Maker Nurse

Maker Nurse มิติใหม่แห่งการแพทย์ไทย

หากเอ่ยถึงคำว่า  Maker  หรือ นักประดิษฐ์สิ่งของใหม่ต่าง ๆ ภาพที่หลาย ๆ คนคิดคงไม่พ้นผู้ชายที่ชอบงานช่าง งาน DIY (Do It Yourself) และสนใจเรื่องเทคโนโลยี แต่ใครจะคิดว่า พยาบาลก็เป็น Maker ได้ หรือที่เรียกว่า “Maker Nurse” ผลงานที่ Maker Nurse สร้างขึ้นนั้นล้วนมีคุณค่าและช่วยให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ในประเทศไทย ตัวอย่างของ Maker Nurse ที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ โรงพยายาบาลเด็กและทีม Progress Thailand ซึ่งร่วมมือกันเพื่อช่วยผลิตเครื่องมือแพทย์ที่เป็นผลงานต้นแบบจาก “เครื่องพิมพ์ 3 มิติ” ซึ่งทำให้กระบวนการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อนอีกต่อไปแล้ว เพราะสามารถแปลงสิ่งที่เป็น “ไอเดีย” สู่ “ความจริง” ด้วยการขึ้นโมเดลและพิมพ์ออกมาได้อย่างรวดเร็ว

 

เพื่อเป็นการพัฒนาโครงการนี้ ทางโรงพยาบาลเด็กได้จัดเวิร์กชอปในหัวข้อ ความรู้การออกแบบ 3 มิติเบื้องต้น (Basic 3D Design & 3D Printing) โดยทีม Progress Thailand เพื่อต่อยอดให้พยาบาลมีทักษะในการออกแบบและขึ้นโมเดล 3 มิติได้

Maker Nurse1

 

งานนี้ถือเป็นมิติใหม่ทางการแพทย์ และเป็นก้าวแรกของการผลักดัน Maker Nurse ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และเพิ่มทักษะเรื่องการประดิษฐ์และออกแบบให้กับพยาบาลเพื่อนำไปปรับใช้กับงาน และให้การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ที่จำเป็นทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะสามารถคิดและลงมือพิมพ์ออกมาเป็นวัตถุได้ทันที

 

ซึ่งเป้าหมายระยะยาวของโครงการนี้ Progress Thailand คาดหวังให้ทุกโรงพยาบาลในประเทศไทยมี Makerspace ของตนเอง เพื่อการผลิตแบบ In house ที่สามารถทำในโรงพยาบาลเองได้เลย เป็นการประหยัดเงินและเวลา

 

Maker Nurse2

 

ทั้งนี้ เรื่อง Maker Nurse และ Makerspace ในโรงพยาบาลได้เกิดขึ้นแล้วที่สหรัฐอเมริกา โดยการริเริ่มของ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และมีการสร้าง Makerspace ในโรงพยาบาลแห่งแรกที่ University of Texas Medical Branch (UTMB) เมือง Galvesto

 

ภายใน Makerspace จะมีเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อใช้สร้างผลงานต้นแบบ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เครื่องตัดเลเซอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์สามารถประดิษฐ์เครื่องมือแพทย์แบบ DIY ได้เลย โดยมีนักออกแบบที่มีความรู้จะช่วยอำนวยความสะดวก เพื่อให้การประดิษฐ์ต่าง ๆ ทำได้รวดเร็วมากขึ้น

 

Maker Nurse4

 

โดย 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าการสร้าง Makerspace ในโรงพยาบาล ทำให้ได้ไอเดียและสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มากมายจากพยาบาล ที่สามารถนำไปปรับใช้กับการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที และแม้จะอยู่ไกลกันคนละซีกโลก แต่ Maker Nurse ทั้งของไทยและสหรัฐอเมริกาต่างมีโจทย์เดียวกันในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่โรงพยาบาลซึ่งมีผู้ป่วยที่มีแตกต่างกันหลายแบบตามอาการของโรค เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ดังนั้น Maker Nurse และ Makerspace ในโรงพยาบาล จึงเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้า และเป็นมิติใหม่ของวงการแพทย์อย่างแท้จริง

 

Idea so good_331