“สมศ.” กับระบบ “AQA” การันตีจากสถานศึกษาผู้ใช้จริงลดภาระเอกสาร พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัด

การยกระดับมาตรฐานการศึกษาของประเทศ โดยมีสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นเรื่องสำคัญคือการลดภาระงานด้านเอกสาร เพราะหลายต่อหลายครั้งที่ภาระงานต่างๆ ถือว่าเป็นอุปสรรคสำหรับการถ่ายทอดวิชา ความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ ดังนั้นหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงพยายามหาแนวทางเข้ามาช่วยเหลือและลดภาระให้แก่ครูผู้สอน เพราะในแต่ละภาคการศึกษา นอกจากเอกสารสำหรับการเรียนการสอนแล้ว สถานศึกษาและครูผู้สอนยังต้องทำเอกสารประกอบการประเมิน หรือการตรวจเยี่ยมอีกมากมาย เหล่านี้กลายเป็นภาระอย่างเลี่ยงไมได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือและลดภาระด้านเอกสารของสถานศึกษา สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. หน่วยงานที่ดูแลเรื่องระบบการประเมินคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยผลักดันระบบการศึกษาให้ดีขึ้น จึงได้มีตัวช่วยเพื่อทำให้งานประเมินมีประสิทธิภาพ และง่ายขึ้นโดยการใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Automated QA (AQA) หรือระบบสารสนเทศเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก โดยระบบดังกล่าวเป็นระบบที่ช่วยให้การรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ง่ายต่อการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น

นางสาวขนิษฐา ตั้งวรสิทธิชัย รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือสมศ. กล่าวว่า สมศ. มีความตั้งในที่จะลดภาระงานด้านเอกสารให้แก่สถานศึกษา และครูผู้สอนทั่วประเทศ เพื่อให้ครูผู้สอนได้ใช้เวลาในการสอนได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงได้นำเอาระบบ Automated QA หรือ AQA มาใช้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการประเมินคุณภาพภายนอก ลดภาระงานเอกสารของสถานศึกษา  และเป็นการบูรณาการด้านการประเมินคุณภาพการศึกษาระหว่างสมศ. และต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแล  อีกทั้งการพัฒนาระบบดังกล่าวขึ้นมานั้นจะช่วยให้การดำเนินงานและการบริหารจัดการให้มีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สถานศึกษาสามารถจัดทำรายงาน การประเมินตนเอง (SAR) ส่งต้นสังกัด และหลังจากนั้นตนสังกัด อาทิ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรุงเทพมหานคร จะส่งข้อมูลรายงานการประเมินตนเอง (SAR) ของสถานศึกษาผ่านระบบ AQA เข้ามายังสมศ.  จากนั้นสมศ.โดยผู้ประเมินภายนอกจะวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น (Pre –Analysis) เพื่อกำหนดวันลงพื้นที่และตรวจเยี่ยมสถานศึกษา ระหว่างการลงพื้นที่ประเมินนั้นทางสถานศึกษาและครูผู้สอนไม่ต้องไม่ต้องจัดทำเอกสารเพิ่มเติมขึ้นใหม่ เพื่อขอรับกาประเมินคุณภาพภายนอก เพราะผู้ประเมินคุณภาพภายนอกจะพิจารณาตามหลักฐานเชิงประจักษ์  เช่น การเรียนการสอนในชั้นเรียน มาตรฐานที่สถานศึกษากำหนดไว้

สำหรับขั้นตอนการทำงานระบบ AQA สามารถทำได้ดังนี้ ก่อนการประเมิน สถานศึกษาส่งรายงานการประเมินตนเอง (SAR) ผ่านหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อรอรับการประเมิน  ระหว่างการประเมิน สถานศึกษาสามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูลของผู้ประเมินได้  หลังการประเมิน ทางสถานศึกษาจะต้องทำการประเมินคณะผู้ประเมินว่ามีผลการปฏิบัติงานเป็นอย่างไร พร้อมทั้งสามารถดาวโหลดไฟล์รายงานฉบับสมบูรณ์ได้

ทั้งนี้ระบบดังกล่าวสมศ. ได้เริ่มนำมาใช้ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-2563) และในปี พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการประเมินรอบสี่ สมศ.จะพัฒนาระบบ AQA ในระยะที่สองด้วยการส่งเสริมให้หน่วยงานต้นสังกัดเป็นศูนย์สารสนเทศด้านการประกันคุณภาพการศึกษา (Quality Assurance Information Center) โดยที่สถานศึกษาส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานต้นสังกัดได้เลย ไม่จำเป็นต้องส่งข้อมูลหรือจัดทำเอกสารประกอบการประเมินคุณภาพภายนอกมายังสมศ. เพื่อลดภาระการป้อนข้อมูลด้านการประกันคุณภาพของสถานศึกษา ซึ่งจะเริ่มทดลองใช้ในการประเมินการศึกษาด้านการอาชีวศึกษาก่อน ถือว่าเป็นการสนับสนุนการประเมินคุณภาพสถานศึกษาจากรูปแบบเอกสาร( Paper-based EQA) ไปสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital-based EQA) แบบ 100 เปอร์เซ็นต์

ด้านนายวัชระ บำรุงพงษ์ ครูหัวหน้ากลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี โรงเรียนศรีราชา กล่าวว่า สำหรับระบบการประเมินแบบ Automated QA หรือ AQA ถือว่าช่วยลดเวลาในการทำเอกสารของสถานศึกษาและครูผู้สอน ทำให้มีเวลาในการเตรียมพร้อมสำหรับการสอนนักเรียนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในรายวิชาที่เป็นรายวิชาปฏิบัติการ อีกทั้งครูและนักเรียนได้ใช้เวลาเรียนรู้ ตอบคำถาม หรือแก้ปัญหาร่วมกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งตนมองว่าการนำระบบดังกล่าวมาใช้ในการประเมินคุณภาพภายนอก นอกจากจะเป็นการยกระดับการประเมินคุณภาพการศึกษาของไทยแล้ว ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมให้การเรียนการสอนภายในสถานศึกษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้านตัวบุคลกรเองไม่ต้องกังวลในเรื่องการทำเอกสารและการเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการประเมิน และแน่นอนว่าหากโรงเรียนมีการเรียนการสอนที่ดีแล้วก็จะถูกสะท้อนออกมาผ่านตัวผู้เรียนที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษา