ice cream

ส่อง 5 เหตุผล หนุนไทยส่งออก ‘ไอศกรีม’ ติดท็อป 4 ของโลก

ประเทศไทย’ ตั้งอยู่ในเขตร้อนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย ซึ่งอากาศจะร้อนที่สุดช่วงกลางเดือนเมษายน จึงทำให้คนไทยชอบดื่มหรือกินอะไรก็ตามที่เย็น ๆ ทั้งในหน้าร้อน หรือหน้าหนาว ไม่ว่าจะเป็นน้ำหวาน ไอศกรีม อีกทั้งยังชอบเพิ่มน้ำแข็งเพื่อทำให้เย็นเร็วขึ้น นับป็นหนึ่งประเทศที่ชอบกินของเย็นเป็นชีวิตจิตใจ

ซึ่งไอศกรีมถือเป็นของหวานอันดับต้น ๆ ที่คนทุกเพศทุกวัยชื่นชอบ เนื่องจากให้ทั้งความสดชื่น ความอร่อย และให้ประโยชน์ทางโภชนาการด้วย อีกทั้งลักษณะเนื้อสัมผัส รสชาติ ก็มีความแตกต่างกัน ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่ไม่จำเจ ซึ่งไทยถือเป็นแหล่งศูนย์รวมจำหน่ายไอศกรีมหลากหลายประเทศ

โดยสถาบันอาหาร (National Food Institute) ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2570 ตลาดไอศกรีมทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 5.5 ล้านล้านบาท จาก 3.8 ล้านล้านบาท ขณะที่ตลาดไอศกรีมในไทยมีมูลค่าราว 1.2-1.7 หมื่นล้านบาท

สำหรับไทยนั้น อาจถือเป็นเป้าหมายของหลายประเทศที่ต้องการจะส่งออกไอศกรีมมาจำหน่าย เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าไทยอยู่ในเขตร้อน และเป็นประเทศท่องเที่ยวยอดฮิต ยิ่งในช่วงไฮซีซั่นด้วยแล้วนั้นจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างล้นหลาม และยังเป็นประเทศที่พร้อมรับวัฒนธรรมต่างชาติ อย่างการรับวัฒนธรรมเกาหลีทั้งทางตรงและทางอ้อม

หากพูดถึงความแตกต่างของไอศกรีมแต่ละชนชาติ คงเป็นรสชาติที่ยากจะลอกเลียนแบบ และการสร้างสตอรี่ที่ทำให้เป็นที่น่าจดจำ อีกทั้งชื่อแหล่งที่มาของไอศกรีมนั้น ๆ ก็ถือว่ามีอิมแพคต่อตัวสินค้าพอสมควร ซึ่งยิ่งประเทศที่มีการเผยแพร่วัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ประเทศที่มีจุดขายมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ย่อมช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้เป็นอย่างมาก อย่างเช่น made in Japan, made in Korea, made in USA ซึ่งทั้งสามประเทศนี้เป็นที่เลื่องลือถึงราคาของสินค้าที่ค่อนข้างสูง แต่มักได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคเสมอ

ขณะเดียวกันไทยถือเป็นประเทศที่ส่งออกไอศกรีมเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก ยุโรป อเมริกา และอังกฤษ เรียกได้ว่าไทยไม่ได้เพียงแค่นำเข้าเท่านั้น แต่มีการส่งออกด้วย โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าไอศกรีมของไทยมีอัตราการขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง นั่นเป็นเพราะว่า มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งยังมีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบที่หลากหลาย อาทิ ผลไม้นานาชนิด และน้ำนมโคคุณภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ ‘Business+’ จึงได้ทำการรวบรวมกลยุทธ์ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้ไทยครองอันดับ 4 ส่งออกไอศกรีมของโลก ดังนี้

การค้าเสรี : ไทยได้เปรียบจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ FTA ที่สร้างแต้มต่อให้สินค้าไทย โดยไทยได้ส่งออกไปประเทศคู่ค้า FTA ปัจจุบันมี 17 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี เปรู และฮ่องกง

รสชาติ : ไทยถือเป็นประเทศที่มีการสร้างรสชาติแบบมีเอกลักษณ์ เนื่องจากวัตถุที่นำมาทำนั้นเป็นวัตถุดิบท้องถิ่น และรสชาติของแต่ละอย่างก็ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ซึ่งในแต่ละครั้งก็จะมีการคิดค้นพัฒนาสูตรใหม่ ๆ เสมอ

มาตรฐาน : ไทยมีการรักษามาตรฐานการผลิต คงมาตรฐานรสชาติได้เป็นอย่างดี จึงทำให้สามารถครองใจผู้บริโภคทั่วโลกได้

เอกลักษณ์ : ไทยคงเอกลักษณ์ความเป็นไทยไว้ในรูปแบบห่อบรรจุภัณฑ์ อย่างเช่น การใช้ตัวหนังสือทรงไทย ทรงกนก เป็นจุดขาย เรียกสายตาของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

วัตถุดิบ : ผลไม้ของไทยมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งถึงแม้จะมีการนำพันธุ์ไปเพราะปลูกในต่างประเทศ รสชาติที่ได้ก็จะไม่เหมือนที่เพาะปลูกในไทย เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านสภาพอากาศที่ถือเป็นตัวแปรหลัก อาทิ มะพร้าว ทุเรียน เป็นต้น นี่ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ไทยเป็นผู้เล่นหลักในตลาดส่งออกไอศกรีม

โดยปัจจุบันตลาดไอศกรีมในไทยเองก็มีแบรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น มีคนไทยเป็นเจ้าของ ซึ่งส่วนมากจะทำการตลาดโดยชูคำว่า ‘Home Made’ เพื่อดึงดูดใจผู้บริโภค เนื่องจากจะเป็นสูตรเฉพาะของร้าน และสามารถซื้อได้ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น อีกทั้งมีการทำแต่ละวันอย่างจำกัด จึงเหมือนเป็นการกระตุ้นผู้บริโภคอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตามในมุมของผู้ประกอบการนั้นต้องมีพัฒนาคิดค้นสูตรใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ยืนหยัดอยู่ในวงการนี้ได้อย่างแข็งแกร่ง และต้องหาเอกลักษณ์ของร้านตัวเองให้ได้ อย่างเช่น การตามเทรนด์ การมีเมนูเฉพาะ หรือการนำสมุนไพรมาดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบ เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมอาหารเพื่อสุขภาพแต่ต้องคงความอร่อย

.

ที่มา : วิกิพีเดีย, ryt9

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ไอศกรีม