“Lipstick Effect” จะเกิดขึ้นในปีหน้า!! เปิดข้อมูลการควบรวม-ซื้อกิจการทั่วโลกหดตัว ครั้งแรกในรอบ 3 ปี ที่ไม่มีดีลใหญ่ในไตรมาส 3

การทำธุรกรรมควบรวมกิจการและซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions : M&A) นั้น ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่สร้างความสำเร็จ หรือเร่งให้ธุรกิจเกิดการเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะการเข้าไปซื้อกิจการอื่นจะทำให้บริษัทฯ ที่เข้าซื้อกิจการได้รับอำนาจในการควบคุม หรือครอบครองอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันได้อย่างรวดเร็ว

ในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทในประเทศไทยได้ทำการ M&A กันจำนวนมาก และประกอบไปด้วยดีลใหญ่ๆ ซึ่งยังรอการตัดสินหลังจากประกาศการเข้าซื้อในปี 2564 อาทิ ค่ายโทรศัพท์มือถือ TRUE ที่ประกาศควบรวมกิจการค่าย DTAC ซึ่งดีลนี้มีกระแสต่อต้านกันมากมายว่าจะเป็นการผูกขาดตลาด เพราะจะเหลือผู้เล่นในตลาดเครือข่ายมือถือเพียง 2 รายนั่นคือ AIS และ TRUE+DTAC

โดยหากควบรวมกิจการสำเร็จ “TRUE-DTAC” จะมีสินทรัพย์รวม 8 แสนล้านบาท จาก TRUE มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 615,637.66 ล้านบาท และ DTAC มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 159,759.91 ล้านบาท (คาดการณ์ว่าสามารถเกิดขึ้นและจะปิดดีลได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2566)

และยังมีเหตุการณ์คล้ายกันอีกหนึ่งดีลที่ประกาศออกมาในปี 2565 คือ ค่ายโทรศัพท์มือถือ AIS ประกาศซื้อ 3BB ด้วยมูลค่ารวม 3.2 หมื่นล้านบาท (โดยยังอยู่ในกระบวนการที่ต้องรอการอนุมัติจาก กสทช.) ซึ่งดีลนี้ เป็นดีลที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และทิศทางการควบรวมให้เหลือผู้เล่นน้อยรายลงเหมือนเคสของ TRUE+DTAC เช่นกัน

แม้การควบรวมและการซื้อกิจการในประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะมีการประกาศดีลด้วยมูลค่ามหาศาลก็ตาม แต่เมื่อมองภาพรวมของตลาดทั่วโลกแล้วนั้น เรากลับพบว่า การทำ M&A ทั่วโลกมีการหดตัวลง

จากข้อมูลสถิติซึ่งจัดทำโดย ‘บริษัทวิลลิส ทาวเวอร์ส วัตสัน (Willis Towers Watson – WTW)’ ชี้ให้เห็นว่า มูลค่าและขนาดของ M&A ทั่วโลกลดลงอย่างมากในปีนี้ ซึ่งเกิดจากปัญหาด้านเศรษฐกิจมหภาคได้ส่งผลกระทบต่อตลาดทั่วโลก โดยพบว่า นับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่ไม่มีการทำข้อตกลง M&A ครั้งใหญ่ที่มีมูลค่าสูงกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3/2565

โดยในช่วงเวลาดังกล่าว มีดีล M&A ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์เพียง 49 ดีล เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 67 ดีล (น้อยลงไปถึง 18 ดีล)

ซึ่งความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก, ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นยาวนานไปจนถึงปี 2566 แต่การทำ M&A จะยังเกิดขึ้นต่อเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่เป็นแรงผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ พากันเทขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลัก

“สภาพแวดล้อมดังกล่าวสามารถสร้างโอกาสให้กับผู้ซื้อที่ต้องการจะเพิ่มสายผลิตภัณฑ์ การบริการ หรือห่วงโซ่อุปทานในราคาที่ลดลง” WTW ระบุ

สำหรับแนวโน้มในปี 2566 นั้น WTW คาดการณ์ว่า จะเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะกระตุ้นให้เกิด “Lipstick Effect” ในปีหน้า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้ซื้อหันไปให้ความสนใจกับการทำข้อตกลงที่มีขนาดเล็กลง แทนการทำข้อตกลงขนาดใหญ่

นอกจากนี้ WTW ยังระบุว่า ในปี 2566 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีแนวโน้มที่จะเกิดการรุกซื้อกิจการในตลาดปัญญาประดิษฐ์ (AI) และตลาด Machine learning หรือการเรียนรู้ของระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ภาวะติดขัดด้านห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่โรค COVID-19 แพร่ระบาด จะกลายเป็นแรงผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ หันมาทำข้อตกลง M&A เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการดำเนินธุรกิจ

Lipstick Effect เป็นทฤษฎีที่เชื่อว่า เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ผู้บริโภคมีโอกาสซื้อของฟุ่มเฟือยลดลง แต่ก็ยังไม่หยุดซื้อ เพียงแต่เปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้อของแพงชิ้นใหญ่ ๆ อย่าง กระเป๋าแบรนด์เนม หันมาซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยชิ้นเล็ก ๆ แทน เช่น ลิปสติก โดยทฤษฏีนี้เกิดขึ้นจากการสำรวจตลาดช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ว่า ยอดขายจากตลาดเครื่องสำอาง ยังขายดีอยู่ สะท้อนพฤติกรรมของคนว่า “ต่อให้จะมีเงินน้อย แต่คนก็ยังคงใช้จ่ายกับสินค้าไม่จำเป็นเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้ขนาดชิ้นจะเล็กลงไปก็ตาม”

ที่มา : Willis Towers Watson – WTW

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ศูนย์วิจัยกสิกรไทย #FoodDelivery