต้องการมาร่วมงานด้วย เพราะพวกเขาจะเป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กร และเป็นอนาคตของไฟเซอร์ในประเทศไทยในการดำเนินธุกิจในระยะยาว

“เรามีแผนพัฒนาบุคลากรเฉพาะแต่ละบุคคลให้บรรลุเป้าหมายความต้องการในหน้าที่การงาน โดยมีหัวหน้างานช่วยเหลือในการวางแผนร่วมกัน สำหรับพนักงานที่เป็นเด็กจบใหม่เราก็มีจัดการฝึกอบรมในด้านต่างๆ เสริมสร้างทักษะ ความรู้ และความพร้อมในการทำงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบ

ผมอยากเห็นพนักงานมีความอยากในการเรียนรู้และในการพัฒนาตนเองมากขึ้น ซึ่งการพัฒนานั้นต้องประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือความรู้ความสามารถ และทัศนคติที่ดี ซึ่งพนักงานของเราล้วนมีความสามารถอยู่แล้ว ซึ่งความรู้ความสามารถนั้นสามารถพัฒนาได้ แต่ทัศนคติเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ดังนั้นเราจะคัดเลือกบุคคลากรที่มีความคิด (Mindset) และทัศนคติที่ดีที่พร้อมที่จะทำงาน เรียนรู้และพัฒนาตนเองและองค์กร” เซลิม เซสกิน ผู้จัดการใหญ่ ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวทิ้งท้าย