ธุรกิจขนส่งไทยปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากย้อนกลับไปในช่วงราว 20 ปีก่อน (ปี 2546) อุตสาหกรรมนี้สร้างรายได้ให้กับประเทศ 453,559 ล้านบาท และมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 5,499 บริษัท และในช่วง 10 ปีต่อมา (ปี 2556) รายได้ขยับมาสู่ 1,054,751 ล้านบาท ด้วยจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นเป็น 13,589 ล่าสุดในปี 2565 อุตสาหกรรมขนส่งสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย 1,660,633 ล้านบาท และมีบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 27,208 บริษัท จะเห็นได้ว่า ทั้งรายได้และจำนวนบริษัทมีการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ซึ่งการเพิ่มขึ้นของบริษัทจดทะเบียนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับขนส่งพัสดุด่วน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด E-Commerce ที่สร้างรายได้สูง แต่การที่มีผู้ประกอบการหันมาทำธุรกิจนี้กันมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดกลับเป็นตัวกดดันกำไรสุทธิของบริษัท โดยเฉพาะขนส่งพัสดุด่วนที่ถึงแม้จะมีรายได้สูงแต่ก็ยังต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนสุทธิปีแล้วปีเล่าจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง
นอกจากกลุ่มขนส่งพัสดุด่วนแล้ว อีกกลุ่มที่เผชิญกับภาวะขาดทุน คือ กลุ่มขนส่งทางอากาศ โดยเฉพาะการขนส่งผู้โดยสาร (กลุ่มสายการบิน) ซึ่งถึงแม้ปริมาณเที่ยวบินจะฟื้นตามจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ปัจจัยกดดันที่หนักที่สุดตอนนี้คือต้นทุนน้ำมัน และต้นทุนทางการเงินที่พุ่งสูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่พุ่งขึ้น
‘Business+’ ได้ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลบริษัทในอุตสาหกรรมขนส่งทั้งทางอากาศ และขนส่งพัสดุด่วน ที่มีรายได้สูงแต่ยังประสบกับผลขาดทุนสุทธิมากที่สุดมา 6 บริษัท อ้างอิงจากข้อมูลในปี 2565 ดังนี้
สำหรับในส่วนของธุรกิจขนส่งทางอากาศ หรือ ประเภทสายการบินนั้น ยังพบว่ามีผลขาดทุนสุทธิค่อนข้างมากในปี 2565 ถึงแม้ว่าปริมาณการขนส่งผู้โดยสารทั้งในประเทศและระหว่างประเทศจะเติบโตตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวหลัง COVID-19 แต่ต้นทุนก็ปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเกิดจาก 3 เหตุผลหลัก คือ ราคาพลังงานโลกโดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของสายการบินยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ยังเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่สูงขึ้น ประกอบกับภาระต้นทุนจากการควบคุมกฏเกณฑ์ความปลอดภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นจาก COVID-19 นั่นจึงทำให้ถึงแม้สายการบินจะมีรายได้สูงแต่ความสามารถในการทำกำไรกลับลดลง
โดย 3 บริษัทในกลุ่มขนส่งทางอากาศที่มีผลขาดทุนสุทธิสูงในปี 2565 ประกอบไปด้วย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน หรือ AOT ซึ่งมีรายได้สูงถึง 45,904 ล้านบาท แต่ประสบกับผลขาดทุนสุทธิ 11,038 ล้านบาท และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ประสบกับผลขาดทุนสุทธิ 8,186 ล้านบาท และตามด้วย บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด มีผลขาดทุนสุทธิ 4,248 ล้านบาท
ซึ่งเราพบข้อมูลว่า หลายบริษัทเลือกใช้การป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยน โดยทาง บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด เลือกที่จะให้ความสำคัญกับการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงราคาน้ำมันอากาศยาน โดยพิจารณาถึงอัตราผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันต้องทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ด้วยเช่นเดียวกัน
ขณะที่ในส่วนของธุรกิจขนส่งพัสดุด่วน ถึงแม้รายได้มีโอกาสจะเติบโตสูง แต่หากเจาะเข้าไปในโครงสร้างตลาดจะเห็นว่ามีการแข่งขันภายในสูง หลายเจ้าได้ทำการแข่งขันทางราคา และไปเน้นที่ปริมาณขนส่ง ซึ่งทำให้คุณภาพของการขนส่งลดลง และยังทำให้ความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างต่ำ
โดย 3 บริษัทในกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุด่วนที่มีผลขาดทุนสุทธิในปี 2565 สูง 3 บริษัทแรก ได้แก่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งมีรายได้ 19,546 ล้านบาท และประสบกับผลขาดทุนสุทธิ 3,018 ล้านบาท , บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX มีรายได้ 17,163 ล้านบาท แต่ประสบกับผลขาดทุนสุทธิ 3,084 ล้านบาท และบริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีรายได้ 7,803 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 2,731 ล้านบาท
ซึ่งในปี 2567 เราพบข้อมูลว่า หลายบริษัทเริ่มวางแผนการฟื้นฟูธุรกิจ ด้วยการรักษามาตรฐานการบริการและการจัดส่ง ซึ่งหลายเจ้าเริ่มนำระบบอัตโนมัติมาใช้ และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่ทำให้สามารถขยายสาขาการรับฝากพัสดุโดยที่ไม่ต้องลงทุนสูง นอกจากนี้หลายบริษัทยังหันไปขยายการบริการไปยังตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำไรต่อชิ้นที่สูงขึ้นกว่ากลุ่มลูกค้าทั่วไป
ที่มา : corpusx ,ttb analytics , SET
Data Analytics By Business+
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#thebusinessplus #BusinessPlus #ขนส่งอากาศ #พัสดุด่วน #อุตสาหกรรมขนส่ง #ธุรกิจขนส่ง