วง BTS+ภาพยนตร์ Squid Game ตัวอย่างกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกาหลีใต้

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้มีความพยายามในการผลักดันอุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมบันเทิงมาตลอด ไม่เพียงแค่ตลาดภายในประเทศ แต่มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเหล่านี้ในระดับโลก เพื่อที่จะเป็น Soft Power สำหรับการสร้างภาพลักษณ์ประเทศ และต้องบอกว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างดี

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังเกาหลีใต้มีเป้าหมายที่จะร่างแผนพัฒนา 5 ปีสำหรับอุตสาหกรรมบริการในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามในการส่งเสริมกลไกการเติบโตใหม่ ๆ ท่ามกลางความ ท้าทายทางเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อ

ซึ่งแนวคิดที่จะใช้ร่างแผนเกิดขึ้นหลังจากเมื่อไม่นานมานี้ เนื้อหาด้านวัฒนธรรม และความบันเทิงต่าง ๆ ของเกาหลีใต้เช่น วง BTS และ ภาพยนตร์ Squid Game ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ซึ่งกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการส่งออกใหม่ ๆ

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลได้บ่งชี้ว่า การพัฒนานี้ยังไม่ถึงขีดสุด หรือยังไม่ถึงจุดที่จะเรียกว่าเป็นความสำเร็จ เพราะพบว่า เมื่อเทียบกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) แล้ว คนงานเกาหลีใต้ในอุตสาหกรรมบริการสามารถสร้างมูลค่าได้โดยเฉลี่ย 63,900 เหรียญสหรัฐในปี 2562 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ที่ 88,600 เหรียญสหรัฐ แสดงให้เห็นว่าเกาหลีใต้ยังตามหลังประเทศใหญ่ ๆ อยู่มาก

ดังนั้น เพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในส่วนของภาคบริการ เกาหลีใต้จึงจะมีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจ ซึ่งจะรวมถึงเจ้าหน้าที่จากภาครัฐและเอกชน โดยจะกำหนดประเด็นสำคัญทั้งระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงเป้าหมายในเดือนหน้า ซึ่งคาดว่า เกาหลีใต้กำหนดจะประกาศแผนพัฒนาช่วงปี 2566– 2570 ในเดือนมีนาคมปีหน้า

ซึ่งเบื้องต้น กระทรวงการคลังกล่าวว่าได้มีการเตรียมแผนที่จะลดภาษีสำหรับต้นทุนการผลิตเนื้อหาแบบ OTT หรือ Over-the-top (การให้บริการเนื้อหาเช่น ภาพยนต์ รายการโทรทัศน์ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น YouTube, Line TV หรือ Netflix iflex Wetv Viu Line TV เป็นต้น)

โดยรัฐบาลเกาหลีต้องชิงความเป็นหนึ่งในตลาดโลกท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งจากในและต่างประเทศ ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสื่อ และเนื้อหา รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวทั่วโลกของบริษัทท้องถิ่นในเกาหลีใต้

จากข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังเกาหลีใต้การส่งออกเนื้อหาบันเทิงของเกาหลีใต้อยู่ที่ 1.192 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 เพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อนหน้า โดยทางกระทรวงต้องการเปิดตัวงานประกาศรางวัล “Global OTT Awards” เพื่อส่งเสริมเนื้อหาบันเทิง และสร้างชื่อเสียงของงานนี้ให้เทียบเท่ากับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ซึ่งเป็นงานภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียที่จัดขึ้นทุกปีในเมืองปูซาน ที่เป็นเมืองท่าทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ

เมื่อหันมามองอุตสาหกรรมนี้ ในส่วนของประเทศไทยนั้น เนื้อหาด้านบันเทิง เช่น ภาพยนตร์ ซีรีย์ ได้รับความสนใจจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในการดำเนินการ หากรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเข้มแข็ง จะช่วยให้ทั้งอุตสาหกรรมบันเทิงไทยเติบโตยิ่งขึ้นไปอีก รวมถึงการจำหน่ายสินค้าและบริการต่างๆ ของไทย อุตสาหกรรมบันเทิงจะสามารถเป็น Soft power ของไทย ได้อย่างดีอีกด้วย

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : สำนักข่าว Yonhap News

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #GenZ #BCG