ผู้นำพันธุ์ใหม่ นำทัพปรับองค์กรเชิงรุก สู่ Agile Organization

การบริหารจัดการที่มักมีโครงสร้างอำนาจที่ซับซ้อน ส่งผลให้เคลื่อนตัวได้ช้า เพราะต้องเน้นความมั่นคงและความปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งรูปแบบการทำงานที่อุ้ยอ้ายขององค์กรขนาดใหญ่จึงกลายเป็นข้อจำกัด เนื่องจากผู้บริโภคมีการศึกษามากขึ้น มีช่องทางในการหาข้อมูลมากขึ้น มีการตัดสินใจที่รวดเร็วขึ้น โลกธุรกิจในทุกวันนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะมีสิ่งใหม่เข้ามาแซงหน้า

ธุรกิจทุกองค์กรจึงต้องปรับตัวทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลหรือ Digital Disruption กำลังเกิดขึ้น เพราะปัจจัยที่จะประสบความสำเร็จในยุคนี้ไม่ใช่อยู่ที่การคิดรอบคอบอีกต่อไป แต่อยู่ที่การทำงานที่ปรับเปลี่ยนได้อย่างเร็ว แก้ไขสิ่งที่พลาดหรือไม่ได้คาดการณ์มาก่อน และปรับตัวให้เข้ากับเป้าหมายได้

จึงนำมาซึ่งแนวคิดการทำงานแบบ Agile เข้ามาปรับใช้ในองค์กร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพิ่มศักยภาพการเติบโตของธุรกิจในอัตราครั้งละหลายๆ เท่าตัว หรือการเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็น 10 เท่า ติดสปิดองค์กรด้วยการบริหารงานที่รองรับการแข่งขันที่รุนแรง ตอบสนองโลกการทำงานที่เปลี่ยนไปจากการเข้ามาของเทคโนโลยี ซึ่งสามารถเข้ามากระทบธุรกิจได้ทุกเมื่อ

รูปแบบการทำงานแบบ Agile คือ การตั้ง Agile Team ขึ้นในองค์กรเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์สำคัญ หรือเพื่อ Purpose บางอย่าง เป็นการแบ่งการทำงานเป็นช่วงสั้นๆ เป็น Project โฟกัสไปที่ผลงาน และเรียนรู้ระหว่างทาง ทำไปแก้ไป เรียนรู้ไป ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ โดยที่ยังไม่ทราบว่าภาพสุดท้ายจะเป็นอย่างไร เป็นกระบวนการทำงานที่ลดการทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้สามารถสั่งการและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ทันที เปลี่ยนระบบการรับผิดชอบเฉพาะในสายงานตัวเองมาเป็นการรับผิดชอบทุกอย่างภายในทีมร่วมกัน มุ่งไปที่การสื่อสารของคนในทีมมากขึ้น

ธุรกิจสตาร์ทอัพและบริษัทชั้นนำจำนวนมากในปัจจุบันประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างรวดเร็วก็ด้วยวิธีการทำงานแบบ Agile Organization เป็นหลัก ใช้หลักการ Agile มาปรับกระบวนการทำงาน วัฒนธรรมหรือวิถีการทำงาน เครื่องมือที่ใช้ให้มีความยืดหยุ่น ตัวอย่างเช่น Spotify ที่มี Agile ทีมหลายทีมมากกว่า 30 ทีมและตั้งอยู่กระจายออกไปในสามเมือง ทำให้สามารถคิดค้นและออกนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

โดยปัจจัยสำคัญต่อความคล่องตัวขององค์กรคือความสามารถในการปรับตัวอย่างไม่หยุดยั้งในทุกระดับขององค์กร ซึ่งจะปรับองค์กรให้สำเร็จได้ก็ด้วยการสร้าง ‘Agile Mindset’ ให้เกิดขึ้นก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งผู้บริหารต้องทำความเข้าใจวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดให้กับองค์กร เพราะหากผู้นำองค์กรไม่เข้าใจ การเปลี่ยนแปลงก็ยากที่จะเกิดขึ้น ในการจะทำงานหนึ่งให้สำเร็จในปัจจุบัน

ผู้นำองค์กรซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานขององค์กรให้บรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จจึงต้อง Reskill พัฒนาทักษะที่จำเป็น เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนทีม Agile และองค์กรไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยผู้นำแบบ Agile คือผู้ที่มีทักษะการทำงานที่สามารถเชื่อมคนในทีมเข้าด้วยกัน สร้างความสมดุลให้กับคนในองค์กรและความต้องการของลูกค้าได้ และยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้มากขึ้น

ผู้นำแบบ Agile เป็นเหมือนเข็มทิศในการเดินทางที่ชี้แนะไปยังจุดมุ่งหมายปลายทาง ให้ทุกคนในทีมสามารถเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ดังนั้นจำเป็นต้องมี mindset ที่ดี เพราะในระหว่างทาง ทีมอาจต้องเผชิญกับปัญหาที่คาดไม่ถึง

ทั้งนี้ เพื่อให้องค์กรทำงานแบบ Agile ได้อย่างแท้จริง ผู้นำองค์กรจึงต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็นที่จะสนับสนุนวัฒนธรรมและการทำงานแบบ Agile ดังนี้

1. Agile Leadership
การให้อำนาจในการรับผิดชอบงานเป็นของลูกน้องในทีม สร้างเวทีและบรรยากาศการทำงานที่ผลักดันให้ลูกน้องก้าวขึ้นมาทำในสิ่งที่อยากทำโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากหัวหน้า พูดคุยอย่างเป็นกันเอง โปร่งใส่ และจูงใจให้คนทำงานร่วมกันได้ เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนในการตัดสินใจและรับผิดชอบร่วมกัน ความใส่ใจในตัวคนในทีมถือเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าผลลัพธ์ เพราะผู้นำต้องส่งเสริมและสนับสนุนการทำงาน กระตุ้นให้ทุกคนในทีมสามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ ช่วยให้แต่ละคนทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะที่รู้สึกดีกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วย นี่คือบทบาทของผู้นำที่จะบริหารงานแบบ Agile

2. Learning Agility
ผู้นำแบบ Agile ต้องมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว กล้ายอมรับว่าตัวเองไม่รู้ ทิ้งความคิดว่าตัวเองเก่ง และเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ที่เคยทำสำเร็จมาก่อน ผู้นำเช่นนี้เป็นเหมือนน้ำที่ไม่เคยเต็มแก้ว สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลาแม้ในสถานการณ์ที่แปลกใหม่ คาดเดายาก และไม่คุ้นเคย สามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันได้

3. Critical Thinking
ปัจจุบัน การคิดแก้ปัญหาได้ไม่เพียงพอกับการทำงานในยุคดิจิตัลอีกต่อไป ผู้นำต้องสามารถคิดวิเคราะห์ปัญหา โดยใช้ตรรกะ เหตุผลมาประเมินปัญหา รวมทั้งตีความข้อมูลต่างๆ รอบด้านที่ได้รับออกมา เพื่อตัดสินใจและประเมินสิ่งที่เป็นประเด็นในขณะนั้นอย่างแม่นยำและทันท่วงที เพราะการคิดที่ถูกจุดนำมาสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง ดังนั้น ทักษะ Critical Thinking จำเป็นอย่างมากในยุคที่เทคโนโลยี และการสื่อสารเข้าถึงได้ง่าย กระแสข้อมูลข่าวสารไหลเข้ามาให้เราทุกวัน เพื่อให้ทันคนอื่น รับมือกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้นำจึงต้องพัฒนาทักษะนี้ให้มีติดตัวไว้

4. Solution-focused Coaching
การโค้ชโดยมุ่งเน้นไปที่วิธีการแก้ปัญหากลายเป็นทักษะสำคัญที่ผู้นำองค์กรแบบ Agile ต้องฝึกฝน เป็นการโค้ชเพื่อกระตุ้นความเข้าใจความเป็นจริงของสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งวิธีคิดที่มีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของทีม สนับสนุนให้คนในทีมคิดสร้างสรรค์ทางเลือกและวิธีจัดการกับสถานการณ์นั้นๆ ด้วยตนเอง โดยคอยถามคนในทีมว่าแต่ละคนจะทำอะไรให้มากขึ้นได้บ้าง เมื่อไหร่ที่คนในทีมสามารถระบุปัญหาได้แล้ว ก็จะค้นพบวิธีการแก้ปัญหาจากข้อมูลที่ได้รับจากการประเมินทรัพยากรที่มีอยู่ในขณะนั้น

5. Digital and Technical Literacy
ความสามารถด้านความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะผลักดันองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วตามต้องการ ผู้นำในองค์กรแบบ Agile ที่มีศักยภาพต้องเข้าใจเครื่องมือใหม่ๆ ใช้งานเทคโนโลยีเป็น รู้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน มองเห็นเทรนด์ และโอกาสทางธุรกิจ ตลอดจนสามารถตีความได้ว่าจะใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับองค์กรเราอย่างไรบ้าง และส่งผลต่อลูกค้าอย่างไร เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจอย่างรอบด้าน ทันต่อเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพ

นอกจากตัวผู้นำองค์กรแล้ว การเตรียมคนในองค์กรให้พร้อมด้วย Agile Mindset ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ทุกคนในองค์กรต้องสามารถเรียนรู้จากปัญหาหรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วด้วยวิธีคิดที่ยืดหยุ่น พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง คอยปรับปรุงตนเองอยู่เสมอและไม่หยุดเพิ่มพูนทักษะใหม่ให้กับตัวเอง ซึ่งหากสามารถทำให้เกิด Agile organization ได้สำเร็จ จะส่งผลให้รายได้ หรือขนาดธุรกิจที่เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดดจะตามมาอย่างแน่นอน