การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) ของประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาที่รุนแรงกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะนอกจากไทยจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวในโลกที่เป็นสังคมสูงอายุแล้ว ไทยยังมีปัญหาจากสภาพสังคมไทยที่เป็นสังคมที่ “แก่ก่อนรวย” และ “ป่วยตายก่อน” นั่นคือ คนไทยมีปัญหาด้านการเงินช่วงเกษียณอายุ และยังมีปัญหาด้านสุขภาพอีกด้วย
ซึ่งถึงแม้ว่าไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มาตั้งแต่ปี 2548 และปัจจุบันได้กลายเป็น Aged Society ไปแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลของไทยเองก็ยังไม่มีมาตรการออกมารับมือกับปัญหานี้ให้เห็นแบบชัดเจน โดยเหตุผลหลักที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ “แก่ก่อนรวย” และ “ป่วยตายก่อน” ‘Business+’ สามารถสรุปออกมาได้ 4 ด้านหลักๆ คือ
1. คนไทยส่วนใหญ่วางแผนเกษียณอายุช้ากว่าประเทศอื่น : เพราะหวังพึ่งพิงสวัสดิการจากรัฐฯ : เราพบข้อมูลจากรายงานเรื่อง “Live Long and Prosper: Aging in East Asia and Pacific” ของธนาคารโลก ที่ได้ทำการสำรวจแบบสอบถามในประเด็น ‘คุณคิดว่าใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอายุสำหรับผู้ที่เกษียณอายุแล้ว?’ พบว่า คนที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่าง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ เกินครึ่งของประเทศตอบคำถามว่าคนที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ ก็คือตัวผู้เกษียณอายุเอง แต่ประเทศกำลังพัฒนาอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย เกินครึ่งประเทศตอบว่าคนที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ คือ รัฐบาล เท่ากับว่า คนส่วนใหญ่ยังหวังพึ่งพิงสวัสดิการจากรัฐ
ซึ่งในประเด็นนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนไทยอย่างมาก เพราะเบี้ยค่ายังชีพของผู้สูงอายุในประเทศไทยในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ
โดยปัจจุบันการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของไทยแบ่งตามขั้นบันไดช่วงอายุของผู้สูงอายุได้ 4 ขั้นดังนี้
– อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท
จะเห็นได้ว่าเบี้ยสำหรับผู้สูงอายุขั้นสูงสุดคือ 1,000 บาท ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เลย ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้หลายฝ่ายต่างพยายามผลักดันให้รัฐบาลปรับขึ้นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปอยู่ที่ 3,000 บาทต่อเดือน แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้จนถึงปัจจุบัน ทำให้ครัวเรือนที่มีฐานะยากจนต้องพึ่งพิงเงินจากลูกหลาน และกระทบไปยังคนวัยทำงานที่จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการส่งเงินกลับไปให้บุพการีหรือผู้สูงอายุที่บ้าน
2. คนไทยมีเงินเก็บไม่เพียงพอสำหรับการเกษียณ : เมื่อดูข้อมูลรายได้ของคนไทยแล้ว จะเห็นว่าคนไทยมีเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 8,400 บาท/คน/เดือนเท่านั้น และเมื่อเจาะเข้าไปดูข้อมูลของบัญชีเงินฝาก เราพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงมีเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท ด้วยสัดส่วนมากถึง 88.3% จากจำนวนบัญชีทั้งหมด ถึงแม้ว่าในปี 2565 ที่ผ่านมาคนไทยจะมีการเปิดบัญชีเพิ่มขึ้นเพื่อรับเงินช่วยเหลือจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ แต่ยอดเงินในบัญชีเงินฝากกลับยังอยู่ในระดับต่ำทำให้มีเงินเก็บไม่เพียงพอสำหรับการเกษียณ และไม่เพียงพอสำหรับการจ่ายค่าบริโภคและค่ารักษา
3. คนไทยกว่าครึ่งประเทศเป็นหนี้ : จากผลการสำรวจของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าครัวเรือนไทยมากกว่าครึ่ง (51.5%) มีหนี้สินเฉลี่ยจำนวน 205,679 บาท/ครัวเรือน เทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนไทยอยู่ที่เดือนละ 27,352 บาท เท่ากับว่ารายได้ของคนไทยนั้น หากต้องหักหนี้สินบวกด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าครองชีพที่สูงขึ้นแล้ว อาจจะไม่เพียงพอต่อการฝาก หรือออมเงิน หรือแม้กระทั่งการซื้อกองทุน หรือประกันสุขภาพก็ยังกลายเป็นภาระสำหรับคนไทย
4. รัฐบาลไทยยังไม่ได้มีการให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสังคมสูงวัยมากนัก : ถึงแม้รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมสูงวัยด้วยมาตรการรับมือในด้านต่าง ๆ เช่น การลดภาษีนิติบุคคลให้แก่สถานประกอบการที่มีการจ้างงานผู้สูงอายุ การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้สูงอายุ และการให้เบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ แต่มาตรการเหล่านี้อาจยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด และไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
หนึ่งในประเทศที่มีนโยบายช่วยส่งเสริมแรงงานได้อย่างดี คือ สิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันประเทศสิงคโปร์ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้เพิ่มทักษะ (Up-skilling) และเสริมทักษะใหม่ (Re-skilling) ให้แก่แรงงานสิงคโปร์เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดแรงงานในสาขาต่างๆ ซึ่งการเพิ่มทักษะนี้ถือว่าเป็นแนวทางที่มีความยั่งยืน
จากปัญหาทั้ง 4 ด้านที่ ‘Business+’ กล่าวถึง ทำให้เห็นได้ว่าคนไทยกำลังจะประสบปัญหาอย่างรุนแรงจากการเป็นสังคมผู้สูงอายุ และการที่ประชากรวัยทำงานไม่สามารถวางแผนการเงินที่ดีได้ก็จะทำให้กลายเป็นผู้สูงอายุที่ขาดความมั่นคงทางการเงิน และไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอในการจับจ่ายใช้สอยและใช้บริการในบั้นปลายชีวิต โดยเฉพาะการเข้ารับการรักษาตัวเวลาเกิดความเจ็บป่วย
อย่างไรก็ตามหากผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ของประเทศมีความแข็งแรงทั้งด้านการเงิน และสุขภาพ ย่อมส่งผลให้ประเทศกลายเป็น สังคมผู้สูงอายุที่มีความมั่นคงและยั่งยืน ดังนั้น การวางแผนการเงิน และการดูแลสุขภาพสำหรับวัยเกษียณจึงเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มต้นวางแผนอย่างรวดเร็ว
สำหรับเนื้อหาด้านผลกระทบในแง่มุมต่าง ๆ และประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับสงคมผู้สูงอายุอื่นๆ ‘Business+’ จะมานำเสนอในคอนเทนต์ไปกับแคมเปญพิเศษ “The Coming of a Hyper-aged Society” เฒ่าทันความสูงวัย ก่อนไทยเข้า Hyper-Aged ซึ่งสามารถรอติดตามอ่านกันได้ที่แฟนเพจ และเว็บไซต์ของ Business+ https://www.thebusinessplus.com/hyper_aged/?version=Bplus1
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
Businessplus #Business #นิตยสารBusinessplus #สังคมผู้สูงอายุ #โมเดลธุรกิจผู้สูงอายุ #HyperAgedSociety #SuperAgedSociety