‘Business Crack’ จะพาไปเจาะกลุ่มธุรกิจที่กำลังเติบโตทั่วโลก นั่นก็คือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ จากการที่โลกของเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) รวมถึงประเทศไทย ซึ่งเท่ากับว่าตอนนี้ผู้สูงอายุทั่วโลกมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด
และอนาคตในอีกไม่กี่ปีประเทศไทยก็กำลังจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Hyper-aged society) ซึ่งถ้าถึงตอนนั้นเท่ากับว่าถ้าเราเดินสวนกับคน 100 คน จะเจอคนที่อายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20 คน โดยโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดน้อยลง ส่วนคนสูงวัยมีอายุยืนยาวขึ้น
นั่นจึงทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆที่ต้องการเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ขึ้นมากมาย แต่สินค้า และการให้บริการแบบไหนกันล่ะที่จะสามารถสร้างกำไรให้กับเจ้าของธุรกิจได้สูง คู่แข่งน้อย และยังมีโอกาสเติบโต?
เริ่มจากข้อมูลที่น่าสนใจของธุรกิจโดยรวม เราพบว่า มูลค่าการใช้จ่ายของผู้สูงอายุไทยในปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้เติบโตขึ้นจากปีที่แล้วเกือบ 4% และมีการคาดการณ์ว่า มูลค่าการใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 2572 คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 5.3% ต่อปี (CAGR 2024-2029) (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
ซึ่งมูลค่าการใช้จ่ายที่พุ่งขึ้นนี้ทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ผุดขึ้นมาต่อเนื่อง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ช่วงเดือนมีนาคม 2568 พบว่า ประเทศไทยมีธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่เป็นนิติบุคคล 776 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 4,236 ล้านบาท และสร้างรายได้ปี 2566 อยู่ที่ 1,295 ล้านบาท
ภาวะตลาดในปัจจุบันจึงมีการแข่งขันในระดับหนึ่งเพื่อแย่งชิงลูกค้าที่มีศักยภาพ เพราะส่วนใหญ่ผู้สูงอายุในไทยเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย ส่งผลต่อกำลังซื้อที่จำกัด โดยผู้สูงอายุที่มีรายได้สูงส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้ธุรกิจที่จะเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้อาจต้องเผชิญการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่เข้มข้นจากคู่แข่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ
- กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ มีมูลค่าค่อนข้างสูง ราว 34,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณ 6%
- กลุ่มเนอร์สซิ่งโฮม และบ้านพักคนชรา มูลค่าตลาดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุปี 2567 ราว 3 พันล้านบาท
- กลุ่มรักษาโรคเฉพาะทางของผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตสูงเพราะจากผลสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุใช้จ่ายด้านสุขภาพราว 37% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งสูงกว่ากลุ่มประชากรในวัยอื่นถึง 3%
ตลาดอาหารเสริมสำหรับผู้สูงอายุ ยอดขายเติบโตต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกับแบรนด์ใหญ่ กดกำไรสุทธิต่ำ
ข้อมูลที่น่าสนใจของตลาดอาหารเสริมสำหรับผู้สูงอายุคือ ในปี 2567 มูลค่าตลาดอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 34,000 ล้านบาท ขยายตัวราว 6% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน แต่กำลังซื้อของผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ไม่สูงมาก โดย 34% ของจำนวนผู้สูงอายุไทยมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี เท่านั้นเอง จึงทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถตั้งราคาขายในราคาที่สูงได้มากนัก
นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตอาหารผู้สูงอายุที่ยังสูงกว่าการผลิตอาหารทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องเจอกับการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้เล่นต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาดในไทยอย่างยาวนาน
โดยเราพบว่าแบรนด์ที่ครองตลาดในไทยส่วนใหญ่ในปี 2567 มีรายได้และกำไรสุทธิเติบโตในทิศทางที่ดี จะมีแค่ 2 แบรนด์เท่านั้นที่รายได้ลดลง คือ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์อาหารเสริมสุขภาพ Nutrilite และบริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ พีทีวาย จำกัด เจ้าของแบรนด์ MEGA We care
ซึ่ง แอมเวย์ (ประเทศไทย) ถือว่าเผชิญกับรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 จากรายได้เกือบ 2 หมื่นล้าน กลับเหลือ 15,496 ล้านบาทในปี 2567 ส่วน 7 แบรนด์ที่คนคุ้นเคยเป็นอย่างดีคือ Nutrilite , Ensure , MEGA We care , Centrum , Vitasure ,Vistra และ Blackmores มีเพียงแค่ MEGA We care ที่เป็นแบรนด์สัญชาติไทย ที่เหลือเป็นบริษัทข้ามชาติทั้งหมด โดยบริษัทเหล่านี้เข้ามาทำตลาดในไทยไม่ต่ำกว่า 25 ปี แต่ทั้ง 6 บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิที่ต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับ MEGA We care ที่อัตรากำไรสุทธิสูงถึง 12.66% ในขณะที่บริษัทต่างชาติมีอัตราส่วนนี้ต่ำมากไม่เกิน 6%
นอกจากทั้ง 7 แบรนด์นี้แล้วยังมีบริษัทใหญ่ในไทยแตกธุรกิจมาสู่จักรวารอาหารสำหรับผู้สูงอายุนอกจากแบรนด์ที่มีมาอย่างยาวนานแล้ว แบรนด์ใหญ่ที่มีธุรกิจหลักอื่นแต่แตกแบรนด์เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มผู้สูงอายุออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น Nestle กับโปรดักเนสท์เล่ เฮลท์ ไซเอนซ์ บูสท์ ออปติมัม อาหารสูตรครบถ้วนที่พัฒนาให้เหมาะสมกับโภชนาการผู้สูงอายุ , เครือ ซี.พี. กับแบรนด์ ซีพีแรม ผลิตภัณฑ์อาหารที่ “เคี้ยวง่าย ได้คุณค่า อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) กับโป “อะมิโนมอฟ ฟิต แคร์” ซึ่งมีกรดอะมิโนและคอลลาเจน เพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและข้อต่อของผู้สูงอายุ
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะยิ่งทำให้แบรนด์ขนาดกลางและขนาดเล็กแข่งขันยาก เพราะเป็นธุรกิจที่ต้นทุนสูง และตั้งราคาได้ไม่สูงมากนัก จะเสียเปรียบบริษัทใหญ่เรื่องของกำลังการผลิต และการประหยัดต่อขนาดนั่นเอง
ตลาดที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุไทย ซัพพรายน้อย ดีมานด์สูง ที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอกับการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ
ในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุนั้น หลักๆจะเป็น กลุ่มเนอร์สซิ่งโฮม และบ้านพักคนชรา ซึ่งมูลค่าตลาดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุปี 2567 อยู่ที่ราวๆ 3 พันล้านบาท (TTB Analytics)
โดยที่เนอร์สซิ่งโฮม (Nursing Home) เป็นที่พักให้ผู้สูงอายุมาพักฟื้นดูแลร่างกายในระยะสั้น ๆ เช่น ผู้สูงอายุที่มีอาการบาดเจ็บจากการหกล้ม หรือผู้ที่ต้องการทำกายภาพบำบัด มเน้นการดูแลทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง แต่บ้านพักคนชรา (Residence for the Elderly) สามารถซื้อขาดเพื่ออยู่ระยะยาวได้ ให้การดูแลช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน เช่น การทานอาหาร การอาบน้ำ หรือการเคลื่อนไหว ไม่ได้เน้นการดูแลทางการแพทย์เท่าเนอร์สซิ่งโฮม โดยข้อมูลล่าสุดพบว่า ส่วนใหญ่ผู้ลงทุนทำธุรกิจเนอร์สซิ่งโฮม จะเป็นผู้ลงทุนขนาดกลางหรือเล็ก ที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก
ขณะที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ได้ทำการสำรวจและรายงานสถานการณ์ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในปี 2567 พบว่า ตลาดที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทยยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ โดยมีโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเพียง 916 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็น Nursing Home จำนวน 832 โครงการ และ Residence จำนวน 84 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
โดยอัตราการเข้าพักใน Nursing Home เฉลี่ยอยู่ที่ 70.91% โดยที่พักจะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวนหน่วยสูงที่สุด แต่มีอัตราการเข้าพักเพียง 69.21% ขณะที่จังหวัดชลบุรี มีอัตราการเข้าพักสูงถึง 76.95% จังหวัดนครราชสีมา 73.71% และเชียงใหม่ 73.07%
ในส่วนของ เนิร์สซิ่งโฮมมีการเติบโตอย่างมากในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 25.1% ในช่วงปี 2561–2566 และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 30.5% ในระหว่างปี 2567 – 2571 ด้วยขนาดธุรกิจไม่น้อยกว่า 9,500 ล้านบาทในปี 2571 และในช่วงปี 2572 – 2576 คาดว่าจะมีอัตราการขายตัวเฉลี่ยปีละ 15% และมูลค่าไม่น้อยกว่า 19,200 ล้านบาทในปี 2576
โดยผู้เล่นในตลาดที่มีรายได้โดดเด่นมี 4 เจ้าดังนี้
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันก็จะเริ่มรุนแรงขึ้น หลังจากที่ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนต่างหันมาขยายสู่ตลาด Aged Society มากขึ้น ตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น โรงพยาบาลวิมุต ในเครือ พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ก็ได้มีโครงการใหญ่ที่เปิดตัวไม่นานอย่าง SENERA ViMUT HEALTH SERVICE เป็นศูนย์สุขภาพผู้สูงวัยที่พร้อมดูแลทุกปัญหาด้านสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ที่น่าสนใจจากการร่วมมือกันของ บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) และ บริษัท วิมุต เวลเนส เซอร์วิส จำกัด ซึ่งความพร้อมคือทีมแพทย์ของวิมุต และความเชี่ยวชาญด้านอสังหาฯ ของ เจเอเอส แอสเซ็ท ที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เชี่ยวชาญในการสร้างคอมมูนิตี้มอลล์
อีกกลุ่มที่น่าสนใจ คือ บริษัทอสังหาฯ ต่างออกแบบบ้านและคอนโดมิเนียมให้เหมาะกับผู้สูงอายุและครอบครัวมากขึ้น เราเรียกกลุ่มนี้ว่า “Retirement Community” หรือ “ชุมชนผู้สูงอายุ” เป็นกลุ่มที่พักอาศัยที่ออกแบบฟังก์ชันมาเพื่อรองรับการใช้งานของผู้สูงวัยโดยเฉพาะ อย่างเช่น บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ก็มีโครงการบ้านที่มีฟังก์ชั่นอย่างเช่นทางลาดสำหรับรถเข็น พื้นรองรับการกระแทก หรือล้ม ปุ่มขอความช่วยเหลือในห้องน้ำ
แสนสิริ ก็เป็นอีกแบรนด์ที่เน้นทำตลาดที่อยู่อาศัยให้ผู้สูงอายุ จุดขายคือการแบ่งสัดส่วนบ้านค่อนข้างดี ทุกแบบบ้านจะมีห้องนอนชั้นล่าง ตอบโจทย์ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ ห้องน้ำ แยกโซนแห้ง – เปียก ชัดเจน มีราวจับที่ใช้ในการพยุงตัว ชั้นวางของต่างๆ อยู่ในระดับที่เอื้อมถึง รวมถึงมีช่องให้รถเข็นสอดเข้าไปใต้อ่างล้างหน้าได้ หรือแม้กระทั่งพื้นที่ปูด้วยกระเบื้องยางพื้น SPC การปูพื้นรองรับแรงกระแทก วัสดุพื้นแบบซัพพอร์ต ช่วยลดแรงกระแทก มีผิวสัมผัสยืดหยุ่น ไม่มัน – วาว เพื่อกันลื่น
สาเหตุที่ธุรกิจนี้มีคนให้ความสนใจเข้าลงทุน และขยายธุรกิจจำนวนมาก นอกจากแนวโน้มการเติบโตดีแล้ว ความสามารถในการทำกำไรสุทธิยังสูงกว่ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้สูงอายุอีกด้วย โดยเจ้าใหญ่ในตลาดอย่างแบรนด์ วีโว่ เบเน่ สัญชาติสวิซ ทำอัตรากำไรสุทธิได้มากถึง 65% เท่ากับว่ารายได้ 100 บาท กลายเป็นกำไรสุทธิได้มากถึง 65 บาทเลยทีเดียว แต่หากไม่ควบคุมค่าใช้จ่ายให้ดีก็อาจจำให้มีผลขาดทุนสุทธิได้เหมือนกัน เพราะธุรกิจในกลุ่มนี้ต้องอาศัยแพทย์ และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญที่ต้องดูแล เกือบตลอด 24 ชั่วโมง ค่าจ้างแรงงานจึงสูงตามไปด้วย
โรงพยาบาลเฉพาะทางโรคผู้สูงอายุในไทยยังน้อย ความสามารถทำกำไรสูงกว่าธุรกิจอื่น!
ธุรกิจการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจริงๆแล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีหลากหลายประเภท ทั้งการรักษาทางร่างกาย รวมไปถึงบำบัดทางจิตใจ สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุจะอยู่ที่ราว 37% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งสูงกว่ากลุ่มประชากรในวัยอื่นถึง 3%
ในช่วงที่ผ่านมา รพ.รายใหญ่ต่างๆ ได้แยกการรักษาโรคสำหรับผู้สูงอายุออกมาจำนวนมาก เช่น ศูนย์โรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี , ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนครธน , ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
จะเห็นว่าตลาดผู้สูงอายุโดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่อาศัย และการรักษาโรคเฉพาะทางยังเป็นตลาดที่มีการแข่งขันไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้สูงอายุ แต่หากจะเข้าลงทุนในธุรกิจนี้ต้องคำนึงถึงประเด็นหลักนั่นคือ ผู้สูงอายุในไทยมีรายได้ต่ำอาจจะไม่สามารถตั้งราคาที่สูงมากนัก ต้องปรับแผนให้เหมาะสมกับรายได้ของคนกลุ่มนี้ด้วย
นอกจากนี้แล้วยังต้องเน้นกลยุทธ์การตลาดไปที่ลูกหลาน ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจในการซื้อสินค้าและบริการแทนผู้สูงอายุส่วนใหญ่ จึงต้องเน้นคุณภาพที่ดี และการให้บริการที่มีมาตรฐานน่าเชื่อถือ รวมถึงความคุ้มค่าด้านราคาก็เป็นอีกปัจจัยหลักเช่นกัน
ที่มา : Corpus X , TTB Analytics , KASIKORN Research
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
#ส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจผู้สูงอายุ