เนื้อหาใน ‘Business Crack’ ครั้งนี้จะมากับหนึ่งในธุรกิจที่เป็น Mega Trend ของโลก รวมถึงประเทศไทย นั่นก็คือ ธุรกิจสัตว์เลี้ยง เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไปมีลูกกันน้อยลง แต่หันมาเลี้ยงสัตว์เหมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Parents) และให้ความสำคัญกับการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างพิถีพิถัน ดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว จึงทำให้มูลค่าตลาดของธุรกิจนี้เติบโตอย่างมาก และมีธุรกิจใหม่ๆที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเกิดขึ้นมากมาย
โดยพบว่ามูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงไทยนับตั้งแต่ปี 2562-2567 มีการเติบโตเฉลี่ย 17.5% ขณะที่ในปี 2568 คาดการณ์ว่าจำนวนสัตว์เลี้ยงของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยตัวเลขของสัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของในปีนี้คาดว่าจะแตะ 5.38 ล้านตัว เพิ่มขึ้นราว 6% แบ่งเป็นสุนัข 3.45 ล้านตัว แมว 1.94 ล้านตัว
นั่นจึงทำให้มีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยในปี 2568 จะมีมูลค่าราว 9.2 หมื่นล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 13.2% จากปีที่ผ่านมา และปี 2569 มูลค่าตลาดทะลุแสนล้านบาท โดยปัจจุบันค่าเลี้ยงดูเฉลี่ยของการเลี้ยงแบบสมาชิกในครอบครัวอยู่ที่ราว 50,500 บาทต่อตัวต่อปี หรือเพิ่มขึ้นกว่า 22.9% จากปีก่อนที่อยู่ราว 41,100 บาทต่อตัวต่อปี
แต่การเติบโตของธุรกิจนี้ก็ทำให้มีคนเปิดธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น และแต่ละประเภทก็มีเจ้าตลาดที่นำหน้าด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่สูงมากเช่นกัน
Business Plus จึงได้ทำการสำรวจรวบรวมบริษัทที่เป็น Top 3 ของแต่ละประเภท และแบรนด์ที่เป็น Rising Star ของแต่ละกลุ่มมาทำการวิเคราะห์ให้ทุกคนได้เห็นภาพที่ชัดเจนกันว่า ธุรกิจไหนยังน่าเข้าลงทุนต่อ จุดเด่น จุดด้อยของผู้เล่นในตลาดเจ้าไหนที่ควรปรับปรุง เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจเข้าลงทุนในธุรกิจ หรือพัฒนาธุรกิจตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม
โดยแบ่งประเภทออกตามลักษณะธุรกิจได้ดังนี้
- ผลิตอาหารสำเร็จรูปสำหรับสัตว์เลี้ยง มูลค่าราว 4 หมื่นล้านบาท ในหมวดนี้รวมรายได้ของบริษัทที่ทำธุรกิจผลิตอาหารสำหรับสุนัข & อาหารสำหรับแมวเป็นหลัก
- ร้านขายปลีกสัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง มูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท ในหมวดนี้จะรวมทั้งร้าน Pet Shop ที่ขายอาหารสัตว์เลี้ยง , อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง ทั้งหมด
- กิจกรรมดูแลสัตว์เลี้ยง & รักษาสัตว์ มูลค่าราว 7 พันล้านบาท ในหมวดนี้รวมทั้งโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยง , โรงแรม & ที่พักสำหรับสุนัขแมวเท่านั้น , สระว่ายน้ำสัตว์เลี้ยง , รวมไปถึงการดูแลประเภทอาบน้ำตัดขน
มาดูกันที่กลุ่มแรก ผลิตอาหารสำเร็จรูปสำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งปีที่ผ่านมามีมูลค่าราว 4 หมื่นล้านบาท เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจสัตว์เลี้ยง โดยมีบริษัทที่ครองส่วนแบ่งการตลาด 3 เจ้าแรกดังนี้
จะเห็นได้ว่าบริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดหากวัดจากรายได้ในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นบริษัทที่ Spin Off ออกมาจากบริษัทใหญ่ระดับแนวหน้าของประเทศเกือบทั้งหมด เพราะแนวโน้มตลาดนี้ที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริโภคในปัจจุบันยอมจ่ายเพื่ออาหารที่มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้ธุรกิจนี้น่าสนใจของบริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องการขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ และยังเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยกำลังการผลิตสูงถึงจะได้กำไร ดังนั้น บริษัทที่มีเงินทุนจำนวนมากจึงได้เปรียบมากกว่ารายเล็ก
มาต่อกันที่กลุ่มร้านขายปลีกสัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง มูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท
จะเห็นได้ว่า ร้านค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในไทยยังมีความสามารถในการทำกำไรสุทธิต่ำ เห็นได้จากอัตรากำไรสุทธิที่ต่ำกว่าหมวดอื่น เพราะต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ ทำเลที่เอื้อต่อการพาสัตว์เลี้ยงเข้ามาภายในร้าน นอกจากนี้สินค้าภายในร้านที่มีให้เลือกหลากหลายจะเป็นสิ่งดึงดูดลูกค้า ดังนั้นเจ้าใหญ่ที่เงินทุนสูงกว่าจะได้เปรียบทั้งพื้นที่ และจำนวน SKU นอกจากนี้ยังสามารถทำโปรโมชั่นลดราคาขายสินค้าได้มากกว่ารายเล็กที่ต้องแข่งขันด้านราคา ทั้งที่ต้นทุนรับมาที่สูงกว่า (ยิ่งซื้อมากยิ่งถูกลง)
สุดท้ายกลุ่มที่มีมูลค่าตลาดน้อยที่สุด นั่นคือ กิจกรรมดูแลสัตว์เลี้ยง & รักษาสัตว์ มูลค่าราว 7 พันล้านบาท ในหมวดนี้รวมทั้งโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยง , โรงแรม & ที่พักสำหรับสุนัขแมวเท่านั้น , สระว่ายน้ำสัตว์เลี้ยง , รวมไปถึงการดูแลประเภทอาบน้ำตัดขน โดยเราอาจจะเห็นว่ามีโรงพยาบาลหรือคลินิกสัตว์มากมาย แต่บริษัทเหล่านี้กลับยังมีรายได้ไม่สูงมากนัก พบผู้เล่นหลักๆ 3 เจ้าตาม Infographic นี้
จะเห็นได้ว่า ธุรกิจการดูแล และรักษาสัตว์เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนเริ่มแรกสูง เช่น การสร้างร้าน โรงแรม โรงพยาบาล ดังนั้น ในปีแรกๆจึงมีผลขาดทุน ขณะที่ปีต่อๆมายังต้องปรับปรุงร้านให้สวย สะอาดทันสมัยอยู่ตลอด นอกจากนี้การแพทย์ยังมีการจ้างงานสัตวแพทย์ที่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ธุรกิจนี้มีค่าใช้จ่ายสูง จนทำให้กำไรสุทธิค่อนข้างต่ำ
ที่มา : Corpus X , TTB , ศูนย์วิจัยกสิกรไทย Data Analytic : Business Plus