เรื่องราวของรองเท้า ‘นันยาง’ กับเส้นทาง 70 ปี จากผ้าใบราคา 12 บาท สู่รายได้ระดับพันล้าน!

หากจะกล่าวถึงแบรนด์รองเท้าผ้าใบขวัญใจวัยเรียนที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานนับสิบปีก็ยังคงเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมอยู่เรื่อยมา คงหนีไม่พ้น ‘นันยาง’ แบรนด์รองเท้าสัญชาติไทยที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานถึง 70 ปี และยังคงโลดแล่นอยู่ในวงการรองเท้าแบบไม่ยอมเลือนหายไปตามกาลเวลา

โดยเรื่องราวของแบรนด์ ‘นันยาง’ นั้น เริ่มต้นมาจากผู้ก่อตั้งอย่าง ‘คุณวิชัย ซอโสตถิกุล’ ที่แรกเริ่มได้ย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศจีนในปี พ.ศ. 2460 ด้วยวัย 15 ปี และเริ่มอาชีพแรกในประเทศไทยด้วยการขายเหล็กในโรงงานของคุณอา และได้สะสมประสบการณ์ในหน้าที่การงาน จนได้เป็นหลงจู๊ในโรงไม้จินเส็ง ซึ่งมีสำนักงานอยู่ใกล้วัดตะเคียน (วัดมหาพฤฒารามในปัจจุบัน)

จุดเริ่มต้นของรองเท้าผ้าใบราคา 12 บาท
ต่อมา เมื่อสงครามยุติลงและเหตุการณ์บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ธุรกิจเริ่มมั่นคงและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ‘คุณวิชัย ซอโสตถิกุล’ จึงได้ก่อตั้ง ‘บริษัท วัฒนสินพาณิชย์ จำกัด’ ขึ้นในวันที่ 28 มกราคม 2491 และได้ย้ายสำนักงานไปย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ โดยในการดำเนินธุรกิจครั้งนี้ได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศเพื่อนำเข้า-ส่งออกสินค้าหลากหลายชนิด ซึ่งรวมถึงการติดต่อเพื่อร่วมทำธุรกิจกับชาวสิงคโปร์เพื่อนำเข้ารองเท้าผ้าใบ ‘ยี่ห้อหนำเอี๊ย’ (หนำเอี๊ย แปลว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) รุ่น 500 ลักษณะเป็นผ้าสีน้ำตาล พื้นยางสีน้ำตาล และบรรถุงในถุงกระดาษสีน้ำตาล จากประเทศสิงค์โปร์มาจำหน่ายในประเทศไทย ในราคาคู่ละ 12 บาท

อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 ปีแรกของการขายรองเท้า ‘หนำเอี๊ย’ นั้น บริษัทยังประสบกับปัญหาขาดทุนอยู่ แต่เมื่อตลาดเริ่มให้การตอบรับดีขึ้นโดยเฉพาะในตลาดสำเพ็ง และตลาดต่างจังหวัด ซึ่งเกิดจากคุณภาพของสินค้าที่มีความคงทนมากกว่ารองเท้าทั่วไปในสมัยนั้น จนมีผู้กล่าวติดตลกว่า “ใส่เดินทำงานข้ามภูเขา ไป-กลับ ได้สบาย ส่วนรองเท้ายี่ห้ออื่น ขาไปใส่หนึ่งคู่ พังพอดี ต้องเตรียมไปอีกคู่เพื่อใส่กลับ”

ที่มาของชื่อ ‘นันยาง’
ต่อมาเมื่อรองเท้า ‘หนำเอี้ย’ ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทาง ‘บริษัท วัฒนสินพาณิชย์ จำกัด’ จึงลดการนำเข้าสินค้าประเภทอื่น โดยเน้นการขายรองเท้าเพียงอย่างเดียว และได้เปลี่ยนการออกเสียงแบรนด์ให้เป็นสากลมากขึ้น จากเดิม ‘หนำเอี๊ย’ ซึ่งเป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว มาเป็น ‘หนันหยาง’ (Nan-Yang) ซึ่งเป็นภาษาจีนกลาง แต่เพื่อให้ติดปากคนไทยมากขึ้น จึงเรียกว่า ‘นันยาง’ ตั้งแต่นั้นมา และได้จดทะเบียนการค้า ‘นันยาง ตราช้างดาว’ กับกระทรวงพาณิชย์ ในปี พ.ศ. 2492

สำหรับจุดเปลี่ยนสำคัญของแบรนด์ ‘นันยาง’ อีกอย่าง คือ นโยบายการเชิญชวนให้คนไทยสนับสนุนสินค้าไทยซึ่งอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2490 ถือเป็นนโยบายที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ ‘คุณวิชัย’ มีแนวคิดจะผลิตสินค้าเอง โดยใช้วัตถุดิบและแรงงานในประเทศไทย จนในที่สุดได้ตัดสินใจซื้อกิจการและกรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัยจากสิงคโปร์ พร้อมทั้งก่อตั้ง ‘บริษัท ผลิตยางนันยาง (ไทย) จำกัด’ ขึ้นบนเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ เรียบถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ เพื่อเป็นฐานการผลิตรองเท้านันยางในประเทศไทย โดยมีช่างรองเท้าชาวสิงค์โปร์จำนวน 30 คน เดินทางมาร่วมสร้างตำนานด้วย

โดยรองเท้าผ้าใบ ‘นันยาง’ ได้เริ่มเดินสายการผลิตในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2496 ซึ่งในขณะนั้นสามารถผลิตรองเท้าได้ 70 คู่ พร้อมคำว่า “Made in Thailand” ที่ถูกประทับคู่กับโลโก้ ‘นันยางตราช้างดาว’ เป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ ในการดูแลกิจการขณะนั้น ‘คุณวิชัย’ เป็นผู้ดูแลภาพรวมของบริษัท ในขณะที่ ‘คุณบุญสม ซอโสตถิกุล’ ซึ่งเป็นภรรยา ได้อาสาดูแลการผลิตและควบคุมคุณภาพสินค้าด้วยตัวเองทุกวัน และบ่อยครั้งที่มักจะลงมือคัดเลือกรองเท้าที่ไม่ได้มาตรฐานด้วยตนเอง ก่อนที่สินค้าจะส่งออกสู่ตลาด

กำเนิด ‘รองเท้าแตะตราช้างดาว’
ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 ได้ถือกำเนิด ‘รองเท้าแตะตราช้างดาว รุ่น 200’ ขึ้น ด้วยการพัฒนาส่วนผสมและกระบวนการผลิตอย่างลงตัว จึงให้รองเท้าแตะตราช้างดาวขณะนั้นได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ซึ่งในขณะนั้นได้ผลิตสินค้าขึ้นมา 2 สี คือ สีน้ำตาลและสีน้ำเงิน บรรจุในถุงพลาสติกใส วางจำหน่ายในราคาคู่ละ 15 บาท และด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของทางแบรนด์ ส่งผลให้บริษัทฯได้รับเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก) ในปี พ.ศ. 2528

สำหรับจุดขายสำคัญของรองเท้า ‘รองเท้าแตะตราช้างดาว’ นั้น คือความเป็นเอกลักษณ์ด้านความสบาย ง่ายง่าย ทนทาน ลุยไปทุกที่ ใครก็สามารถเอื้อมถึงได้เนื่องจากมีราคาที่ไม่สูงมาก และสามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ทำให้ได้รับความนิยมจากรุ่นสู่รุ่น ดังคำที่ทางแบรนด์ได้ให้นิยามไว้กับรองเท้ารุ่นนี้ว่า “เป็นมากกว่ารองเท้า เป็นมากกว่าแฟชั่น แต่เป็น ‘สไตล์’ ที่อยู่เหนือกาลเวลา”

จากรองเท้าแบดมินตันสู่หน้าประวัติศาสตร์รองเท้าไทย
หลังผ่านระยะเวลาอันยาวนานจนเข้าสู่ปีที่ 25 ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 ‘คุณเพียรศักดิ์ ซอโสตถิกุล’ ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของ ‘คุณวิชัย’ ได้เดินทางกลับมาจากประเทศอังกฤษ และมีความต้องการที่จะผลิตรองเท้า ‘นันยาง’ สำหรับแบดมินตันโดยเฉพาะ จึงได้พัฒนารองเท้าที่ใช้รหัสในการผลิตว่า ‘205-S’ ขึ้นมา โดยมีลักษณะเป็นรองเท้าพื้นสีเขียว ซึ่งนับเป็นสีที่แปลกมากในขณะนั้น และด้วยความเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการแบดมินตันไทย ภายหลัง ‘คุณเพียรศักดิ์’ จึงได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ทำให้รองเท้านันยางรุ่น 205-S ที่เจ้าตัวเป็นคนออกแบบ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักแบดมินตันชาวไทย จนกระทั่งขยายตัวไปยังกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ นักกีฬา และอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว จนมีสินค้าเลียนแบบจำนวนมาก ทำให้ทางบริษัทฯตัดสินใจเพิ่มโลโก้ ‘Nanyang’ ลงบนรองเท้าในปี พ.ศ. 2537 เพื่อตอกย้ำให้ผู้บริโภคทราบว่าใส่รองเท้านันยางเท่านั้น

ด้วยความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการขยายตลาดอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บริษัทฯลงทุนขยายและพัฒนาฐานการผลิตไปยังศูนย์การผลิตแห่งใหม่ พร้อมทั้งก่อตั้ง ‘บริษัท นันยางอุตสาหกรรม จำกัด’ ขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2512 และ ‘บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด’ ในพ.ศ. 2522 โดยย้ายสำนักงานใหญ่จากแยกตลาดน้อย มาบริเวณถนนสี่พระยา เขตบางรัก จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ รองเท้า ‘นันยาง’ พื้นเขียว ถือเป็นหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของวงการรองเท้าไทย โดยรัฐบาลประกาศให้เป็น “สินค้าไทยดีเด่น” ในปี พ.ศ. 2527 และ “ผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมของประเทศไทย” ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งนอกจาก ‘นันยาง’ จะเป็นที่นิยมภายในประเทศแล้ว ยังมีการส่งออกไปยังต่างประเทศอีกมากมาย เช่น จีน ลาว กัมพูชา  เวียดนาม พม่า บังกลาเทศ ปากีสถาน อินโดนิเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเช่นกัน

ด้วยความมุ่งมั่นในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพจนได้รับการยอมรับในระดับสากล ส่งผลให้ธุรกิจของ ‘นันยาง’ เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการนำเข้ารองเท้าหลักสิบ หลังผ่านบททดสอบการทำธุรกิจมายาวนานถึง 70 ปี ปัจจุบัน ‘นันยาง’ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้จะเป็นสินค้าแบรนด์ไทยก็สามารถพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ระดับพันล้านได้

โดยจากการตรวจสอบข้อมูลของ Business+ พบว่า ผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของ ‘บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด’ ซึ่งประกอบธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีกรองเท้าผ้าใบ รองเท้ายาง ของแบรนด์ ‘นันยาง’ สามารถสร้างรายได้ระดับพันล้านต่อปี ดังนี้

ปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,297,881,172.32 บาท เพิ่มขึ้น 4.36% จากปี 2562 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,243,631,127.86 บาท และมีกำไรสุทธิ 30,098,161.45 บาท ลดลง 7.95% จากปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 32,699,639.31 บาท

ปี 2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,316,696,260.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.44% จากปี 2563 และมีกำไรสุทธิ 41,004,390.66 บาท เพิ่มขึ้น 36.23% จากปี 2563

ปี 2565 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,304,817,561.34 บาท ลดลง 0.90% จากปี 2564 และมีกำไรสุทธิ 37,188,707.62 บาท ลดลง 9.30% จากปี 2564

ขณะที่ ‘บริษัท นันยางอุตสาหกรรม จำกัด’ ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตรองเท้า (ตามข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์) ก็มีรายได้ที่สูงในระดับพันล้านเช่นเดียวกัน โดยข้อมูลผลประกอบการช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า

ปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,200,403,914.10 บาท เพิ่มขึ้น 4.69% จากปี 2562 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,146,624,826.77 บาท และมีกำไรสุทธิ 357,864,667.81 บาท เพิ่มขึ้น 6.32% จากปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 336,567,650.98 บาท

ปี 2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,194,661,639.14 บาท ลดลง 0.47% จากปี 2563 และมีกำไรสุทธิ 313,427,718.04 บาท ลดลง 12.41% จากปี 2563

ปี 2565 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,297,552,629.78 บาท เพิ่มขึ้น 8.61% จากปี 2564 และมีกำไรสุทธิ 319,547,782.29 บาท เพิ่มขึ้น 1.95% จากปี 2564

ที่มา : Nanyang, datawarehouse

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #นันยาง #รองเท้านันยาง #Nanyang