ไต้หวันประกาศ Net-zero ภายในปี 2050 จัดสรรงบประมาณ 2.4 แสนล้านบาท เพื่อดันพลังงานทดแทนให้สูงถึง 70% ให้ได้!!

‘ไต้หวัน’ เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก และยังเป็นประเทศเทคโนโลยีที่มีความโดดเด่นด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม จึงเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าจับตามองสำหรับการดำเนินแผนพลังงานสะอาด

ซึ่งล่าสุด ไต้หวันได้ประกาศแผนดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ Net Zero Carbon หรือลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (อีก 28 ปี) ซึ่งจะมีการเพิ่มสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมให้เป็น 60-70%

โดยรัฐบาลไต้หวันวางแผนอัดฉีดงบประมาณจำนวน 240,000 ล้านบาท ภายในปี 2030 เพื่อส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต และเป้าหมายแรกคือในปี 2025 จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ไต้หวันอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น พลังงานไฮโดรเจนที่ได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำผลงานวิจัยมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2040

โดยมีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2030 ไต้หวันจะมีเทคโนโลยีใหม่ที่พร้อมนำมาใช้งานมากขึ้น ดังนั้นแผนพลังงานทดแทนของไต้หวันน่าจะบรรลุตามเป้าหมายได้

สำหรับในส่วนของการลดคาร์บอนในด้านอื่นที่มิใช่การผลิตไฟฟ้า (เช่นโรงงานอุตสาหกรรม ที่พักอาศัย การคมนาคมและอื่น ๆ) จะมีการเร่งนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้งานมากขึ้น พร้อมพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ มาใช้งาน เช่น พลังงานไฮโดรเจน หรือพลังงานชีวมวล ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล

นอกจากนี้อีกภาคอุตสาหกรรมที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคือ ด้านยานพาหนะ โดยไต้หวันตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ภายในปี 2040 รถยนต์และรถจักรยานยนต์ใหม่ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด (แต่รัฐบาลจะไม่ใช้การห้ามซื้อหรือห้ามจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง แต่จะใช้วิธีการให้เงินอุดหนุนเพื่อให้ประชาชนมีความต้องการซื้อเอง)

ขณะเดียวกันก็จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับความต้องการในท้องตลาดต่อไป

นอกจากนี้ ปลายเดือนเมษายนของปีนี้ ทางไต้หวันจะมีการประกาศอัตราการเรียกเก็บค่าปลดปล่อยคาร์บอนจากผู้ประกอบการ (แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับอัตราที่แน่นอน) พร้อมผลักดันให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นผู้นำของห่วงโซ่อุปทาน ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กให้หันมาลดการปลดปล่อยคาร์บอนไปพร้อมกัน

อีกทั้งจะมีการนำระบบการซื้อขายโควต้าการปลดปล่อยคาร์บอนมาใช้งานพร้อมทั้งจะมีการปรับปรุงหรือออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าด้วย

โดยเราจะเห็นว่ารัฐบาลได้มีการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการปรับตัวเพื่อดำเนินการตามนโยบาย Net Zero Carbon มาโดยตลอด โดยได้รับแรงผลักดันจากการที่ EU ประกาศเรียกเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้าตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป

ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการไทยแล้ว ถือเป็นโอกาสในการเข้ามาลงทุนผลิตโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในไต้หวัน ซึ่งมีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เดนมาร์ค

ทั้งนี้ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมย์ที่จะบรรลุเป้า “Carbon Neutrality” หรือการที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่นภายในปี 2050 และบรรลุเป้า “Net zero Emissions” ภายในปี 2065

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา :สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา ,กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #Net-zero #การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ #กาศเรือนกระจก