PetFood

7 ผู้เล่นดวลเดือดตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง ชิงมาร์เก็ตแชร์ปีนี้ทะลุ 5.2 หมื่นล้านบาท

ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง’ มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างมากในอนาคต เนื่องจากวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันเปลี่ยนไป อย่างการไม่นิยมมีบุตร อัตราสมรสลดลง อีกทั้งสภาพสังคมที่มีสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย จึงมีความนิยมหันไปเลี้ยงสัตว์มากขึ้น ซึ่งการเลี้ยงในสมัยนี้ก็แตกต่างจากในอดีตที่ไม่ใช่เพียงแค่เลี้ยงปล่อยผ่าน แต่เป็นการเลี้ยงที่ให้ความสำคัญในทุก ๆ ด้าน จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘Pet Humanization’ หรือ พฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเสมือนหนึ่งสมาชิกในครอบครัว ยกตัวอย่างเช่น อาหารต้องเป็นเกรดพรีเมียม ของใช้และของเล่นต้องไม่มีองค์ประกอบที่เป็นสารก่ออันตรายต่อร่างกาย นอกจากนี้ยังมีการพาไปอาบน้ำสปาขนเพื่อบำรุงให้ขนเงางาม และนุ่มสลวย เป็นต้น

จากผลสำรวจค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนของคนที่เลี้ยงสัตว์นั้นจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000-5,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายจำนวนนี้ก็จะมีทั้งค่าอาหาร ขนม ของเล่น แต่ยังไม่รวมค่ายา วัคซีน ยามที่ต้องพาไปรักษาตอนป่วย ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่าค่ารักษาพยาบาลสัตว์นั้นมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงมากหากเทียบกับคน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อสัตว์เลี้ยงไม่สบาย ค่ารักษาจะตกอยู่ที่ราว 500 บาท แต่คนนั้นเพียงแค่กินยาพาราก็หายแล้ว จะเห็นได้ว่าช่องว่างของราคาค่อนข้างกว้างแต่เมื่อเลือกที่จะเลี้ยงแล้วนั้นก็ต้องมีทุนทรัพย์พอสมควร

สำหรับประเทศไทยก็จัดเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิต และประชากรก็หันไปเลี้ยงสัตว์มากขึ้น ซึ่งมูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยปี 2566 มีแนวโน้มแตะ 1.50 พันล้านเหรียญสหรัฐ (52,195,499,286 ล้านบาท)โดยปี 2566-2571 คาดจะเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ที่ 9.71% (แปลงค่าเงินจาก ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2566)

ทั้งนี้ประเภทของอาหารสัตว์สัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ อาหารแห้ง เนื่องจากมีความสะดวก มีต้นทุนที่ถูกกว่า และอยู่ได้ทั้งวันหลังจากเปิดบรรจุภัณฑ์ สำหรับอาหารสัตว์เลี้ยงสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอาหารสัตว์ ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตก็กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่ได้รับความนิยมในการเลือกซื้อ นั่นเป็นเพราะว่า อยู่ภายในห้างสรรพสินค้าซึ่งสามารถเลือกซื้อได้เลยทันที อีกทั้งยังมีการปรับลดราคาที่บ่อยกว่าร้านขายอาหารสัตว์ทั่วไป

อย่างไรก็ดีตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยมีความยั่งยืนในตัวเองราว 95% ของอาหารสัตว์เลี้ยงผลิตในประเทศ ส่วนอีก 5% ของอาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้ามาเพื่อเป็นอาหารรักษาโรค ซึ่งผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก โดยเป็นการนำวัตถุดิบธรรมชาติที่ปลอดสารเคมีมาเป็นวัตถุดิบ แม้กระทั่งเรื่องการเลี้ยงไก่แบบอิสระไม่ขังกรงก็ถือเป็นอีกเอกลักษณ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอาหาร เพราะมีการเชื่อว่าเป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติอย่างแท้จริง ซึ่งในบางยี่ห้อจะมีเขียนกำกับข้างบรรจุภัณฑ์ว่าวัตถุดิบมาจากที่ไหน แหล่งใด และมีการเลี้ยงแบบใด

โดยจากข้างต้น ‘Business+’ จึงได้มีการสำรวจบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ได้มีการจัดตั้งบริษัทเพิ่ม เพื่อเดินหน้าธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ เนื่องจากมูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงยังมีแนวโน้มขยายตัวสูง จึงถือเป็นโอกาสที่จะได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในผู้เล่นวงการอาหารสัตว์เลี้ยงและชิงส่วนแบ่งเค้กชิ้นนี้

ทั้งนี้จากการสำรวจพบหลัก ๆ 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC, บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI, บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM, บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG, บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 บริษัทที่ถึงแม้ไม่ได้จดอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แต่ก็นับเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย ก็คือ CP หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ Nestle’

เริ่มจากบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) โดย 2 บริษัทนี้อยู่ในเครือของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้ผลิตปลาทูน่ารายใหญ่ มีการเติบโตมาจากการส่งออกอาหารทะเลสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง

สำหรับ ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง และขนมสำหรับสัตว์เลี้ยงประเภทแมวและสุนัข โดยมีแบรนด์ในเครือ ได้แก่ Bellotta, Marvo, ChangeTer, Calico Bay และ Paramount ทั้งนี้ในไตรมาส 1/2566 บริษัทมีรายได้รวม 3,710 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 425 ล้านบาท

ขณะที่ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ เป็นผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เศรษฐกิจ โดยในไตรมาส 1/2566 บริษัทมีรายได้รวม 1,168 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 27 ล้านบาท ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป มีการวางแผนการจัดตั้งบริษัทมาอย่างดีแบบครบวงจรในการใช้ทรัพยากร โดยใช้จุดแข็งของตัวเองที่เป็นเจ้าของธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลมาต่อยอดใช้วัตถุดิบที่คุ้นเคยมารังสรรสร้างผลิตภัณฑ์จากอาหารคนสู่อาหารสัตว์เลี้ยง

ถัดมาบริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในเครือ บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN ประกอบธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำแช่เยือกแข็ง โดยเอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดำเนินธุรกิจขายอาหารสัตว์เลี้ยงชั้นนำของประเทศและผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานบรรจุภาชนะปิดผนึก โดยผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้หลักกว่า 80% ของบริษัท ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยงทั้งแบบเปียกและแบบเม็ด สำหรับแบรนด์ในเครือ ได้แก่ แบรนด์ฮาจิโกะ (Hajiko), Monchou, Maria และ PRO ทั้งนี้ในไตรมาส 1/2566 บริษัทมีรายได้รวม 1,432 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 72 ล้านบาท

สำหรับ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) นั้นได้จัดตั้ง บริษัท เพ็ท โฟกัส จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง มีแบรนด์ในเครือ ได้แก่ DOG n joy, CAT n joy, Perfecta และ BINGO STAR โดยผลการดำเนินงานปี 2565 มีรายได้รวม 2,254 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 232 ล้านบาท ซึ่งเบทาโกรก็ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ผลิตตั้งแต่อาหารคนไปสู่อาหารสัตว์เลี้ยงเช่นกัน

ด้าน บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ได้ไปเข้าร่วมทุนทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง ภายใต้บริษัท โบทานีสตูดิโอ จำกัด ซึ่งมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง plant-based แบรนด์ในเครือ ได้แก่ Katty Boss และ Bravo Boss โดยผลการดำเนินงานปี 2565 มีรายได้รวม 128 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 7.9 ล้านบาท สำหรับธุรกิจดั้งเดิมของ เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ นั้นเป็นการผลิต จัดหา และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร รวมถึงทำธุรกิจอาหารโปรตีนจากพืช ซึ่งการที่บริษัทหันมาลงทุนในส่วนของธุรกจิอาหารสัตว์เลี้ยง นั่นเป็นเพราะมูลค่าตลาดมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้หากพูดถึงอีก 2 แบรนด์นอกตลาดฯ เริ่มจาก CP หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีบริษัทย่อยสำหรับผลิตและจัดจำหน่ายทั้งหมด 2 บริษัทด้วยกัน ก็คือ บริษัท เพอร์เฟค คอมพาเนียน กรุ๊ป จำกัด (PCG) และ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เพ็ทฟู้ด จำกัด โดยแบรนด์ในเครือ ได้แก่ Smart Heart, Luv Care, A PRO, Me-O, ZOI DOG และ ZOI CAT ของ PCG และ Jerhigh, Jinny และ K-SY ของอินเตอร์เนชั่นแนล เพ็ทฟู้ด

ซึ่งผลการดำเนินงานงวดปี 2565 ของ เพอร์เฟค คอมพาเนียน กรุ๊ป มีรายได้รวม 1.68 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 722 ล้านบาท ขณะที่ อินเตอร์เนชั่นแนล เพ็ทฟู้ด มีรายได้รวม 1,612 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 201 ล้านบาท

โดยจะเห็นได้ว่าแม้ทั้ง 2 บริษัท ไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แต่ผลการดำเนินงานมีการเติบโตอย่างโดดเด่น และแบรนด์ก็เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ซึ่งสามารถพอเห็นได้ตามร้านขายอาหารสัตว์เลี้ยง และร้านค้าชั้นนำทั่วประเทศ

สุดท้าย Nestle’ บริษัทสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ มีบริษัทลูกจัดตั้งอยู่ในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ดำเนินการดูแลการผลิตและจัดหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง โดยแบรนด์ในเครือ ได้แก่ Purina One, Pro Plan, Felix, Alpo, Friskies, Super Coat และ Fancy Feast มีรายได้รวม 5.67 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3 พันล้านบาท ซึ่งเนสท์เล่ถือเป็นบริษัทที่เติบโตมาอย่างยาวนาน และไม่ได้ผลิตเพียงแค่อาหารคนแต่ผลิตไปจนถึงอาหารสัตว์เลี้ยงด้วย โดยเนสท์เล่ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลก

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตอย่างมาก และมีการเติบโตมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นี่จึงเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ รายเล็ก และหลายราย ๆ พร้อมก้าวสู่สงครามนี้ แต่กว่าจะสร้างยอดขายและครองใจผู้บริโภคอย่างสัตว์เลี้ยงได้นั้น ก็ต้องมีการงัดกลยุทธ์ที่ต่างไปจากผู้เล่นรายเดิมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

.

ที่มา : Statista, researchandmarkets, DBD, SET

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #อาหารสัตว์เลี้ยง #สุนัข #แมว