Jewelry

มูลค่าตลาดค้าปลีกเครื่องประดับในสหรัฐฯ ทำจุดสูงสุดในรอบ 17 ปี

ในปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาดค้าปลีกเครื่องประดับในสหรัฐฯ เติบโตอย่างก้าวกระโดดขึ้นไปแตะ 91.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.9% จากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 86.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และถ้าหากนับย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว จะเห็นว่ามูลค่าของตลาดเพิ่มสูงขึ้นถึง 60.52% จากปี 2555 มูลค่าอยู่ที่ 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่า มูลค่าตลาดค้าปลีกเครื่องประดับในสหรัฐฯ ทำจุดสูงสุดในรอบ 17 ปีเลยทีเดียว

ซึ่งปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคสหรัฐฯ คือ รายได้ของแรงงานที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นความแข็งแกร่งในตลาดแรงงานจึงเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญต่อกำลังการซื้อของผู้บริโภคในสหรัฐฯ นอกจากนี้แล้วในปี 2565 ที่ผ่านมาเป็นปีที่หลายประเทศได้เริ่มกลับมาจัดงานเลี้ยง หรืองานสังสรรค์ต่าง ๆ มากขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้ได้เผชิญ COVID-19 หลายปีที่ผ่านมา ทำให้สินค้าเครื่องประดับได้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ขณะที่ในช่วงที่เกิดเงินเฟ้อสูง หลายคนอาจจะหันมาลงทุนเครื่องประดับเพราะมองว่าสินค้าประเป็นสินค้าที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้

Jewelry

ขณะที่แนวโน้มตลาดเครื่องประดับในสหรัฐยังคงมีแนวโน้มค่อนข้างดี หลังจากเดือน มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ยอดขายเครื่องประดับในสหรัฐฯ ของเดือนมกราคม 2566 มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับปีที่ก่อน ซึ่งการเติบโตดังกล่าวมีสาเหตุหลักจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคเพื่อซื้อเครื่องประดับสำหรับเทศกาลวาเลนไทน์

โดยเราพบข้อมูลจากข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 7,728 คน พบว่าผู้บริโภควางแผนการซื้อเครื่องประดับเพื่อเป็นของขวัญในวันวาเลนไทน์เฉลี่ยคนละประมาณ 45.75 เหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกัน อัตราว่างงานของสหรัฐฯ เดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ระดับ 3.4% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 54 ปีขณะเดียวกันตลาดงานมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 517,000 อัตรา ซึ่งมากที่สุดในรอบ 6 เดือน นั่นแสดงว่า เศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มดีขึ้น ซึ่งจะยิ่งเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของตลาดเครื่องประดับ

ซึ่ง ‘Business+’ มองว่า การที่มูลตลาดเครื่องประดับในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 17 ปี และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่อง นั้น เป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทย เพราะอัญมณี และเครื่องประดับเป็นหนึ่งในสินค้าที่สำคัญของการส่งออกไทย เพราะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปตลาดโลกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 รองจาก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยเราส่งออกไปตลาดโลกสูงถึง 517,607.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.82% จากปี 2564 ซึ่งส่งออก 317,888.61 ล้านบาท ซึ่งสนับสนุนโดยการกลับมาเปิดประเทศหลัง COVID-19 และไทยยังได้อานิสงค์จากเงินบาทอ่อนค่าที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกนั่นเอง

ในช่วงที่ผ่านมา คู่ค้าสำคัญ ที่ซื้อเครื่องประดับจากไทยได้แก่

อันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์ มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 38%

อันดับ 2 สิงคโปร์ มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 22%

อันดับ 3 ฮ่องกง มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 10% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของสินค้ากลุ่มนี้

แม้ปัจจุบันสหรัฐฯ จะยังไม่ใช่คู่ค้าหลัก 3 อันดับแรกที่ซื้อเครื่องประดับจากไทย แต่ในอนาคตเราอาจสามารถใช้โอกาสนี้ในการขยายตลาดส่งออกที่สำคัญได้เพิ่มขึ้นโดย ‘กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ’ พบว่าสินค้าเครื่องประดับไทย (OEM) ยังมีโอกาสในการขยายตลาดได้ดีในสหรัฐฯ เนื่องจากมีวัตถุดิบ การออกแบบให้เลือกเป็นจำนวนมากและงานมีมาตรฐาน จึงทำให้ผู้นำเข้ายังคงสนใจที่จะผลิตสินค้า ขณะที่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้ผู้นำเข้าหันมานำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในระยะยาว นอกจากนี้ ไทยมีทักษะและเทคนิคในการฝังพลอยแบบโบราณ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ที่มา : Statista , ditp
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #เทรนด์ธุรกิจ2023 #ตลาดเครื่องประดับ #ตลาดอัญมณี