muketing

Muketing มาแรงแค่ไหน? และนักการตลาดจะหยิบมาใช้อย่างไร เพื่อสร้างธุรกิจให้ทรงพลัง

‘สีมงคล’ ที่บรรดาแบรนด์แฟชั่นตั้งแต่ระดับแมสไปจนถึงไฮเอนด์หยิบมาเล่นเป็น Gimmick ทางการตลาด หรือแม้แต่เบอร์และวอล์เปเปอร์มงคล ที่สินค้าเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นบรรดาผู้ให้บริการมือถือ แต่ละแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างนิยมนำมาสร้างสรรค์เป็นโปรดักส์ กระทั่งการจัดทริปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธ์ของแบรนด์ต่าง ๆ  ฯลฯ ด้วยกิจกรรมทางการตลาดเหล่านี้ ตอกย้ำให้เห็นถึงพลังของ Muketing หรือการตลาดความเชื่อ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ยุคนี้เรื่องความเชื่อกับธุรกิจเป็นเรื่องเดียวกัน

หลายคนอาจมองว่า ความแรงของกระแสดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมูเตลูเป็นสิ่งที่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน โดย ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า มูเตลูไม่ใช่ความเชื่อที่มีเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่คนในอีกหลายแห่ง
ทั่วโลกก็มีความเชื่อ เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวและเพิ่มความมั่นใจเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง เช่น ไพ่ทาโรต์
ของฝั่งตะวันตก ฯลฯ

 

ส่วนในเชิงการตลาด มูเตลู มีน่าสนใจแค่ไหน ?

ผศ.ดร.เอกก์เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดทั้งโลกของตลาดนี้อยู่ราว ๆ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล และหากโฟกัสเฉพาะในบ้านเรา จากงานวิจัยพบว่า 90% ของคนในประเทศไทย มีความเชื่อในเรื่องมูเตลู และ 75% หรือ 3 ใน 4 ของคนยอมจ่ายกับเรื่องนี้ นั่นหมายความว่า ตลาดมูเตลูมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งแบรนด์ไม่ควรพลาดที่จะหยิบ Muketing มาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาด เพื่อสร้างยอดขายและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับตัวเอง

4 Keyword ทำ Muketing อย่างไรให้แบรนด์ปัง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีหลายธุรกิจหลายแบรนด์ยังมีความกังวลอยู่ว่า “หากนำแบรนด์มาเชื่อมโยงกับกับกระแสมูเตลูจะกระทบต่อภาพลักษณ์ ซึ่งประเด็นนี้ หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ขึ้นอยู่การปรับใช้ โดยเขาได้ให้ 4 Keyword เป็นคาถาสำหรับทำ Muketing ให้แบรนด์ปัง ไม่พัง ไว้อย่างน่าสนใจ

  1. ปรับใช้…ไม่หลบเลี่ยง เพราะมูเตลูเป็นตลาดใหญ่ทั้งเชิงมูลค่าและจำนวนลูกค้า แบรนด์จึงควรนำ Muketing มาใช้สำหรับเพิ่มยอดขาย และสร้างเอนเกจกับลูกค้าผ่านแคมเปญหรือกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ มากกว่าหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้ โดยหลักการคือ ต้องเลือกปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจหรือแบรนด์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ การให้น้ำหนัก และความถี่
  2. ต้องไปโลกใหม่…ไม่โลกเดิม ด้วยโลกปัจจุบันมีเทคโนโลยีและสิ่งใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา การทำ Muketing จำเป็นต้องนำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อสร้างสินค้าหรือบริการ ตลอดจนโมเดลธุรกิจใหม่ ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเป็นการพัฒนาแบรนด์ไม่ให้ตกยุค
  3. มุ่งหน้า…ไม่ยึดติด แม้มูจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Traditional แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลก การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม นักการตลาดจำเป็นต้องทำความเข้าใจและสามารถผสมผสานโลก
    ยุคเก่ากับยุคใหม่เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เช่น ยุคนี้ AI, Chat GPT และ Apple Vision Pro กำลังมาแรง อาจจะเปิดให้ดูดวงผ่านเครื่องมือเหล่านี้ เป็นต้น
  4. ส่งเสริม…ไม่งมงาย นักการตลาดหรือแบรนด์ต้องทำ Muketing อย่างมีบาลานช์ เนื่องจากแม้ตลาดมูจะมีความน่าสนใจ แต่ถ้าใช้เยอะเกินไปจะเข้าสู่โลกของความงมงาย ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบและทำลาย
    แบรนด์ได้ ดังนั้น อย่าใช้ Muketing เป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว ต้องมีการผสมผสานกับการตลาดอื่น ๆ ที่สำคัญการทำ Muketing ต้องอย่าส่งเสริมให้งมงาย เช่น โฆษณาว่า เมื่อซื้อสินค้ามูแล้วจะรวยทันที
    แต่แบรนด์ต้องบอกว่า หากอยากรวย อยากประสบความสำเร็จ นอกจากมีสินค้ามูเพื่อเพิ่มความมั่นใจแล้ว สิ่งสำคัญคือ ต้องลงมือทำ

ต่างเจน ต่างมุม ต่างมู
อย่างไรก็ตาม ด้วยกลุ่มลูกค้าในปัจจุบันมีความหลากหลาย ทั้งเจเนอเรชัน พฤติกรรม และไลฟ์สไตล์ ดังนั้น การนำ Muketing มาใช้ให้กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลัง จึงจำเป็นต้องรู้จักและเข้าใจลูกค้าแต่ละกลุ่มให้ดีเสียก่อน โดย ‘พร้อมพร สุภัทรวณิช’ Associate Director, Market research & Strategy จาก HILL ASEAN และ ‘กรรณ ทองศรี’ Strategic planning manager จาก Hakuhodo International Thailand ได้มาฉายภาพให้เห็นเบื้องลึกเบื้องหลังถึงปัจจัยและพฤติกรรมในการมูของ 3 Gen ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ Gen X, Gen Y และ Gen Z  ผ่านงานวิจัย ‘My Gen My Mu มูต่างวัย, มองต่างมุม’ เพื่อให้นักการตลาดและแบรนด์สามารถกำหนดกลยุทธ์ในการพิชิตใจแต่ละ Gen ได้ชัดเจนมากขึ้น

กลุ่มแรก Gen X เกิดระหว่างปี 1965-1979 มูแบบ Traditional
คนกลุ่มนี้เป็นคนที่เติบโตมาในช่วงเริ่มต้น ‘ทุนนิยม’ ซึ่งเป็นยุคที่มีความเชื่อว่า ทำมาก ย่อมได้มาก ทำให้กลุ่มนี้ยึดมั่นในเรื่องความพยายาม ยึดทำตามแบบแผนและธรรมเนียมปฏิบัติ โดยการมูของ Gen X จะทำตามแบบดั้งเดิม เน้นสวดมนต์ไหว้พระ ทำบุญ เพื่อนำไป Top-up กับความพยายามเพื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จ

สิ่งที่ขอ Gen X จะเน้นเรื่องสุขภาพมากกว่า Gen อื่น ด้วยช่วงอายุบวกกับความเชื่อของคนกลุ่มนี้ที่ว่าการมีสุขภาพดีและแข็งแรงจะช่วยให้ชีวิตของพวกเขาไม่สะดุด สามารถสร้างเงินไว้ใช้ได้อย่างสบายใจเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ

การทำ Muketing กับคนกลุ่มนี้ โดยแบรนด์ต้องทำแคมเปญที่เน้นเพิ่มพลังกาย พลังใจ ส่งเสริมไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพและใจเป็นหลัก ผ่านกิจกรรมมูที่พวกเขาคุ้นเคย เช่น กิจกรรมเดิน-วิ่ง 9 วัด หรือแพ็กเกจบทสวดมนต์/บทอวยพรมงคล ฯลฯ ภายใต้ข้อระวัง ‘ต้องไม่ล้ำเส้น และไม่ผิดธรรมเนียม’ เนื่องจาก Gen X ยึดตามแบบแผนและธรรมเนียมปฏิบัติเป็นอย่างมาก

กลุ่มที่ 2 Gen Y เกิดระหว่างปี 1980-1997 มูที่ใช่ ไร้ขีดจำกัด
Gen Y อยู่ในช่วงชีวิตขึ้นสุดลงสุด จากปัจจัยเศรษฐกิจและอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างอะนาล็อกสู่ดิจิทัลทำให้เป็นคนที่เปิดรับ พร้อมปรับตัวและเปลี่ยนแปลง วิธีมูของคนกลุ่มนี้จึงเปิดกว้าง กราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือปฏิบัติตามทุกศาสนาและทุกความเชื่อ หากสามารถให้ผลลัพธ์แบบ ‘เฉพาะเรื่อง’ เช่น การงาน ความรัก สุขภาพ ฯลฯ

สิ่งที่ขอ – ด้วยช่วงอายุเป็น ‘เดอะแบก’  เพื่อความมั่นคงและความก้าวหน้าในชีวิต คนกลุ่มนี้จึงโฟกัสกับเรื่องการเงินและการงานมากกว่า Gen อื่น

การทำ Muketing กับคนกลุ่มนี้ ต้องเป็น ‘Mentor’ ผู้ช่วยเฉพาะทางที่คอยนำพาและส่งเสริมสิ่งดี ๆ ให้ชีวิต โดยแบรนด์ต้องทำแคมเปญที่มี ‘จุดประสงค์ชัด สร้างประสบการณ์ใหม่ และถ่ายภาพสวย’ เช่น Meet and Mu ทริปมูที่แนะนำ New Spot ทั้งในและนอกประเทศ พร้อม Tie-in สินค้าหรือบริการของแบรนด์ที่นอกจากจะได้มูตามศรัทธาแล้ว ยังต้องเป็นโอกาสได้ท่องเที่ยว ได้พบเพื่อนใหม่ และได้รูปสวย ๆ ไปแชร์ต่อด้วย

กลุ่มที่ 3 Gen Z เกิดระหว่างปี 1998-2012 มูแบบมินิมอล
คนกลุ่มนี้เกิดในยุคโลกดิจิทัล เป็นคนเปิดรับเรื่องราวใหม่ สามารถหยิบสิ่งต่าง ๆ มาเอนจอยกับชีวิตได้อย่างง่าย ๆ และชอบความมินิมอลเข้ากับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวัน

สิ่งที่ขอ คนกลุ่มนี้ต้องการเรียนได้เกรดดี เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้เมื่อเรียนจบมาจะมีงานที่ดี มีรายได้ปัง ๆ สามารถการันตีชีวิตที่ดีในอนาคตได้ พวกเขาจึงเน้นมูเพื่อให้มีการเรียนที่ดี และมีงานที่มั่นคงเป็นหลัก และการทำ Muketing กับคนกลุ่มนี้ต้องมี Gimmick และสีสันที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของ Gen Z  ผสมผสานเรื่องราวมูเตลูผ่านสินค้าหรือบริการแบบน้อยแต่มาก, เน้น Aesthetic สะท้อนความมูลงในบริบทที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนวัยนี้แบบไม่เคอะเขิน เช่น แฟชั่นสายมู, การจัดโต๊ะทำงานมูเตลูแบบไม่ให้นายรู้ หรือแนะนำโทนสีแต่งบ้านเพื่อความเฮง หรือสติ๊กเกอร์ God-Vengers แบบ Customizable ทั้งครีเอตและสนุกกับเพื่อน ๆ ได้ด้วย เพราะคนกลุ่มนี้ชอบมูแบบคุมโทน และต้องมูแบบไม่ตะโกน

มาถึงตรงนี้ เราได้เห็นถึงความน่าสนใจของตลาดมู ซึ่งไม่ใช่แค่เทรนด์หรือความงมงาย ทว่าเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทยที่หากนักการตลาดและแบรนด์เข้าใจ ก็จะสามารถครีเอตกลยุทธ์ได้อย่างถูกต้อง เพื่อสร้างแต้มต่อให้ธุรกิจเติบโตได้ไม่ยาก

 

เรียบเรียงเนื้อหาจากงาน Marketeer Talk Insight and Trend EP. Muketing จัดโดย Marketeer

เขียนและเรียบเรียง : ผู้เขียน ณัฐสุดา เพ็งผล

 

ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus

Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #การตลาด #มาร์เก็ตติ้ง