ITD จับมือ UNCTAD ถอดบทเรียนจากรายงานการค้าปี 2024 – Trade and development foresights 2025 ย้ำไทยต้องเร่งยกระดับนโยบายสู่อนาคตใหม่

ITD จับมือ UNCTAD ถอดบทเรียนจากรายงานการค้าปี 2024 –
Trade and
development foresights 2025 ย้ำไทยต้องเร่งยกระดับนโยบายสู่อนาคตใหม่

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ร่วมกับองค์การการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNCTAD) และ Harvard Club of Thailand จัดงาน “The International Seminar on Trade and Development Report 2024: Rethinking Development in the Age of Discontent” นำเสนอรายงานการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำปี 2567 (UNCTAD Trade and Development Report 2024) และ Trade and Development Foresight 2025 ที่สะท้อนแนวโน้มโลกที่กำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ความเปราะบางทางการเงิน และความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูประบบการค้าและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน เพื่อสำรวจความท้าทายทางเศรษฐกิจระดับโลก และร่วมขับเคลื่อนนโยบายการค้าและการพัฒนาของประเทศไทย พร้อมด้วยการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับประเทศและนานาชาติ โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการ UNCTAD ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยงานนี้ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชียและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน

นายสุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย เผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า และความตึงเครียดของภูมิรัฐศาสตร์โลก อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีความเข้มแข็งด้านการค้าภายในภูมิภาคและมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานโลก โดยประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่สามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างโดดเด่นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีทั้งโอกาสและความท้าทายในการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมภาคบริการสมัยใหม่ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักควบคู่กับภาคการผลิต พร้อมยกระดับทักษะแรงงานให้สอดรับกับเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งเพื่อรองรับ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”

นายสุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ITD ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านการพัฒนาและเชื่อมโยงองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการค้าและพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย มีความมุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงองค์ความรู้และประสบการณ์ระดับนานาชาติให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยและภูมิภาค จึงได้จัดงานสัมมนานี้ขึ้นเพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มีคุณค่า นอกจากนี้ ยังมีปณิธานในการขยายความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่มีทันสถานการณ์  เพื่อประยุกต์ใช้ประโยชน์จากการค้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ยั่งยืนและครอบคลุมต่อไป”

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการ UNCTAD เผยว่า “แม้ในปี 2024 โลกจะเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงก่อนหน้า แต่ยังคงต้องเผชิญกับจุดเปลี่ยนเชิงนโยบายที่กำลังกำหนดทิศทางใหม่ของระบบการค้าโลก  สะท้อนจากแนวโน้มที่หลายประเทศหันมาใช้นโยบายกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีมากขึ้น ข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นในการเคลื่อนย้ายแรงงานระยะสั้น โดยเฉพาะแรงงานฝีมือและผู้ให้บริการในสาขาวิชาชีพ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และความขัดแย้งในหลายภูมิภาค ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีกำลังพลิกโฉมรูปแบบการผลิตและการค้า แม้จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแต่หากปราศจากนโยบายการเงินและการคลังที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะในประเทศเกิดใหม่ ก็อาจกลายเป็นความเสี่ยงในระยะยาวได้ ท่ามกลางความเปราะบางเหล่านี้ ความร่วมมือระดับพหุภาคีและการใช้อำนาจต่อรองร่วมในเวทีระหว่างประเทศ จะเป็นกลไกสำคัญในการปกป้องและส่งเสริมผลประโยชน์ของภูมิภาคอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันแต่ละประเทศควรกำหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับบริบทของตนเอง โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบจากภายนอก หากแนวนโยบายไม่สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ความเชื่อ หรือบริบททางสังคมของประเทศ ก็ไม่อาจสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง”

ด้าน Mr. Cameron Daneshvar Economic Affairs Officer, Division on Globalization and Development Strategies, UN Trade and Development (UNCTAD) กล่าวว่า “เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกเมื่อกว่า 15 ปีก่อน โดยปี 2567-2568 เศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตเพียง 2.7% ต่อปี ต่ำกว่าการเติบโตเฉลี่ยก่อนโควิด-19 การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่องจนกลายเป็นภาวะปกติใหม่ (new low-growth normal) เป็นความท้าทายสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ที่แม้ว่าในปี 2566-2568 เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าวจะยังคงเติบโตเล็กน้อย แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนา นอกจากนี้ยังเผชิญกับแรงกดดันจากภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญหลังโควิด-19 ทำให้รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับชำระหนี้และดอกเบี้ยมากขึ้นแทนการพัฒนาด้านต่าง ๆ รวมถึงต้องดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเพื่อควบคุมหนี้สาธารณะ ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว

“เพื่อรับมือกับความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจโลก UNCTAD จึงเสนอให้ประเทศกำลังพัฒนามีการเพิ่มรายได้รัฐผ่านการจัดการการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ และสร้างกลไกพหุภาคีเพื่อสนับสนุนการเจรจานโยบายการเงินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ควรมีการจัดหาเงินทุนระยะยาว โดยใช้ประโยชน์จาก  สินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศที่ออกโดย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)หรือ Special Drawing Rights (SDRs) และเครื่องมือทางการเงินใหม่ พร้อมขยายข้อตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ สำหรับนโยบายควบคุมเงินเฟ้อ ควรมุ่งลดการการผูกขาดและปรับปรุงกรอบกำกับดูแลการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่การวางนโยบายการเงิน นอกจากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อหรือเสถียรภาพของค่าเงิน ควรพิจารณาถึงผลกระทบในวงกว้างจากปัจจัยอื่นๆ เช่น แนวโน้มหนี้สาธารณะ ความยั่งยืนของระบบการเงิน และช่องว่างในการจัดสรรเงินทุนร่วมด้วย ตลอดจนการออกนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างธรรมาภิบาลและกรอบกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ขณะที่ Dr. Nicolas Maystre Senior Economic Affairs Officer, Division on Globalization and Development Strategies, UN Trade and Development (UNCTAD) กล่าวว่า “แม้สถานการณ์การค้าสินค้าในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จะขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี แต่อาจไม่สะท้อนการฟื้นตัวทางโครงสร้าง โดยตัวเลขการเติบโตมาจากการกักตุนและสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าก่อนมาตรการภาษีนำเข้าฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ ประกอบกับคำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกใหม่ (PMIs) ของประเทศผู้ส่งออกหลักได้ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับสมดุล 50% และดัชนีค่าระวางเรือที่ลดลงกว่า 40% ในไตรมาสแรกของปี 2568 สะท้อนถึงการฟื้นตัวของการค้าแบบชั่วคราว ขณะที่การค้าภาคบริการ แม้มีแนวโน้มเติบโต 9.1% ในภาพรวม รวมถึงบริการเทคโนโลยีและดิจิทัล แต่บริการประเภทนี้ยังไม่สามารถสร้างตำแหน่งงานให้ประเทศกำลังพัฒนาได้ เพราะอาศัยทักษะขั้นสูงและระบบอัตโนมัติเป็นหลัก ในทางกลับกัน บริการที่พึ่งแรงงานทักษะต่ำอย่างการท่องเที่ยวหรือก่อผลิต แม้มีบทบาททางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่สามารถยกระดับผลิตภาพหรือเชื่อมโยงเศรษฐกิจในระดับลึกได้ ประเทศกำลังพัฒนาจึงควรขยายกรอบการพัฒนาให้กว้างกว่าการพึ่งพาการส่งออกจากภาคการผลิตและบริการ เพื่อผลักดันการเติบโตของประสิทธิภาพการผลิตสินค้าหรือบริการทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ UNCTAD ได้เสนอ 3 แกนยุทธศาสตร์หลัก สำหรับภาคบริการในประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ 1.การสนับสนุนให้บริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจด้านงานบริการจ้างแรงงานทักษะต่ำเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับแรงงาน  2.การจัดสรรปัจจัยจากภาครัฐและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการลงทุน เพื่อยกระดับผลิตภาพให้แก่ผู้ประกอบกลางขนาดเล็กและกลาง (SMEs) ตลอดจน 3.การลงทุนเพื่อยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมรับเทคโนโลยีดิจิทัลพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังควรส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของแรงงาน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างทั่วถึงและยั่งยืนอีกด้วย

โดยมุมมองของ UNCTAD มีความเห็นว่า การรายงานข้อมูลและข้อเสนอแนะจากรายงานฉบับนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจใหม่ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนและความผันผวนสูงในปัจจุบัน

 

สำหรับผู้สนใจสามารถชมการสัมมนาย้อนหลังได้ที่ Facebook International Institute for Trade and Development

###

ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus