เงินดิจิทัล

แบบจำลองทดสอบการใช้ ‘เงินดิจิทัล’ 10,000 บ. แยกชาย-หญิง ใช้กี่ครั้งหมด?

เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ เป็นเรือธงของนโยบายหาเสียงพรรคเพื่อไทยที่หวังกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดย ‘งบที่ใช้ในโครงการนี้ประมาณ 560,000 ล้านบาท’ (คิดจากคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปมี 56 ล้านคน) เพื่อให้มีเงินเข้าระบบหมุนเวียนเศรษฐกิจ และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นมากขึ้นด้วยข้อจำกัดที่สามารถใช้ได้เพียงแค่ร้านค้าชุมชนและบริการที่อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตรของผู้ลงทะเบียนเท่านั้น สามารถใช้จ่ายสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันได้ทุกประเภท โดยจะเป็นการแจกเงินให้กับประชาชนผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ซึ่งวิธีการใช้จะผ่านระบบบล็อกเชน (Blockchain) ที่เอื้อต่อการระบบชำระเงินในรูปแบบใหม่ ที่พรรคเพื่อไทยจัดทำขึ้นมา ทั้งนี้ตั้งเป้าเปิดตัวเงินดิจิทัล 10,000 บาท ภายในครึ่งปีแรกของปี 2567

โดย ‘Business+’ ได้มีการจำลองทดสอบการใช้ชีวิตด้วยเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่าจะสามารถซื้อเครื่องอุปโภคและบริโภคอะไรได้บ้าง และมากน้อยเพียงใด เพื่อดูค่าเฉลี่ยของค่าครองชีพในแต่ละเดือนที่ประชาชนต้องใช้จ่ายไป และเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะใช้ได้ถึง 6 เดือนหรือไม่หากใช้ชีวิตในการซื้อของปกติตามร้านค้า ตามข้อกำหนดที่ว่าต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน *ราคาสินค้าจะอิงตามราคาท้องตลาด *จำลอง 1 ครอบครัวมี 2 ชีวิต

แบบจำลองการใช้ชีวิตด้วยเงินดิจิทัล 10,000 บาท (1 เดือน)

ข้าวคือคาร์โบไฮเดรตหลัก จากผลการสำรวจข้าวสารหอมมะลิ 5 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 170 บาท สามารถหุงได้ประมาณ 33 จาน โดยการหุงจากถ้วยที่แถมมากับหม้อหุงข้าวปริมาณข้าวที่ได้รับจะใกล้เคียงกับร้านอาหารตามสั่งที่ตักข้าวให้ 1 จาน ทั้งนี้หากบริโภค 2 คน วันละ 3 มื้อ ข้าว 5 กิโลกรัมจะอยู่ได้ราว 1 อาทิตย์ ขึ้นอยู่กับกรณีกินมากกินน้อย เท่ากับว่าเดือนนึงจะต้องซื้อข้าว 4 ครั้ง ตกเดือนละไม่เกิน 700 บาท

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถือเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่เกือบทุกบ้านต้องมี จัดเป็นสินค้าของผู้มีรายได้น้อยที่เข้าถึงง่าย อิ่ม อยู่ท้อง โดยใน 1 ลังจะบรรจุ 40 ซอง น้ำหนัก 55 กรัม/ซอง ราคา 238 บาท ซื้อ 2 ลัง 476 บาท

ปลากระป๋องโรซ่า 155 กรัม แพ็ค 10 กระป๋อง ราคา 187 บาท อยู่ได้ 10 วัน ซื้อ 6 แพ็ค ตกเดือนละประมาณ 1,122 บาท

ไข่ไก่ 1 แผงมี 30 ฟอง ราคาราว 120 บาท ใช้ครั้งละ 2 ฟอง ตกเดือนละ 240 บาท

น้ำมันพืช 1 ลิตร ราคา 44 บาท

น้ำปลา 700 มิลลิลิตร ราคา 40 บาท

แชมพูทั่วไป 450 มิลลิลิตร ราคา 120 บาท

ยาสีฟันทั่วไป 80 กรัม ราคา 50 บาท

ผงซักฟอก ถุงละ 10 บาท ซักอาทิตย์ละครั้งรวม 40 บาท

น้ำยาปรับผ้านุ่มแบรนด์ยอดนิยม 60 บาท

น้ำยาถูพื้น 800 มิลลิลิตร ราคาเฉลี่ย 50 บาท

น้ำยาล้างจาน 500 มิลลิลิตร ราคาเฉลี่ย 29 บาท

ทิชชู่ 1 แพค 6 ม้วน 36 บาท ใช้เดือนละ 12 ม้วน รวม 72 บาท

สบู่อาบน้ำ 450 มิลลิลิตร 129 บาท

น้ำดื่ม 1.5 ลิตร แพค 6 ขวด ราคา 55 บาท เฉลี่ยซื้อเดือนละ 6 แพค รวมราคา 330 บาท

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของเครื่องอุปโภคและบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่สามารถใช้ได้ทั้งชายและหญิงใน 1 ครอบครัว 2 คนเท่านั้น ยังไม่รวมสินค้าจิปาถะอื่น ๆ รวมแล้วต่อเดือนจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,502 บาท

สำหรับข้างต้นหากนำมาเฉลี่ยลดจำนวนลงเหลือเพียงการใช้ชีวิตคนเดียว ค่าใช้จ่ายต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 2,471 บาท ซึ่งหากแยกการอยู่แบบผู้ชายและผู้หญิง สินค้าเฉพาะที่ผู้ชายใช้ในแต่ละเดือน จะมีส่วนต่างเพิ่ม ราว 148 บาท ได้แก่ โรลออนดับกลิ่นตัวแบรนด์ยอดนิยม 89 บาท, ครีมโกนหนวด 59 บาท, มีดโกนหนวดแบรนด์ยอดนิยม ราคาเฉลี่ย 100 บาท เท่ากับจะมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่ 2,619 บาท

ขณะที่ผู้หญิงจะมีสิ่งจำเป็นที่ทำให้รายจ่ายแต่ละเดือนเพิ่มขึ้น คือ ผ้าอนามัย โดยในแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ราวเกือบ 300 บาท อีกทั้งผู้หญิงมีความรักสวยรักงามก็จะต้องซื้อครีมบำรุงผิว ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 200 บาท, โรลออนดับกลิ่นตัวแบรนด์ยอดนิยมราคาเฉลี่ย 100 บาท เท่ากับว่าจะมีส่วนต่างที่ 600 บาท ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนจะอยู่ที่ 3,071 บาท

โดยสรุปเงินดิจิทัล 10,000 บาท หากใช้แบบครอบครัว 2 คน จะใช้ได้ 2-3 เดือน ขณะที่หากแยกการจำลองใช้เงินแบบเพศชายและหญิง สำหรับผู้ชายจะใช้ได้ราว 3 เดือนเศษ ส่วนผู้หญิงจะใช้ได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่ได้รวมความต้องการอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามในสังคมส่วนมากครอบครัวไม่ได้มีเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น อาจจะมี 3 ถึง 5 คนในครอบครัวเดียว ซึ่งเมื่อมีคนจำนวนมากรายจ่ายก็จะเพิ่มขึ้น อาจเพิ่มถึงเกือบเท่าตัวของการอยู่อาศัยเพียง 2 คน ส่งผลให้เงินดิจิทัล 10,000 บาทที่ได้รับอาจเหลือไม่เพียงพอถึงเดือนที่ 3 ด้วยซ้ำ แต่ทั้งนี้การใช้เงินก็ขึ้นอยู่กับความต้องการส่วนบุคคลที่เห็นถึงความสำคัญของสิ่งใดมากที่สุด

สุดท้ายนี้ข้อเสียของนโยบายแจกเงินที่อาจจะตามมาก็คือ ความเสี่ยงของการเกิดเงินเฟ้อที่มากขึ้น เนื่องจากการที่มีปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นในทันทีจะทำให้มีแรงซื้อเข้ามาจำนวนมากจนอาจเกิดการดันราคาสินค้าและบริการให้เพิ่มขึ้น ทำให้เงินที่มีอยู่มีอำนาจในการซื้อลดลง (Purchasing Power) หากรัฐบาล ไม่สามารถคุมราคาสินค้าในตลาดได้

.

ที่มา : Cryptomind Advisory, siamebook

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #แจกเงิน #พรรคเพื่อไทย #เพื่อไทย #นโยบายแจกเงิน #เงินดิจิทัล #เงินดิจิทัล10000บาท #จำลองการใช้ชีวิต