2 ยักษ์ใหญ่ ไทยเบฟ-เซ็นทรัล ชิงซื้อ ‘KFC’ ไทย หลัง ‘RD’ ขายสิทธิแฟรนไชส์ มูลค่า 300 ล้านเหรียญ

เกิดเป็นกระแสทอล์คออฟเดอะทาวน์ขึ้นมาเลยทีเดียว เมื่อสำนักข่าว ‘รอยเตอร์’ รายงานว่า บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ ‘RD’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทที่นำโดย AIGF Advisors Pte Ltd กำลังอยู่ระหว่างหารือกับบริษัทที่ปรึกษา ถึงความเป็นไปได้ในการขายสิทธิแฟรนไชส์ที่เหลืออยู่ในมือ มูลค่าประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.1 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากปี 2020 ที่มีกระแสข่าวออกมาว่า ‘RD’ จะขายสิทธิแฟรนไชส์ ‘KFC’ โดยขณะนั้น Bloomberg ได้ประเมิณมูลค่าไว้ที่ 200 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่เกิดการชะงักเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

นอกจากนี้ ‘รอยเตอร์’ ยังได้มีการเปิดเผยว่าแหล่งข่าว 2 แหล่ง ได้ระบุถึงผู้ท้าชิงที่จะเข้าซื้อสิทธิแฟรนไชส์ในครั้งนี้ ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ‘CRG’ และ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด หรือ ‘QSA’ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบจากทั้ง 2 บริษัทถึงประเด็นดังกล่าว

สำหรับ KFC ในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของผู้ประกอบการ 3 รายด้วยกัน ได้แก่ CRG, The QSR และ RD โดยมีสัดส่วนสาขาในความดูแล ดังนี้

 

‘CRG’ มีสาขา KFC ในความดูแลทั้งหมด 283 สาขา โดย ‘CRG’ ได้เปิด ‘KFC’ สาขาแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2527 ที่เซ็นทรัลลาดพร้าว

ปัจจุบัน ‘CRG’ มีแบรนด์ร้านอาหารที่เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 17 แบรนด์ ได้แก่ มิสเตอร์ โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์, ชาบูตง ราเมน, โคล สโตน ครีมเมอรี่, ไทยเทอเรส, โยชิโนยะ, โอโตยะ, เทนยะ, คัตสึยะ, อร่อยดี, เกาลูน, สลัดแฟคทอรี่, บราวน์ คาเฟ่, อาริกาโตะ และ ส้มตำนัว

ในแง่ของผลประกอบการนั้น ‘CRG’ มีรายได้รวมในปี 2564 อยู่ที่ 8,563 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 269 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 9,369 ล้านบาท และผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 11.86 ล้านบาท

 

‘RD’ มีสาขา ‘KFC’ ในความดูแลทั้งหมด 236 สาขา โดยเข้ามาดูแล ‘KFC’ ในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2559

ด้านผลประกอบการ ‘RD’ มีรายได้รวมในปี 2564 อยู่ที่ 3,856 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 232 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,114 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 281 ล้านบาท

นอกจากนี้ ‘RD’ เปิดเผยว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯ ทุบสถิติยอดขาย ‘KFC’ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังมีอัตราการเติบโตต่อปีสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ‘RD’ สามารถทำยอดขายสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในช่วงเทศกาลอีกด้วย ผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็นผลสำเร็จจากการลงทุนเปิดสาขาใหม่ และภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีในปีนี้

 

‘QSA’ มีสาขา ‘KFC’ ในความดูแลทั้งหมด 336 สาขา โดย ‘QSA’ ได้รับมอบสิทธิ์แฟรนไชส์ ‘KFC’ ในประเทศไทยเป็นรายที่ 3 ในปี 2560 ในการเข้าบริหารร้าน ‘KFC’ กว่า 250 สาขา

‘QSA’ มีแบรนด์ร้านอาหารทั้งสิ้น 12 แบรนด์ ได้แก่ SO asean Cafe & Restaurant, Man Fu Yuan Kitchen, บ้านสุริยาศัย, ฟู้ด สตรีท, Hyde & Seek Athenee, MX Cakes & Bakery, Cafe Chilli, Chilli Thai, EAT POT, เกาเหลาหม้อไฟ, Pot Ministr, เสือใต้ และ KFC

สำหรับผลประกอบการมีรายได้รวมในปี 2564 อยู่ที่ 7,136 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 47 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 7,589 ล้านบาท และมีกำไรอยู่ที่ 120 ล้านบาท

 

ในแง่ของศักยภาพก็ถือว่าทั้ง ‘CRG’ และ ‘QSA’ ต่างก็มีภาษีดีด้วยกันทั้งคู่ แถมยังเป็นผู้ประกอบการที่มี KFC อยู่ในความดูแลอยู่แล้วเป็นทุนเดิมเช่นกัน ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งดีลใหญ่ที่น่าจับตามอง ด้วยจำนวนสาขา KFC ที่อยู่ในมือของ ‘RD’ ถึง 236 สาขา ก็ถือเป็นจำนวนที่มากพอจะส่งเสริมให้ผู้ที่ได้รับสิทธิแฟรนไชส์ในครั้งนี้ขึ้นแท่นความเจ้าตลาดในฐานะ KFC ประเทศไทยได้อย่างเต็มตัว

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ที่มา : Reuters, KFC, foa, CRG, ThaiBev, rdthailand, CredenData

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

.

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #KFC #เคเอฟซี #CRG #ซ็นทรัล #ThaiBev #ไทยเบฟ #RD