WorkOlder

สรุปข้อมูลแรงงานผู้สูงอายุของไทย ภาคบริการและการค้าให้ค่าจ้างสูงสุด

ปัญหาหลังจากที่ไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) มีหลายด้านอย่างที่ ‘Business+’ ได้นำเสนอไปแล้ว ทั้งปัญหาด้านความพอเพียงของรายได้ผู้สูงอายุหลังเกษียณที่ใช้ในการดำรงชีวิต ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระบบเศรษฐกิจ และปัญหาด้านภาระรายจ่ายด้านสวัสดิการชราภาพของภาครัฐที่สูงขึ้น ดังนั้น การจ้างงานผู้สูงอายุ จึงเป็นหนึ่งในมาตราการที่หลายประเทศได้ผลักดัน โดยเฉพาะประเทศที่กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Hyper-Aged Society)

โดยเราพบข้อมูลจากงานวิจัยหลายแห่งจากยุโรปและสหรัฐฯ ที่ได้วิเคราะห์ว่าแนวโน้มในอนาคตจะมีสัดส่วนของแรงงานที่ไม่เกษียณอายุ (Unretirement) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันคนวัยเกษียณ จำนวนมากต้องการหางานทำอีกครั้งด้วยปัจจัยที่หลากหลาย และหนึ่งในนั้นคือ การเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมและการกำหนดความหมายใหม่ ๆ ของการเกษียณอายุที่ไม่สามารถวัดได้ที่อายุอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ตลาดแรงงานผู้สูงอายุในประเทศไทยแล้ว ถึงแม้รัฐบาลไทยจะมีมาตราการต่างๆ ในการจ้างงานผู้สูงอายุ แต่เรากลับพบว่าสัดส่วนผู้สูงอายุที่ได้เข้าทำงานในแต่ละภูมิภาคกลับต่ำมาก โดยเฉพาะในภาคใต้ ซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงอายุเข้าทำงานเพียง 1.55% พูดให้เห็นภาพง่ายๆ คือ จากผู้สูงอายุในภาคใต้ทั้งหมด 100 คน จะมีผู้สูงอายุที่มีงานทำเพียงแค่ 1.55 คน เท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้น จะไม่ได้ทำงาน ขณะที่ภาคเหนือเป็นภาคที่มีผู้สูงอายุทำงานมากที่สุดใน 4 ภาค ด้วยสัดส่วนการทำงาน 4.09%

ทั้งนี้หากเรามองในแง่ของค่าจ้างเข้ามาประกอบด้วยแล้ว พบข้อมูลว่า ภาคเหนือและภาคใต้มีอัตราค่าตอบแทนที่ต่ำมาก โดยค่าตอบแทนของ ภาคเหนืออยู่ที่ 7,704 บาทต่อเดือน และภาคใต้อยู่ที่ 7,375 บาทต่อเดือนเท่านั้น

และเมื่อมองสัดส่วนแยกเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เราพบว่า ส่วนผู้สูงอายุจะทำงานอยู่ในภาคการเกษตร ซึ่งมีผลตอบแทนต่ำมาก โดยการที่ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุทำงานกระจุกตัวอยู่ในภาคการเกษตรซึ่งมีค่าตอบแทนต่ำมากนั้น ส่วนนึงอาจเป็นข้อจำกัด ด้านระดับการศึกษา เพราะในสายอาชีพที่มีค่าตอบแทนสูงมักมีการกำหนดวุฒิการศึกษา จากข้อมูลในปี พ.ศ.2564 พบว่ามีผู้สูงอายุจำนวน 76.30% ไม่มีการศึกษาหรือมีระดับการศึกษาต่ำกว่าประถม และมีผู้สูงอายุเพียง 4.5%เท่านั้นที่มีระดับการศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นไป จึงเป็นข้อจำกัดในการได้รับโอกาสเข้าทำงานในสายอาชีพที่มีค่าตอบแทนสูงนั่นเอง

โด ‘Business+’ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลแรงงานของผู้สูงอายุในไทยในปี 2564 เอาไว้ทั้งหมดดังนี้

WorkOlder

มาถึงตรงนี้แล้วหลายคนอาจมีคำถามเกี่ยวกับมาตราการส่งเสริมการมีงานทำและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ปี พ.ศ.2562 ที่กระทรวงแรงงาน กำหนดอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุทั่วประเทศไว้ 45 บาทต่อชั่วโมง โดยให้ผู้สูงอายุทำงานได้ไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 6 วันต่อสัปดาห์

ดังนั้นถ้าผู้สูงอายุทำงาน 22 วันต่อเดือน ค่าตอบแทนขั้นต่ำควรเป็น 7,560.00 บาท/เดือน แต่ทำไมค่าแรงเฉลี่ยรายเดือนในภาคการเกษตรทำไมมีค่าเพียง  4,962 บาท/เดือน ซึ่งต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กระทรวงแรงงานกำหนด นั่นเป็นเพราะว่ามาตราการคุ้มครองสวัสดิการแรงงานต่างๆนั้นคุ้มครองเฉพาะแรงงานในระบบ แต่แรงงานในภาคการเกษตรโดยมากนั้นเป็นแรงงานนอกระบบ จึงไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองดังกล่าว โดยจำนวนแรงงานผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบมีจำนวนสูงมากถึง87.2% ของจำนวนแรงงานผู้สูงอายุทั้งหมด ดังนั้นการดึงแรงงานผู้สูงอายุให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก

ซึ่งหลักๆ แล้วปัญกาการนำผู้สูงอายุเข้ามาทำงานนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

  1. ปัญหาจากการทำงาน ผู้สูงอายุที่ทำงานจำนวน 9.52 แสนคน ประสบปัญหาจากการทำงาน โดย 3 ลำดับแรกของปัญหาที่ผ้สูงอายุเผชิญ คือ เรื่องค่าตอบแทน 50.3% งานขาดความต่อเนื่อง 19.6% และงานหนัก 18.2%
  2. ปัญหาจากความไม่ปลอดภัย ผู้สูงอายุที่ทำงานจำนวน 5.15 แสนคน ประสบปัญหาจากความไม่ปลอดภัย โดย 3 ลำดับแรกของปัญหาที่ผ้สูงอายุเผชิญ คือ การได้รับสารเคมีเป็นพิษ 63.9% เครื่องมือ และเครื่องจักรเป็นอันตราย 15.5% และอันตรายต่อระบบหู ระบบตา 5.1%
  3. ปัญหาจากสภาพแวดล้อม ผู้สูงอายุที่ทำงานจำนวน 6.97 แสนคน ประสบปัญหาจากสภาพแวดล้อม โดย 3 ลำดับแรกของปัญหาที่ผ้สูงอายุเผชิญ คือ อิริยาบทในการทำงาน 50.3% ปัญหาฝุ่นละออง ควัน และกลิ่น 20.8% และแสงสว่างไม่เพียงพอ 13.4%

ดังนั้นหากเราพิจารณาจากปัญหาทั้ง 3 ด้านแล้วจะเห็นได้ว่านอกหนือจากปัญหาจากการทำงานที่ค่าตอบแทนต่ำและงานหนักแล้ว ยังมีปัญหาด้านความปลอดภัยจากการได้รับสารเคมีเป็นพิษ เครื่องมือเครื่องจักรที่ไม่ปลอดภัย และปัญหาจากสภาพแวดล้อม รวมไปถึงเรื่องอริยาบทในการทำงาน ฝุ่นละอองและแสงสว่าง ซึ่งจากปัญหาเหล่านี้จะเห็นได้ว่า นอกจากมาตราการต่างๆ ที่สนับสนุนให้ภาคเอกชนจ้างงานผู้สูงอายุและการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ภาครัฐยังควรมีการสนับสนุนและให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมเป็นพิเศษ สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีลักษณะงานเบา ไม่ต้องใช้กำลังมาก หรืองานที่ไม่ต้องมีการก้มๆเงยๆบ่อย รวมถึงลักษณะงานที่ไม่ต้องใช้ระบบประสาทตาและหูมากจนเกินไป ให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุได้ทำงานที่เหมาะสมกับตนเอง

สำหรับผู้ที่สนใจเนื้อหาด้านสังคมผู้สูงอายุในไทย และทั่วโลกสามารถติดตาม Content ที่เกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุทุกแง่มุมได้ที่ https://www.thebusinessplus.com/hyper_aged/?version=Bplus1

ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ ,BOT

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business #AgedSociety #AgingSociety #HyperAged #HyperAgedxBusinessplus