NIA เดินหน้าส่งเสริม ระบบนวัตกรรม วางเป้า 3 ปี สร้าง Deep Tech Startup 100 ราย

หากพูดถึงหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทต่อการผลักดันนวัตกรรมท้องถิ่นหรือรายเล็กอย่าง SME หรือ Startup ที่สำคัญของประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น วันนี้ต้องยอมรับความจริงว่าหากประเทศใดไม่มีนวัตกรรมที่ลึกซึ้ง และเป็นของประเทศอย่างแท้จริงแล้ว ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเดินฝ่ามรสุมแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกครั้งใหญ่ในเวลานี้

นั้นทำให้ NIA โดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้เปิดเผยเส้นทางขององค์กรจากนี้ 3 (2564-2566) ปีว่าทาง NIA จะเดินหน้าส่งเสริมระบบนวัตกรรม และสร้างโอกาสนวัตกรรมท้องถิ่น (Empowering Regional Innovation) วางเป้าหมาย 3 ปีข้างหน้าจะต้องสร้าง Deep Tech Startup 100 ราย และสร้างบริษัทสตาร์ทอัพหน้าใหม่ 3,000 ราย พร้อมเผย 7 นวัตกรรมเปลี่ยนประเทศ ได้แก่

.

7 นวัตกรรมเปลี่ยนประเทศ

1.นวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ (Business Model Innovation)

  1. นวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-Based Innovation)
  2. นวัตกรรมสังคม (Social Innovation)
  3. นวัตกรรมภาครัฐและสาธารณะ (Public-Sector Innovation)
  4. นวัตกรรมข้อมูล(Data-Driven Innovation)
  5. นวัตกรรมกระบวนทัศน์ (Paradigm Innovation)
  6. นวัตกรรมเชิงศิลป์ (Aesthetic Innovation )

ดร.พันธุ์อาจ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “สำหรับปี 2564 การสร้างนวัตกรรมจะไม่ได้ตอบโจทย์แค่ปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เท่านั้น แต่จะสะท้อนไปถึงการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน และลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ โดยจะเน้นการเสริมพลังและสร้างโอกาสนวัตกรรมท้องถิ่นผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งเอกชน รัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างให้จังหวัดหัวเมืองกลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพในพื้นที่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยการส่งเสริมให้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยหรืองค์ความรู้ที่มีอยู่ในห้องถิ่น ให้เกิดการจ้างงานภายในภูมิภาคเพื่อสร้างความเท่าเทียม สร้างโอกาสทางนวัตกรรมในพื้นที่ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในภาคธุรกิจให้มากขึ้น”

นอกจากการส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรม NIA ก็มีการออกแบบและพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ให้ตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ครอบคลุมในทุกกลุ่ม ผ่าน 7 เครื่องมือ ได้แก่

  • Incubator/Accelerator ซึ่งมีทั้งมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เพื่อให้ความรู้ บ่มเพาะ และเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพ
  • Investment โดย NIA จะเป็นสะพานเชื่อมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพให้เข้าถึงแหล่งลงทุนมากขึ้น ผ่านเครือข่ายนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
  • Innovation Organization / Digital / Transformation เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรมีการใช้ระบบดิจิทัล หรือปรับเปลี่ยนธุรกิจตัวเองให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมถึงการใช้เครื่องมือในการประเมินองค์กรนวัตกรรม
  • SID หรือหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อบ่มเพาะ ยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถด้วยการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม ให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือผู้ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมจนสามารถพัฒนาแนวคิดสู่ต้นแบบหรือโครงการนำร่องได้ ผ่านกิจกรรมเครือข่าย การให้ปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและการบ่มเพาะ
  • Grant ผ่านเงินทุนอุดหนุนให้กับผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพ โดยต้องดำเนินการพร้อมกับแผนธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
  • Region / Innovation Hub/ Innovation District เพื่อสร้างให้เกิดการทำงานร่วมกันในแบบเครือข่ายที่เข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นการสร้างศักยภาพให้แก่พื้นที่นั้นๆ โดยการสร้างนวัตกรรมเชิงพื้นที่จำเป็นต้องเลือกพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย
  • Entrepreneurial University การส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นให้ความรู้และความเข้าใจในการทำธุรกิจนวัตกรรม สามารถสร้างโมเดลการทำธุรกิจใหม่ผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยหลักๆ ตามหัวเมืองใหญ่ของประเทศ เพื่อกระจายความรู้และโอกาสไปยังท้องถิ่น

.

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ www.nia.or.th และ facebook.com/NIAThailand