รู้จัก ‘Neuralink’ โปรเจกต์ฝังชิปในสมองของ ‘อีลอน มัสก์’

เป็นที่รู้กันดีว่า ‘อีลอน มัสก์’ เป็นเจ้าพ่อแห่งวงการเทคโนโลยี เพราะมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ อีกทั้งยังเป็นเจ้าของบริษัท ‘SpaceX’ เอกชนเจ้าแรกที่ส่งมนุษย์ไปอวกาศ ด้วยความคิดสุดล้ำที่มักจะนำหน้าคนอื่นอยู่เสมอ ทำให้ในทุก ๆ ครั้งที่มีโปรเจกต์ใหม่ออกมา มักจะได้รับความสนใจจากผู้คนอยู่เสมอ เช่นเดียวกับความคืบหน้าของ ‘Neuralink’ โปรเจกต์สุดล้ำที่นำเอาไมโครชิปไปฝังไว้ในสมองของมนุษย์เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการรักษาโรค และอาจนำไปสู่การอัพเกรดศักยภาพทางสมองของมนุษย์ต่อไปในอนาคต ที่ล่าสุด และในวันนี้ Business+ จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับที่มาที่ไปของโปรเจกต์ ‘Neuralink’ และความสำคัญต่อวงการแพทย์หากการทดลองในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ

‘Neuralink’ คืออะไร?

‘Neuralink’ เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีประสาท โดยพัฒนาส่วนต่อประสานของสมองและเครื่องจักร (BCI) ก่อตั้งโดย ‘อีลอน มัสก์’ ในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งได้ทำการพัฒนาส่วนต่อประสานระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า ‘the Link’ ซึ่งเป็นการฝังชิปประสาทโดยการผ่าตัด โดยออกแบบมาเพื่อถอดรหัสและกระตุ้นการทำงานของสมอง อุปกรณ์ระบบประสาทจะช่วยให้ผู้ที่เป็นอัมพาตขาสามารถเคลื่อนไหวได้อีกครั้งและฟื้นฟูการมองเห็นให้กับผู้ที่ตาบอดแต่กำเนิด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการนี้จะเริ่มเผยแพร่สู่สาธารณะครั้งแรกตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 และทาง ‘อีลอน มัสก์’ ก็ได้ออกมาบอกว่าจะเริ่มทำการทดลองในผู้ป่วยภายในปี พ.ศ. 2563 แต่จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2565 ทาง ‘Neuralink’ ก็ยังไม่สามารถเริ่มทำการทดลองกับผู้ป่วยได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) เป็นผลมาจากความกังวลในด้านความปลอดภัยของอุปกรณ์บางประการ เช่น โครงสร้างบางอย่างของชิปเซต, สายไฟที่อยู่ภายใน, แบตเตอรี่ประเภทลิเทียม ซึ่งอาจเป็นตัวการที่ทำลายระบบสมอง เช่นเดียวกับความร้อนของชิปเซตที่มีโอกาสส่งผลต่อผู้ทดสอบ นอกจากนี้ ในขั้นตอนของการถอดชิปมีโอกาสที่จะทำลายเนื้อเยื่อของสมองของผู้สวมใส่หรือไม่ เป็นต้น ทำให้ทาง FDA ยังไม่ออกใบอนุญาตให้กับ ‘Neuralink’ ได้ในขณะนั้น แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ FDA ได้อนุมัติให้ ‘Neuralink’ เริ่มทำการทดลองทางคลินิกกับมนุษย์เป็นครั้งแรกแล้ว หลังการต่อสู้มาอย่างยาวนาน

ใครสามารถเข้าร่วมการทดลองโครงการนี้ได้บ้าง?

โดยภายหลังได้รับการอนุมัติจากทาง FDA ในระยะเริ่มแรก ‘Neuralink’ กำหนดคุณสมบัติสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีอายุอย่างน้อย 18 ปีบริบูรณ์ และเป็นผู้ที่มีโรคอัมพาตครึ่งซีก, อัมพาตขา, สูญเสียการมองเห็น, สูญเสียการได้ยิน และ/หรือ ไม่สามารถพูดได้ โดยมีสำนักทะเบียนผู้ป่วยเป็นผู้ช่วยพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สมัครสำหรับการทดลองทางคลินิก ซึ่งทาง ‘Neuralink’ จะทำการเชิญผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดเข้าร่วมในการทดลองของโครงการ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในทุก ๆ ปี มีผู้คนจำนวน 15 ล้านคนทั่วโลกที่ประสบกับโรคหลอดเลือดสมอง โดยในจำนวนนี้ผู้เสียชีวิตจำนวน 5 ล้านคน และอีก 5 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พิการถาวร ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้โครงการ ‘Neuralink’ ถือเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สำคัญที่น่าจับตามอง เพราะหากการทดลองกับผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการประสบผลสำเร็จ ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะได้เห็นการทำชิปฝังในสมองมนุษย์เพื่อการรักษาโรคอย่างแพร่หลายมากขึ้น และอาจนำไปสู่การนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาพัฒนาเป็นอุปกรณ์เพื่อการอัพเกรดความสามารถให้กับมนุษย์ได้ต่อไปในอนาคต

ที่มา : neuralink, builtin, ohesdc, springnews

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #Neuralink #BCI #เทคโนโลยี #ElonMusk #อีลอนมัสก์ #เทคโนโลยีประสาท