JWD มุ่งสู่ผู้นำโลจิสติกส์อาเซียน : Thailand Top Company Awards 2020 : รางวัลอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์

“ภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ในรอบปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่เผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยสงครามการค้าและการแข็งค่าเงินบาท แต่การที่บริษัททำผลการดำเนินงานได้ดี ก็สะท้อนถึงการวาง Strategic Move หรือการปรับกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ”


บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนระดับอาเซียน ได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลและบริหารสินค้าของบริษัทฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการให้บริการด้านโลจิสติกส์

และภายใต้การนำของประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อย่าง ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ผลประกอบการในปี 2562 ต้องบอกว่ามีผลงานที่ดีเกินการคาดการณ์ โดยรายได้เติบโตขึ้น 11% จากปีก่อนอยู่ที่ 3,774 ล้านบาท กำไรสุทธิเติบโตถึง 62% จากปีก่อนอยู่ที่ 362 ล้านบาท ทำให้การดำเนินงานในปี 2562 มีกำไรสุทธิโดดเด่นที่สุดในรอบ 5 ปี ซึ่งถือว่าเติบโตมากกว่าที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์เอาไว้มาก

ปัจจัยการเติบโตในปีที่ผ่านมา คือการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัทร่วมกว่า 114.7 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการลงทุนใน TRANSIMEX CORPORATION ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์รายใหญ่ของเวียดนาม และ Phnom Penh SEZ.Plc. (PPSEZ) ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ในกัมพูชา

ชวนินทร์มองว่า ภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ในรอบปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่เผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยสงครามการค้าและการแข็งค่าเงินบาท แต่การที่บริษัททำผลการดำเนินงานได้ดี ก็สะท้อนถึงการวาง Strategic Move หรือการปรับกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ จากเดิมที่ JWD เน้นการลงทุนขยายธุรกิจเองในต่างประเทศ สู่การขยายธุรกิจโดยการเข้าถือหุ้น และเข้าควบรวมกิจการกับบริษัทที่มีศักยภาพ รวมถึงการเข้าลงทุนในธุรกิจด้านซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ เพื่อต่อยอดธุรกิจครอบคลุมการให้บริการในภูมิภาคอาเซียน”

โดยบริการของเจดับเบิ้ลยูดี สามารถแบ่งได้เป็น 6 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย

1.ธุรกิจให้บริการรับฝากและบริหารสินค้า ซึ่งก็มีตั้งแต่ สินค้าทั่วไป สินค้าอันตราย รถยนต์ และสินค้าควบคุมอุณหภูมิแช่เย็นและแช่แข็ง ซึ่งสัดส่วนตรงนี้กินรายได้รวมของบริษัทคิดเป็น 56.5% โดยธุรกิจรับฝากและบริหารสินค้าทั่วไป มีรายได้รวม 343.4 ล้านบาท เติบโต 7.7% ธุรกิจรับฝากและบริหารสินค้าอันตราย มีรายได้รวม 556.8 ล้านบาท เติบโต 12% ธุรกิจรับฝากและบริหารยานยนต์ มีรายได้รวม 464.9 ล้านบาท เติบโต 6.2%

2.ธุรกิจให้บริการขนส่งและกระจายสินค้า มีสัดส่วนที่ 13.8% และ 3.ธุรกิจให้บริการขนย้าย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีสัดส่วนที่ 7.8% 4.ธุรกิจให้บริการจัดการเอกสารและข้อมูล มีสัดส่วนที่ 3% 5.ธุรกิจอาหาร มีสัดส่วนที่ 17.7% และ 6.ธุรกิจอื่น ๆ มีสัดส่วนที่ 1%

ชวนินทร์ปิดท้ายว่า แนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2563 คงจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ Covid-19 ที่เริ่มส่งผลต่อการค้าและธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว โดยพบว่ามีลูกค้าบางส่วนที่เข้ามาใช้บริการเช่าพื้นที่เก็บสินค้าเป็นระยะเวลานานขึ้น