Mr.DIY

MR. D.I.Y. ร้านค้าปลีกของตกแต่งบ้านจากมาเลเซีย ที่เติบโตได้เร็วที่สุดในไทย!

MR. D.I.Y. ร้านขายอุปกรณ์ซ่อมแซม ตกแต่งบ้านและสินค้าไลฟ์สไตล์จากประเทศมาเลเซีย ที่มีโมเดลธุรกิจเหมือนกับ ‘ร้านขายสินค้าราคาถูก’ ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ว่าภายในร้านมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย สามารถช้อปปิ้งแบบครบจบในที่เดียว ได้เข้ามาตีตลาดในไทยด้วยการเปิดสาขาแรกในปี 2559 และหลังจากนั้นมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยรายได้ในปี 2567 เกิน 1 หมื่นล้านบาท และกำลังจะเติบโตขึ้นไปอีกหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เพราะจะมีแหล่งเงินทุนให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจได้อีกมาก ทีนี้ ‘Business Plus’  จะพามาดูกันว่า จุดเริ่มต้น ไปจนถึงสิ่งที่ทำให้ MR. D.I.Y. ประสบความสำเร็จได้ยังไง?

โดย MR. D.I.Y. เริ่มจากการเปิดสาขาแรกในห้องแถวคูหาเดียวในกัวลาลัมเปอร์ ที่ขายอุปกรณ์เครื่องมือช่าง และเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กในราคาถูก จากนั้นก็เพิ่มสินค้าที่เกี่ยวกับบ้านเข้ามา หลังจากนั้นเริ่มเปิดสาขาในศูนย์การค้า และได้รับการตอบรับสูงยอดขายก้าวกระโดด จนปี 2563 ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นมาเลเซีย และในปี 2568 กลายเป็นแบรนด์ร้านค้าอุปกรณ์ตกแต่บ้านที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย ปัจจุบัน MR.D.I.Y ขยายสาขาไปยัง 11 ประเทศด้วยสาขามากกว่า 2,700 แห่ง ทั้งอาเซียนและยุโรป (มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย สเปน ตุรกี กัมพูชา อินเดีย และเวียดนาม)

มาดูที่การบุกตลาดประเทศไทยกันบ้าง โดยเข้ามาเปิดสาขาแรกในห้าง คือซีคอนบางแค ด้วยกลยุทธ์การเลือกขายสินค้าที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจำนวนมากในราคาที่สามารถแข่งขันได้ และสินค้าส่วนใหญ่เป็น Mass-market Consumers

ซึ่งโมเดลนี้ทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ 1 ปีขยายสาขาในไทยได้มากถึง 50 สาขา ปัจจุบันมีสาขามากถึง 932 สาขา คลอบคลุม 74 จังหวัด เท่ากับว่าเฉลี่ยแล้วหลังจากเข้ามาลงทุนในไทย 9 ปี มีการขยายสาขาปีละ 103 สาขา ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นการลงทุนเองไม่ใช้ระบบแฟรนไชส์ (Standalone จำนวน 643 สาขา และภายในห้างฯ 289 สาขา)

ดังนั้นจึงเรียกได้ว่า MR. D.I.Y. เป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกอุปกรณ์ตกแต่งบ้านและสินค้าไลฟ์สไตล์ทั่วไปที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในประเทศไทย โดยในปี2566 บริษัทฯ มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 7.4% เมื่อคำนวณจากรายได้ (ข้อมูล : Frost & Sullivan) และหากเรามองผู้เล่นในธุรกิจค้าปลีกอุปกรณ์ตกแต่งบ้านและสินค้าไลฟ์สไตล์ทั่วไปที่เป็น Chain Retailer ทาง MR. D.I.Y. มีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 35.6%

ซึ่งคู่แข่งของ MR. D.I.Y. ในไทยจะมี 2 กลุ่มคือ กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์อย่าง Miniso , Daiso , Moshi Moshi และกลุ่มขายอุปกร์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านอย่าง BNB home , HOMPRO , ไทวัสดุ , Global House ซึ่งเมื่อเทียบกับแบรนด์เหล่านี้แล้วนำมาวัดกันที่สาขา MR. D.I.Y. จึงถือเป็นแบรนด์ที่มีสาขามากที่สุดในไทย

สำหรับจุดเด่นของ MR. D.I.Y. เมื่อเทียบกับกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ คือ ร้านค้าของบริษัทฯ มีทำเลที่ตั้งอยู่ทั้งในบริเวณเมืองและพื้นที่ห่างไกลนอกตัวเมือง ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกเช่น พื้นที่ชุมชนและบริเวณใกล้เคียงที่มีการสัญจรเป็นจำนวนมาก รวมถึงพื้นที่ติดถนนที่มีการสัญจรเป็นจำนวนมาก ในศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ย่านธุรกิจ และย่านศูนย์รวมที่ตั้งร้านค้า

นอกจากรูปแบบสาขานอกศูนย์การค้า (Standalone) ยังช่วยให้บริษัทฯ สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ยังมีระดับการแข่งขันที่ต่ำ และทำให้บริษัทฯ มีการแข่งขันที่น้อยลง

โดยสินค้าที่ขายในร้านนั้น มีทั้งสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทเอง และสินค้าภายใต้แบรนด์ของบุคคลภายนอกในร้านค้าของบริษัทฯ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทฯ นำเข้ามาจากประเทศจีน ทำให้มีสินค้าที่หลากหลายภายใต้ 6 กลุ่มประเภทสินค้า ประกอบด้วย

1) เครื่องใช้ในครัวเรือนและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน

2) ฮาร์ดแวร์

3) เครื่องใช้ไฟฟ้า

4) เครื่องเขียนและอุปกรณ์กีฬา

5) ของเล่น และ (6) อื่น ๆ

Mr.DIY

ซึ่งการมีสินค้าให้เลือกหลากหลายนี้เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นนอกจากเรื่องของราคาถูก โดยสาขาขนาดใหญ่มีประเภทสินค้า (SKUs) ที่วางจำหน่ายสูงถึงประมาณ 15,000 รายการ ส่วนสาขาขนาดกลางประเภทสินค้า (SKUs) ที่วางจำหน่ายประมาณ 12,000 รายการ และสาขาขนาดเล็กวางจำหน่ายประมาณ 9,000 รายการ

โดยสินค้าที่วางจำหน่ายในแต่ละสาขา (Product Mix) ได้ถูกประเมินและปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า จากการวิเคราะห์ข้อมูลในระบบของบริษัทเอง

นอกจากนี้แล้ว การที่มีสาขาจำนวนมากและมีเครือข่ายอยู่มากถึง 11 ประเทศทำให้บริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) จากการจัดหาสินค้าของเครือข่ายของ MR.D.I.Y. ทั่วโลก ซึ่งอยู่ภายใต้ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างต่างประเทศของ Mr D.I.Y. Group ด้วยการใช้บริการรวบรวมและวางคำสั่งซื้อของเครือข่ายด้วยสัญญาให้บริการร่วมฯ ทำให้บริษัทฯ และบริษัทอื่น ๆภายใต้เครือข่ายได้มาซึ่งเงื่อนไขที่ดีขึ้น ลดต้นทุนค่าสินค้าต่อหน่วย และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัท

นั่นจึงทำให้นอกจากการเติบโตของรายได้แล้ว บริษัทยังมีการเติบโตของอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายสินค้าอย่างต่อเนื่องจากปี 2564 อยู่ที่ระดับ 45.51% จนปัจจุบันอยู่ที่ 49.32%

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อมูลของเราพบว่า ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (Average Inventory Period) ของบริษัทกลับเพิ่มขึ้นสวนทางกัน ในปี 2564 มีอัตราส่วนอยู่ที่ 171.44 วัน และในปี 2567 อยู่ที่ 198.94 วัน ซึ่งอัตราส่วนนี้เป็นตัวบอกว่าใช้เวลาเฉลี่ยกี่วันกว่าจะขายสินค้าได้ เท่ากับว่า อัตราส่วนนี้มีค่ายิ่งน้อยยิ่งดี แสดงให้เห็นช่วงที่ผ่านมา MR.D.I.Y. ขายของได้ช้าขึ้น ซึ่งบริษัทชี้แจงว่าเกิดจากการสต๊อกสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับสาขาที่เปิดใหม่ และการขยายสาขาในอนาคต นอกจากนี้บริษัทชี้แจงว่าสินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทฯ นำเข้ามาจากประเทศจีนจึงทำให้บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องจัดเก็บสินค้าเพื่อให้รองรับการขายให้เพียงพอ

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+  : https://lin.ee/pbIHCuS

IG  : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

Youtube : https://www.youtube.com/@thebusinessplus7829

#TheBusinessPlus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #ธุรกิจ #MR.DIY