วันที่ 21 สิงหาคม 2567 คณะกรรมการ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% ต่อปี ถือเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 5 นับตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งคณะกรรมการส่วนใหญ่ยังคงดอกเบี้ยถึงแม้หนี้ครัวเรือนไทยจะอยู่ในระดับสูง โดยก่อนหน้านี้มีการประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 91.4% หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้บัตรเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล โตเร็วสุดในรอบทศวรรษ (ttb analytics)
โดยทางคณะกรรมการมีโหวตให้คงดอกเบี้ยนั้น มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ จากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การส่งออกโดยรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ยังมองว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567
สรุปแล้ว กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน
อย่างไรก็ตามคณะกรรม 1 ท่านที่มองว่าควรลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพราะมองว่าเศรษฐกิจขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น เช่น การส่งออกสินค้าบางกลุ่มยังถูกกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ดังนั้น การลดดอกเบี้ยจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น
และภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงต่อเนื่อง ซึ่งการลดดอกเบี้ยจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง
นอกจากนี้เอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มชะลอลงตามผลผลิตที่ขยายตัวดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ
ทั้งนี้ในมุมมองของ Business+ แล้ว นอกจากการปรับดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศ อย่างเช่น เงินเฟ้อ การเติบโตของเศรษฐกิจ และภาวะหนี้สินแล้ว การปรับดอกเบี้ยยังต้องสอดคล้องไปกับดอกเบี้ยของประเทศมหาอำนาจอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน เพราะหากเราไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้อง หรือปล่อยให้ระยะห่างดอกเบี้ยต่างกันมากเกินไปก็จะเกิดภาวะเงินทุนไหลออกหรือไหลเข้าแบบผันผวน ดังนั้น เราจึงต้องจับตามองต่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย.หรือไม่
ที่มา : กนง ,IQ
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #ดอกเบี้ยนโยบาย #กนง