NETPROFIT

ธุรกิจไหนทำกำไรได้สูงสุดในปีที่ผ่านมา?

เปิดข้อมูลในปี 2565 หลังจากบริษัทประกาศผลการดำเนินงานประจำปีออกมากับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นที่เรียบร้อย โดย ‘Business+’ พบว่ามี 5 ธุรกิจที่น่าสนใจเป็นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา เพราะยังเป็นธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรสุทธิสูงที่สุดจากทั้งหมด 28 ธุรกิจในประเทศไทย แม้จะเป็นช่วงที่กำลังซื้อของคนยังต่ำจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ แล้วเกิดจากการบริหารต้นทุน และค่าใช้จ่ายได้ดี ขณะที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวในแง่ของความเชี่ยวชาญ ทักษะระดับสูง และเงินทุนในการเริ่มธุรกิจ เราจึงได้คัดเลือกจากธุรกิจที่มีอัตรากำไรสุทธิสูงที่สุด โดย 5 ธุรกิจที่มีความสามารถทำกำไรสุทธิได้สูงที่สุด ประกอบด้วย

อันดับที่ 1 ธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ อัตรากำไรสุทธิ 24.34%

อันดับที่ 2 ธุรกิจการธนาคาร อัตรากำไรสุทธิ 19.34%

อันดับที่ 3 ธุรกิจการแพทย์ อัตรากำไรสุทธิ 16.33%

อันดับที่ 4 ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อัตรากำไรสุทธิ 15.54%

อันดับที่ 5 ธุรกิจกระดาษและวัสดุการพิมพ์ อัตรากำไรสุทธิ 14.84%

NETPROFIT
ทั้งนี้ อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) เป็นอัตราส่วนที่ถูกคำนวณจากกำไรสุทธิ หารกับ รายได้ และผลที่ออกมาเป็นเปอร์เซ็น (%) ด้วยสูตรการคำนวณดังนี้

หลักการของสูตรนี้เกิดจากการต้องการคิดว่า กำไรสุทธิของธุรกิจ คิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดของธุรกิจ  สามารถในการทำกำไรของบริษัท ว่าบริษัทมีกำไรสุทธิ คิดเป็นสัดส่วนเท่าไรจากรายรับทั้งหมดของบริษัท ดังนั้น อัตราส่วนนี้จึงเป็นอัตราส่วนที่ใช้เพื่อบ่งบอกขีดความสามารถในการทำกำไรของบริษัทว่าสูงหรือต่ำ ค่าที่ออกมาได้นั้นยิ่งสูงยิ่งดี แสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุน และค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี

ซึ่งจะเห็นได้ว่า 5 ธุรกิจที่เรากล่าวถึงนั้น เป็นธุรกิจที่มีต้องใช้เงินในการลงทุนจำนวนมาก อย่างเช่น 2 อันดับแรก คือ ธุรกิจด้านการเงิน ซึ่งธุรกิจประเภทนี้ต้องมีสภาพคล่องสูง และมีความแข็งแกร่งทางการเงินสูงมาก เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถแบกรับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจได้ และธุรกิจประเภทนี้จะต้องมีเงินสำรองตามที่กฏหมายกำหนด ดังนั้น จึงกลายเป็นธุรกิจที่คู่แข่งน้อย และด้วยความที่ต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยง จึงทำให้ธุรกิจประเภทนี้มีอำนาจต่อรองกับลูกค้าได้มากกว่า จึงสามารถสร้างกำไรสุทธิได้สูงกว่าธุรกิจประเภทอื่น ๆ

ขณะที่ธุรกิจด้านการแพทย์เป็นธุรกิจที่ตั้งอยู่บนปัจจัยสี่ของคน และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต และด้วยความที่เป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถสูง จึงทำให้เป็นธุรกิจที่มีอำนาจต่อรองกับลูกค้ามากเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามในมุมมองของ ‘Business+’ นอกจากปัจจัยเฉพาะตัวของธุรกิจแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญที่เป็นตัวผลักดันให้ธุรกิจมีความสามารถในการทำกำไรสุทธิได้ดี คือ การควบคุมค่าใช้จ่าย และการบริหารต้นทุนที่ดี ซึ่งในปัจจุบันหลายธุรกิจเริ่มหันกลับมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น หลังจากเผชิญกับวิกฤต Supply Chain Disruption หรือการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ในช่วงที่เกิดโรคระบาด และความไม่สงบทางการเมือง และสงคราม

แต่การหันมาพึ่งพาตัวเองนี้มีทั้งส่วนดี และส่วนเสีย ส่วนดีคือบริษัทจะสามารถบริหารจัดการด้านการผลิตสินค้า และปริมาณ ที่ยืดหยุ่นมากกว่าเดิม แต่มีข้อที่ต้องระวัง คือ การบริหารจัดการต้นทุน และค่าใช้จ่าย เพราะเจ้าของธุรกิจจะต้องลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งการลงทุนใหม่นั้น จะมีทั้งต้นทุนคงที่ และต้นทุนผันแปร ประกอบกับความเชี่ยวชาญด้านการผลิตสินค้า อาจไม่สามารถทำได้ดีเท่ากับ Supplier จึงต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและทำ Feasibility (การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ) ให้ดีเสียก่อน